รายการวิทยุเรื่อง “ไก่ดำเคยู-ภูพาน”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=4eKJ8oqxxZ8[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 2 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง  ไก่ดำเคยู-ภูพาน

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

 

          สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

วันนี้กระผมมีเรื่องราวผลงานวิจัยของอาจารย์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ไปไกลกันหน่อยนะครับ เพราะเป็นวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ครับคุณผู้ฟัง และเรื่องที่น่าสนที่กระผมนำมาเผยแพร่ความรู้แก่คุณผู้ฟัง รวมทั้งเกษตรกรที่กำลังมองหาสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างรายได้ ณ ตอนนี้ ไก่ดำเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจเลยที่เดียวนะครับ เรามาทำความรู้จักกับไก่ดำกันก่อนเลยนะครับ

ไก่เนื้อดำ หรือไก่กระดูกดำ (Black Bone Chicken) หรือนิยมเรียกกันสั้นๆว่า “ไก่ดำ”เป็นสัตว์ปีกที่นิยมบริโภคในกลุ่มชาวจีนมานานจนถึงปัจจุบัน เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อนำมาประกอบอาหารแบบโบราณก็จะช่วยบำรุงสุขภาพและเป็นยารักษาโรคต่างๆได้ ที่สำคัญคุณผู้ฟังรู้ไหมครับว่าทางการตลาดมีความต้องการไก่ดำค่อนข้างสูงมาก และมีราคาที่สูงด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีเกษตรกรหันมาเลี้ยงไก่ดำเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคเหนือ และทางภาคอิสาน เช่น จังหวัดสกลนคร มีการส่งเสริมให้เลี้ยงไก่ดำ เพื่อการบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม แต่จากไก่ดำในพื้นที่มีลักษณะที่หลากหลาย ไม่เหมาะกับการเลี้ยงในเชิงการค้า ดังนั้นคณะทรัพยากรธรรมชาติ และอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้พัฒนาสายพันธุ์ไก่ดำที่เหมาะสมกับการผลิตในเชิงพาณิชย์ จนได้เป็น “ไก่ดำเคยู-ภูพาน” เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อสภาพอากาศ ตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นทางเลือกใหม่แก่เกษตรกรครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

           คุณผู้ฟังครับทางอาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นผู้พัฒนาไก่ดำเคยู-ภูพาน ได้ให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันหลายหน่วยงาน ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ดำเคยู-ภูพาน เพื่อบริโภคในภาคครัวเรือนและแบ่งจำหน่ายสร้างรายได้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แต่หลังจากมีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ออกไป ไก่ดำเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ทราบได้ว่า ความต้องการของไก่ดำทั้งการเลี้ยง และการบริโภคสูงมาก แต่ด้วยกำลังการผลิตที่น้อยมากในขณะนี้ เมื่อเทียบกับความต้องการแล้ว เพราะประเทศไทยเรานี่มีคนเชื้อสายจีนอยู่มากครับ และความเชื่อในเรื่องของการเซ่นไหว้หรือบูชาของดำ อีกทั้งยังมีเพื่อนบ้านที่มีความต้องการบริโภคในปริมาณที่สูงแต่ในขณะที่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการเลี้ยงกันอย่างจริงจัง อาจเนื่องด้วยพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่นิยมการบริโภคอาหารที่มีสีสันและบริโภคกันตามบรรพบุรุษ ไก่ดำจึงกลายเป็นอาหารที่ไม่ได้รับความนิยมของการบริโภคในกลุ่มคนไทยเท่าไรนัก จึงทำให้มีไก่ดำออกสู่ท้องตลาดในปริมาณที่น้อย ราคาเลยค่อนข้างสูง แต่เมื่อพิจารณาความต้องการบริโภคไก่ดำ จึงพบว่าต้องการเนื้อน่องและเนื้อหน้าอกที่ใหญ่ ซึ่งอันนี้เป็นส่วนต่างจากไก่ดำที่เลี้ยงกันทั่วไป ซึ่งยังไม่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ไก่ดำในส่วนนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาไก่ดำ “เคยู-ภูพาน” เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดเนื้อไก่ในบ้านเราครับคุณผู้ฟัง

โดยการศึกษาหาข้อมูลว่า ไก่ดำสายพันธุ์ใดมีลักษณะตรงกับความต้องการของตลาดบ้าง จนมาพบกับไก่ดำสายพันธุ์มองโกเลีย จึงได้รวบรวมมาจากแหล่งต่างๆที่มีการเลี้ยงในประเทศไทย เพื่อป้องกันการเกิดเลือดชิด นั่นคือ การผสมเลือดชิด เขาเรียกว่าอินบรีด (in breed) ก็คือ พ่อผสมกับลูก ลูกผสมกับแม่ ผสมกันในครอบครัวเดียวกัน มักจะทำเพื่อรักษาสายพันธุ์ แต่จะเกิดปัญหาความบกพร่องเกิดขึ้น เช่น โง่ กระดูกผิดรูป อ่อนแอต่อโรค ส่วนใหญ่มักเจอในรุ่นที่ 3 เป็นต้นไปครับ จากนั้นก็นั้นมาคัดเลือกสร้างฝูงต้นพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์มองโกเลียมีจุดเด่น นั้นก็คือ โตเร็ว และจะมีโครงสร้างที่ใหญ่ กว่าไก่ดำทั่วไปเหมาะกับการพัฒนาเพื่อรองรับตลาดเนื้อต่อไปในอนาคตครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

          กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับไก่ดำเคยู-ภูพาน เป็นไก่ดำทีมีขนสีขาว ก็น่าแปลกใจเหมือนกันนะครับว่าอย่างอื่นดำหมดยกเว้นตรงขน ซึ่งต่างจากที่หลายๆคนเข้าใจว่าไก่ดำขนก็ต้องมีสีดำ แต่ลักษณะของไก่ดำจริงๆเขาจะเน้นกันที่ หนัง เนื้อ และกระดูก จะต้องดำครับ ส่วนขนไม่จำเป็นต้องมีสีดำก็ได้ และยังมีไก่ดำอีกหลายสายพันธุ์ที่มีขนสีอื่น ที่สำคัญการคัดเลือกให้ได้ขนสีดำทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ไก่ที่มีขนสีดำสนิท นอกจากนี้ไก่ดำขนสีขาวยังทำตลาดไก่สวยงามได้อีกด้วย และนี่ก็เป็นอีกนึงจุดขายของไก่ดำเคยู-ภูพานนั่นเองครับ

การดูแลจัดการเลี้ยงดูไก่ดำเคยู-ภูพาน ได้มีการนำไปทดสอบในฟาร์มของเกษตรกรที่เลี้ยงแบบปล่อยหลังและเลี้ยงรวมกับสายพันธุ์อื่น พบว่า การทนต่อสิ่งแวดล้อม และเปอร์เซ็นต์ต่อการสูญเสียในสภาพการเลี้ยงดังกล่าวไม่ได้แตกต่างกันเลยครับคุณผู้ฟัง แต่มีจุดเด่นที่เจริญเติบโตดีกว่า เราจึงมั่นใจได้ว่า เลี้ยงง่าย เหมือนกับไก่บ้านทั่วไป พ่อพันธุ์ไก่ดำเคยู-ภูพาน เริ่มใช้ผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 6-8 เดือน ขณะที่แม่พันธุ์จะให้ไข่ที่อายุ 6-8 เดือน เช่นกันครับ หากเลี้ยงแบบคุมฝูงปล่อยให้พ่อพันธุ์คุมฝูงใช้สัดส่วน ถ้าฝูงใหญ่อาจใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 7 ตัวส่วนฝูงเล็กอาจจะใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 3-5 ตัว โดยที่แม่พันธุ์จะใช้เวลาพักไข่อยู่ที่ประมาณ 21 วัน และเลี้ยงลูกประมาณ 1 เดือน จึงจะกลับมาให้ไข่ใหม่ ส่วนในการเลี้ยงขุนเพื่อป้อนตลาดเนื้อใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ก็จะได้น้ำหนักไก่อยู่ที่ 1.2 – 1.5 กิโลกรัม ตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงน้อยกว่าไก่ดำทั่วไปที่ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4-5 เดือน ราคาจำหน่ายไก่ดำขุนในท้องตลาดปัจจุบัน น้ำหนักมีชีวิตกิโลกรัมละ150 บาทและไก่ดำชำแหละราคากิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนต้นทุนการผลิตจนถึงจับขายอยู่ที่ตัวละ 80 บาท ปัจจุบันไก่ดำเคยู – ภูพาน เป็นที่รู้จักในวงการผู้เลี้ยงไก่ดำพอสมควร เนื่องจากมีลักษณะเด่นหลายประการที่แตกต่างจากไก่ดำอื่นๆ จึงมีความต้องการนำไปเลี้ยงมากพอสมควรเลยทีเดียวครับคุณผู้ฟัง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงไก่พันธุ์และไก่สวยงาม ในขณะที่ผู้เลี้ยงไก่ป้อนตลาดเนื้อก็มีความต้องการเช่นเดียวกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

          กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับ ในปัจจุบันการพัฒนาพันธุ์ไก่เคยู-ภูพาน อยู่ในรุ่น F2 ซึ่งตามทฤษฎีการปรับปรุงพันธุ์ต้องพัฒนาให้ถึงรุ่น F5 โดยคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เมื่อจบรุ่น F5 จะได้ไก่ดำที่มีจุดเด่น ด้านการเจริญเติบโตอย่างชัดเจน เลี้ยงง่าย เวลาระยะเวลาของการเลี้ยงสั้นลง ทนโรค ทนร้อน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ตัวเมียให้ไข่ดก เพื่อผลิตลูกไก่ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ทาง อาจารย์ภานุวัฒน์ กำลังพัฒนาไก่ดำเคยู-ภูพาน ขนสีดำ ตอบสนองต่อความต้องการผู้เลี้ยงไก่ดำที่ชอบขนสีดำอีกด้วย

