รายการวิทยุเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลสกุลน้อยหน่า”
[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=u57gAatSYDc[/youtube]
บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557
เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลสกุลน้อยหน่า
บทวิทยุ โดย วิทวัส ยุทธโกศา
…………………………………………………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
คุณผู้ฟังครับ ผมว่าคุณผู้ฟังต้องเคยรับประทานไม้ผลไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง เพราะในประเทศไทยมีไม้ผลมากมาย และมีให้เลือกรับประทานทุกฤดู กระผมเชื่อว่าทุกคนต้องอยากรับประทานไม้ผลที่มีคุณภาพมีรสชาติอร่อย จึงมีการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลให้ดีกว่าพันธุ์เดิม แต่การปรับปรุงพันธุ์ต้องใช้ระยะเวลานานมากกว่าพืชไร่ จึงทำให้พันธุ์ไม้ผลที่เกิดมาใหม่มีจำนวนน้อย ไม้ผลมีบทบาทและความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีพื้นที่ปลูกโดยรวมในปี พ.ศ. 2546 มากถึง 5,719,563 ไร่ ซึ่งไม้ผลสกุลน้อยหน่าเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทยหรือ ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในส่วนต่างๆของโลก โดยเฉพาะน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมซึ่งสามารถปรับตัวได้ดีในเขตร้อน พื้นที่ปลูกน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมของประเทศไทยรวมปี พ.ศ. 2546เท่ากับ 232,579 ไร่ กระจายปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศและแหล่งปลูกที่สำคัญในปัจจุบันคือ จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกมากที่สุดรวมทั้งสิ้น 123,242 ไร่ ปลูกน้อยหน่าพันธุ์หนังและพันธุ์ฝ้ายมากที่สุด ส่วนน้อยหน่าลูกผสมปลูกพันธุ์เพชรปากช่อง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรให้ความสนใจและปลูกกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตทำรายได้สูงให้แก่เกษตรกร โดยปลูกกันมากในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกรวมในปี พ.ศ. 2546 จำนวน 62,987 ไร่ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออกประเทศใกล้เคียงบ้างเล็กน้อยเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์และฮ่องกง เป็นต้น
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ น้อยหน่า เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี บริโภคทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ผลสุกใช้รับประทานโดยตรงหรือ ทำน้ำกะทิ คั้นน้ำ ทำไอศกรีม คนไทยนิยมรับประทานผลสุกเพราะมีรสหอมหวานชวนรับประทาน ผลดิบและเมล็ดมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคและแมลง เมล็ดเอามาสกัดเอาน้ำมันไปทำสบู่ กากเมล็ดที่เหลือใช้ทำปุ๋ย สารสกัดจากเมล็ดสามารถฆ่าไรขาว เพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อนได้ ใบใช้โขลกพอกตามตัว แก้ฟกซ้ำดำเขียวหรือทาแก้โรคพื้นหนังได้เช่น กลากเกลื้อน เปลือกของต้นใช้ต้มรับประทานแก้โรคลำไส้อักเสบ รากใช้เป็นยาระบาด เปลือกของผลใช้ฝนกับเหล้าแก้พิษงูกัด มีคุณค่าทางอาหารสูงอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน น้ำตาล และแร่ธาตุหลายชนิด เห็นมั๊ยครับว่าคุณประโยชน์ของไม้ผลชนิดนี้มีมากมายเหลือเกิน กระผมว่าน้อยหน่านี่แหละเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
