มะพร้าวน้ำ (ไม่) หอม…?
มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นตระกูลเดียวกับปาล์มส่วนประกอบของมะพร้าวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ ส่วนกะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ เช่น โคมไฟกะลามะพร้าว ทัพพีกะลามะพร้าว ของเล่น งานฝีมือต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้คนโบราณยังเชื่อว่ามะพร้าวเป็นไม้มงคลยังอีกด้วย
มะพร้าวน้ำหอม (Cocos nucifera) มีเนื้อมะพร้าวมีรสชาติหวานกลมกล่อมและมีกลิ่นหอมชื่นใจ ช่วยดับกระหายคลายร้อนได้เป็นอย่างดี และเป็นพืชปลอดสารพิษ เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีน้อยมากเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น มะพร้าวถูกนำมาแปรรูปในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและมีแนวโน้มการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น
มะพร้าวน้ำหอมเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ที่มีฝนตกกระจายสม่ำเสมอ มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งปี มีลมพัดอ่อนแต่สม่ำเสมอ ดินไม่เปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป โดยปกติมะพร้าวน้ำหอมจะให้กลิ่นหอมออกมาซึ่งสามารถพิสูจน์ความหอมได้โดยการสูดดมกลิ่นจากปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว กะลาของผลอ่อน น้ำและเนื้อมะพร้าว
ในปัจจุบันปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมส่วนใหญ่พบบ่อยคือ เมื่อเกษตรกรเก็บผลผลิตไปสักระยะหนึ่ง ความหอมของมะพร้าวจะค่อยๆหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จากสาเหตุนี้
นายกิตติพงศ์ ตรีตรุยานนท์ และนายวัลลภ โพธิ์สังข์ จากศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้า-และพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. และนายจุลพันธ์ เพ็ชรพิรุณ ศูนย์วิจัยพืช-สวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุที่ความหอมหายไปของมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ทำให้ทราบว่า ละอองเกสรตัวผู้มีอิทธิพลต่อความหอมของเนื้อมะพร้าว มะพร้าวน้ำหอมที่ผสมกับมะพร้าวใหญ่ หรือมะพร้าวน้ำหวาน ผลที่ได้จะไม่มีความหอม แต่ถ้าผสมตัวเองหรือผสมกับมะพร้าวน้ำหอมด้วยกัน ผลมะพร้าวที่ได้จะมีความหอมไม่เปลี่ยนแปลง และจากการวิจัยดังกล่าวยังทำให้ทราบว่าละอองเกสรตัวผู้ยังมีผลต่อความหวานของมะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย
ท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ นายกิตติพงศ์ ตรีตรุยานนท์ นายวัลลภ โพธิ์สังข์ ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-7427, 0-25796959
เรียบเรียงโดย กาญจนา อนุพันธุ์