การตลาดของการเลี้ยงไก่ดำในเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจารย์ภานุวัตน์ให้ข้อมูลกับทางเราด้านการเลี้ยงไก่ดำเชิงพาณิชย์ ว่า การเลี้ยงไก่ดำ ณ ปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เลี้ยงเพื่อขายพันธุ์ และเพื่อความสวยงาม อีกกลุ่มก็เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภค โดยกลุ่มที่เลี้ยงเพื่อขายพันธุ์หรือเลี้ยงสวยงาม จะใช้พื้นที่ไม่มากนัก ไม่เน้นปริมาณไก่ แต่เน้นการผลิตไก่ที่สวยงามและตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยลักษณะต้องตรงตามสายพันธุ์ทั้ง หน้าตา สีขน รูปร่าง ทำให้มูลค่าต่อตัวสูง โดยในตลาดสายพันธุ์แลไก่สวยงาม ตัวผู้ขายในราคาตัวละ 1,500-2,000 บาท ตัวเมียคาตัวละ 800-1200 หรือคู่ละ 2,000-3,000 บาท (คู่พ่อแม่พันธุ์นั้นเองครับ) ขณะที่กลุ่มเลี้ยงป้อนตลาดเนื้อ ต้องมีพื้นที่เลี้ยงพอสมควร ขึ้นอยู่กับจำนวนที่จะจัดส่งตลาดในแต่ละรอบ และถ้าเลี้ยงเป็นจำนวนมากอาจลงทุนสร้างโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศ เพื่อให้การผลิตที่ดีกว่าระบบปิด แต่ถ้าไม่มีเงินทุนมากพอในช่วงแรกๆ อาจจะเลี้ยงแบบระบบปิด และในการเลี้ยงแบบระบบขุนไม่จำเป็นต้องเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ผลิตลูกไก่เอง ซึ่งจะใช้ต้นทุนที่สูง และอาจจะดูแลไม่ทั่วถึงทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ ควรหาฟาร์มที่ผลิตลูกไก่ป้อนให้และเน้นการจัดการเลี้ยงขุนให้ดี เพื่อให้มีรายได้ตลอดเวลาครับ

-เพลงคั่นรายการ-

          คุณผู้ฟังครับ ในอนาคตอันใกล้นี้ตลาดไก่ดำยิ่งเปิดกว้าง มีความต้องการที่สูงขึ้น และหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ยิ่งทำให้ความต้องการบริโภคไก่ดำสูงยิ่งขึ้น ประกอบกับกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ไก่ดำก็ตอบสนองต่อความต้องการนี้ได้ครับ เนื่องจากไก่ดำนี้มีประโยชน์สูงกว่าไก่โดยทั่วไป คือ มีโปรตีน กรดอะมิโน และสารอาหารอื่นๆสูงกว่า มีคลอเลสเตอรอลต่ำ มีสายเมลานิน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ชะลอความแก่ ลดการเกิดฝ้า ลดปวดประจำเดือน อีกทั้งมีสารคาร์ซีน ที่มากกว่าไก่ทั่วไปอยู่ 2 เท่าเลยทีเดียวครับ ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชะลอความแก่ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น บรรเทาโรคเบาหวาน โลหิตจาง และอื่นๆ นอกจากนี้แล้วยังมีการนำไปทำเป็นซุปไก่สกัด รวมถึงสกัดสารสำคัญไปทำเครื่องยาอีกด้วย และปัจจุบันทางสาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้นำไก่ดำเคยู-ภูพาน นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ “ซุปไก่ดำตุ๋นสมุนไพรจีน” แบบผงสำเร็จรูปชงน้ำร้อนพร้อมดื่ม และแบบแคปซูล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พกพาสะดวก รับประทานง่าย และมีคุณค่าทางอาหารสูง

คุณผู้ฟังครับ การเลี้ยงไก่ดำหากทำในเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร อาจจะต้องใช้ต้นทุนที่สูง เพราะต้องทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เลี้ยงตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์จนถึงไก่ขุน รวมทั้งต้องทำโรงงชำแหละเอง ซึ่งเกษตรกรทั่วไปอาจทำได้ยาก แต่ก็สามารถใช้การรวมกลุ่มกัน แบ่งส่วนการผลิต มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ผลิตลูกไก่ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่ขุนผลิตไก่เนื้อป้อนตลาด ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

          หากคุณผู้ฟังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับ ไก่ดำเคยู-ภูพาน หรือผลิตภัณฑ์แปรรรูปจากไก่ดำ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ โทรศัพท์ 081-6710-7743 ได้ในวันและเวลาราชการครับ

          หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ……………………