คุณผู้ฟังครับ เรามารู้จักน้อยหน่าอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ น้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า เป็นลูกผสมผสมระหว่างน้อยหน่ากับเชริมัวย่า อะติมัวย่าซึ่งเป็นน้อยหน่าผสมเกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ ลักษณะโดยทั่วไป ลำต้นและใบใหญ่กว่าน้อยหน่าที่นิยมปลูกกัน ต้นมีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าเชริมัวย่าและเกือบเท่าน้อยหน่า บางพันธุ์ปลูกได้ผลดีในบริเวณที่ปลูกน้อยหน่าแต่บางพันธุ์ต้องการบริเวณที่มีอากาศเย็นและสูงจากระดับน้ำทะเลมากๆจึงจะออกดอกและติดผลได้
จากการที่น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่องจำนวนพื้นที่ปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัญหาที่พบจากการทำสวนน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม คือปัญหาด้านการผสมการจัดการสวนที่ด้อยประสิทธิภาพ ขาดการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะการเลือกใช้พันธุ์ปลูกที่ไม่ผ่านการคัดเลือกหรือปรับปรุงพันธุ์และวิธีขยายพันธุ์ไม่เหมาะสมทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีมาตรฐาน คุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของตลาดและ จึงควรทำการปรับปรุงพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีปริมาณผลผลิตและคุณภาพสูงตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
คุณผู้ฟังครับ การปรับปรุงพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าพันธุ์ลูกผสม ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 -2544 สามารถพัฒนาพันธุ์ลูกผสมขึ้นมาใหม่จำนวน 15 สายพันธุ์ มีพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงแน่ะนำแก่เกษตรกรปลูกเป็นการค้าและได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชทะเบียนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 3 พันธุ์ คือ พันธุ์เพชรปากช่อง พันธุ์เนื้อทองและพันธุ์ปากช่อง 46 ทั้ง 3 สายพันธุ์มีลักษณะที่ดีคือ มีผลขนาดใหญ่ เนื้อมากเมล็ดน้อย ซึ่งเป็นลักษณะที่ตลาดต้องการ แต่ก็ยังมีลักษณะบางประการที่ไม่ดีนักต้องได้รับการปรับปรุง และพัฒนาพันธุ์ให้ได้เพิ่มขึ้น เช่นพันธุ์เพชรปากช่อง มีผลบิดเบี้ยวและเปลือกบางง่ายต่อการทำลายของแมลงวันทอง พันธุ์เนื้อทองมีการติดผลค่อนข้างยากและมีเม็ดทรายอยู่ระหว่างเนื้อกับเปลือก พันธุ์ปากช่อง 46 มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาพันธุ์โดยการผสมข้ามพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ จากเชื้อพันธุ์ที่ได้รวบรวมไว้ในโครงการรวบรวมเชื้อพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมที่ดำเนินการอยู่ในสถานีวิจัยปากช่อง ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิตและคุณภาพสูง ตรงตามต้องความการของตลาดผู้บริโภค จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อยุทธศาสตร์เพิ่มศักยภาพในการแข็งขันของประเทศ เพิ่มการพัฒนาการผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพสูง ลดต้นทุนการผลิตและปลอดภัยจากสารเคมี
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ หัวหน้าโครงการในการวิจัย คุณ เรืองศักดิ์ กมขุนทด สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มีขั้นตอนในการวิจัยดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การคัดเลือกต้นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สำหรับการผสมพันธุ์เพื่อสร้างลูกผสมโดยใช้พันธุ์ดีที่ผ่านการประเมินเชื้อพันธุ์จากงานวิจัย การรวบรวมเชื้อพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ที่ผ่านมา ที่ปลูกในแปรงรวมพันธุ์ในสถานีวิจัยปากช่อง โดยศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ จำแนกลักษณะดีเด่นของแต่ละสายพันธุ์เพื่อทราบศักยภาพของแต่ละสายพันธุ์ แล้วคัดเลือกพันธุ์ดีจำนวน 7 สายพันธุ์ คือ น้อยหน่าหนัง 1 สายพันธุ์ น้อยหน่าฝ้าย 1 สายพันธุ์ และน้อยหน่าลูกผสม 5 สายพันธุ์
มาต่อขั้นตอนที่ 2 กันนะครับ การผสมข้ามพันธุ์ และการเพาะกล้าเมล็ดลูกผสม
2.1 การผสมข้ามพันธุ์ เพื่อสร้างสายพันธุ์ใหม่โดยใช้วิธีการผสมพันธุ์ แบบพบกันหมดสลับพ่อและแม่ เพื่อให้ได้เมล็ดลูกผสมอย่างน้อยคู่ผสมละ 200 เมล็ด โดยผสมเกสรอย่างน้อย 25 ดอก/ซ้ำจำนวน 4 ซ้ำ ศึกษาเปอร์เซ็นต์การติดผล ทำการตรวจนับเมื่ออายุ 1 เดือน หลังผสมเกสร โดยตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับให้ออกดอกเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 และเก็บเมล็ดในเดือน กันยายน พ.ศ. 2548 รวมระยะเวลา 6 เดือน
2.2 การเพาะกล้าเมล็ดลูกผสม เมื่อผลสุกเก็บเอาเมล็ดมาล้างน้ำเอาเนื้อออกคัดเลือกเฉพาะเมล็ดที่แก่สมบูรณ์จำนวน 100 เมล็ดต่อคู่ผสม นำมาเพาะในกระบะเพาะกล้าที่มีส่วนผสมของทรายและถ่านแกลบ อัตราส่วน 1:1 โดยเพาะเมล็ด 25 เมล็ด/ซ้ำ จำนวน 4 ซ้ำ ศึกษาเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด ทำการตรวจนับเมื่ออายุ 1 เดือนหลังเพาะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงมีนาคม 2549 รวมระยะเวลา 6 เดือนส่วนเมล็ดที่เหลือทำการเพาะเช่นเดียวกันเพื่อให้ได้จำนวนต้นมากขึ้น
วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์วิเคราะห์ความแตกต่างทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยด้วยวิธี กำหนดให้คู่ผสมเป็นทรีทเมนต์ละ 4 ซ้ำ
ขั้นตอนที่ 3 การปลูกทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ดี ต้นกล้าที่ได้ทำการคัดเลือกเฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงปลูกลงแปลงทดสอบพันธุ์เบื้องต้นในพื้นที่ 5 ไร่ ระยะปลูก 1×1 เมตร ระยะเวลาทดสอบในแปรงทดสอบพันธุ์ 2 ปี ครึ่ง ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ถึง กันยายน พ.ศ. 2551 เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะการเจริญเติบโตของลำต้นดี การติดผลดก ผลกลม ไม่บิดเบี้ยว ขนาดผลใหญ่ มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 250 กรัม/ผลขึ้นไป เนื้อมากร่วนไม่เหนียว เมล็ดน้อย เปลือกหนาไม่มีส่วนของเม็ดทรายอยู่ระหว่างเนื้อและเปลือก ผลไม่แตกเมื่อแก่หรือสุก อายุหลังเก็บเกี่ยวยาวนาน และมีความหวานมากกว่าองศาบริกซ์ แล้วทำการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามความต้องการมากที่สุดคู่ผสมละ 1 สายพันธุ์ บันทึกลักษณะประจำพันธุ์เบื้องต้น และลักษณะทางการเกษตรที่ดีของสายพันธุ์
ขั้นตอนที่ 4 การปลูกเปรียบเทียบพันธุ์กับพันธุ์มาตรฐาน นำสายพันธุ์คัดที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 42 สายพันธุ์ คู่ผสมละ 1 สายพันธุ์ มาขยายพันธุ์โดยวิธีการต่อกิ่งบนต้นต่อน้อยหน่าหนังเขียวเพาะเมล็ดอายุ 1 ปี ปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานหรือพันธุ์พ่อแม่ทั้ง 7 สายพันธุ์ และพันธุ์การค้าจากต่างประเทศอีก 1 สายพันธุ์ คือพันธุ์ African pride เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของลำต้น ผลผลิตและคุณภาพของผลรวมจำนวน 50 สายพันธุ์ ใช้ระยะการปลูก 4×4 เมตร 100 ตัน/ไร่ ในพื้นที่ 5 ไร่ ระยะเวลาทดสอบ 5 ปี แล้วคัดเลือกสายพันธุ์ดีอย่างน้อย 1 สายพันธุ์ สำหรับช่วงนี้พักสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
ฟังกันต่อนะครับ ช่วงนี้เรามาวางแผนทดสอบแบบสุ่มสมบูรณ์ วิเคราะห์ความแตกต่างทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยด้วยวิธีกำหนดให้คู่ผสมเป็นทรีทเมนต์ จำนวน 50 ทรีทเมนต์ๆละ 5 ซ้ำ โดยเก็บข้อมูลดังนี้นะครับท่านผู้ฟัง
– เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น เหนือพื้นดินไม่เกิน 15 เซนติเมตร ทุกๆ 12 เดือน หลังปลูก
– ขนาดของผลโดยการวัดความกว้างและความยาวของผลด้วย Vernier calipers
– จำนวนผลต่อต้น
– น้ำหนักต่อผล
– เปอร์เซ็นต์เนื้อโดยน้ำหนัก
– จำนวนเมล็ดต่อผล
– อายุการสุกหลักการเก็บเกี่ยว
– ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ โดยใช้ hand refractometer
– ปริมาณกรดวิเคราะห์ตามวิธีของHume
– ผลผลิตต่อต้นเป็นกิโลกรัม
ขั้นตอนที่ 5 การแนะนำพันธุ์และขึ้นทะเบียนพันธุ์
หลังจากปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานและพันธุ์พ่อกับพันธุ์แม่ ทำการคัดเลือกพันธุ์ดีเด่นโดยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและคุณภาพของผลสูงตามวัตถุประสงค์อย่างน้อย 1 สายพันธุ์จะได้รับการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช โดยทำการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมกับแนะนำพันธุ์แก่เกษตรกรสำหรับปลูกเป็นการค้า และตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในการประชุมวิชาการและวารสารภายในประเทศ
ผลและวิจารณ์
ผลการคัดเลือกสายพันธุ์ดีเพื่อเป็นตัวแทนของคู่ผสมๆละ 1 สายพันธุ์โดยใช้หลักในการคัดเลือกเบื้องต้นคือ มีผลอย่างน้อย 5 ผล น้ำหนักผลเฉลี่ยอย่างน้อย 250 กรัม ปริมาณเนื้อที่รับประทานได้มากกว่า 50% จำนวนเมล็ดไม่เกิน 50 เมล็ด ต่อผล และอายุการสุกหลังการเก็บเกี่ยวมากกว่า 2 วันขึ้นไป
สามารถคัดเลือกสายพันธุ์เป็นตัวแทนของคู่ผสมได้จำนวน 42 สายพันธุ์ โดยให้รหัสชั่วคราว เป็นตัวเลข 4 หลักแล้วตามด้วยชื่อคู่ผสมกำกับไว้ สำหรับช่วงนี้พักสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับมาฟังกันต่อนะครับ การคัดเลือกสายพันธุ์ดีที่มีการติดผลดก ขนาดผลใหญ่ เปอร์เซ็นต์เนื้อสูง จำนวนเมล็ดต่อผลน้อย และอายุการสุกหลังการเก็บเกี่ยวยาวนาน ได้คู่ผสมละ 1 พันธุ์ จำนวนทั้งหมด 42 พันธุ์ หลังจากนั้นนำกิ่งสายพันธุ์ดีที่คัดเลือกได้มาขยายพันธุ์ปลูก พันธุ์ละ 5 ต้น เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต ผลผลิตและคุณภาพของผล เปรียบเทียบกับพันธุ์ พ่อ-แม่ 7 สายพันธุ์ พันธุ์การค้าจากต่างประเทศ 1 พันธุ์ รวมทั้งหมด 50 สายพันธุ์ หลังจากวัดการเติบโตของลำต้นเมื่ออายุครบ 1 ปี พันธุ์ที่มีการเติบโตสูงที่สุดคือพันธุ์ 38-26 ปากช่อง 46x เพชรปากช่อง=1.60 ซม.รองลงมา คือพันธุ์09-34 B64xL59=1.48 ซม.ตามลำดับ และน้อยที่สุดคือพันธุ์ 38-38 L59xปากช่อง 46 และพันธุ์24-09 ฝ้ายเขียวxL59=1.12 ซม.เท่ากันและต้นอายุ 1 ปีสามารถออกดอกและติดผลได้ในบางสายพันธุ์ แต่มีจำนวนน้อยไม่สามารถศึกษาคุณภาพของผลได้ การปรับปรุงสายพันธุ์น้อยหน่ายังคงดำเนินต่อไป
สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้
หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