รายการวิทยุ เรื่อง ประโยชน์ของถั่วไมยรา

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=DBRt27II_gs[/youtube]

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 7 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557

เรื่อง ประโยชน์ของถั่วไมยรา

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………

 

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
สวัสดีครับคุณผู้ฟังครับ พบกันอีกครั้งน่ะช่วงนี้อากาศค่อนข้างร้อน อย่างไรก็รักษาสุขภาพด้วยน่ะครับ วันนี้รายการของเราขอนำเสนอผลงานวิจัยดีๆ จากนักวิจัยจากมหาวิทลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้คัดเลือกมาเพื่อนำเสนอแก่คุณผู้ฟังครับ ในวันนี้รายการเปิดแฟ้มงานวิจัย มก. ขอหยิบยกเรื่อง ประโยชน์ของถั่วไมยรา มาถ่ายทอดให้คุณผู้ฟังรับฟังกันนะครับ   คุณผู้ฟังรู้จักถั่วไมยรามากน้อยแค่ไหนครับ ลองมาฟังกันดูนะครับ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าถั่วไมยราเป็นพืชตระกูลถั่วค้างปี จำพวกกระถิน กระถินณรงค์ และมะขามเทศ เป็นพืชพื้นเมืองที่ปลูกในเขตร้อน มีรายงานว่าพบพืชชนิดนี้ในประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2465 และไม่มีชื่อเรียกท้องถิ่นครับ ซึ่งผศ. จิรายุพิน จันทรประสงค์ จึงตั้งชื่อว่าไมยรา ณ ที่นี้คุณผู้ฟังก็ทราบที่มาที่ไปของถั่วไมยราแล้วนะครับ  ลักษณะของถั่วไมยรานั้นเป็นไม้ทรงพุ่ม มีใบ และดอกคล้ายกระถิน แต่มีขนาดเล็กกว่า เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ไม่ชอบขึ้นดินทราย ไม่ทนน้ำขัง และปลูกเพื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น โคนม ครับ  คุณผู้ฟังครับกระผมเชื่อว่าคงจะเคยดื่มนมโคพร้อมดื่มกัน และน้ำนมโคที่เราดื่มกันนี้ได้มาจากน้ำนมโคดิบจากการรีดน้ำนมของแม่โคนมครับ โดยน้ำนมดิบที่รีดได้นี้จะต้องเป็นน้ำนมที่รีดจากแม่โคหลังคลอดลูกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 วัน ลักษณะของน้ำนมต้องมีสีขาว หรือสีขาวนวล ปราศจากสิ่งแปลกปลอม คุณผู้ฟังครับ การที่แม่โคนมจะมีน้ำนมดิบที่เหมาะสมแก่การนำมาผลิตนมพร้อมดื่มนั้น จะต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกสุขลักษณะครับ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการอาหารที่ให้โคนมกิน อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่าโคนมเป็นสัตว์สี่กระเพาะที่เรียกว่าสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาหารที่ใช้เลี้ยงมี 2 ชนิดคืออาหารหยาบ เช่น หญ้า ถั่ว อาหารสัตว์ ฟางข้าว และอาหารข้น เช่น อาหารผสม อาหารทั้ง 2ชนิดมีความสำคัญเท่าๆ กันครับ และต้องสัมพันธ์กันเพื่อให้โคนมสามารถให้น้ำนมสูงสุดครับ มาถึงตรงนี้คุณผู้ฟังคงกำลังสงสัยใช่ไหมครับ ว่าทำไมกระผมพูดเรื่องอาหารหยาบที่โคนมกินและเกี่ยวข้องอย่างไรกับถั่วไมยรา  คือว่ากระผมกำลังจะนำคุณผู้ฟังรับฟังผลงานวิจัยเรื่อง การปลูกถั่วไมยราเพื่อปรับปรุงทุ่งหญ้าธรรมชาติแบบวิธีไม่ไถ่พรวนร่วมกับการใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนางสาวจิราพร เชื้อกูล ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน ครับ คุณผู้ฟังครับ แค่ชื่อเรื่องงานวิจัยชิ้นนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยแล้วใช่ไหมครับ  คุณผู้ฟังอย่าเพิ่งหนีไปไหน เดี๋ยวช่วงหน้ากระผมจะกลับมาครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังครับ การเลี้ยงโคนมมีมากขึ้นทุกปี และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศครับ อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นรายการว่า ตัวอย่างอาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงสัตว์คือ หญ้า ครับ แต่การทำแปลงหญ้ายังมีค่อนข้างน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการของอาหารโคนมต่อปี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีการปลูกแปลงหญ้าน้อย ส่วนใหญ่อาศัยหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ และเศษเหลือจากการปลูกพืชไว้เป็นแหล่งอาหารหยาบ คุณผู้ฟังทราบไหมครับ ว่าหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีคุณค่าทางอาหารต่อสัตว์ต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหญ้าพื้นเมือง แปลงทุ่งหญ้าเหล่านี้มีพื้นที่จำนวนมากกระจายอยู่ตามแหล่งเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยครับ ดังนั้นการเพิ่มคุณภาพอาหารหยาบให้แก่พืชอาหารสัตว์สามารถทำได้โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วร่วมด้วย

คุณผู้ฟังครับ ในบางพื้นที่นั้นไม่สามารถพรวนดินได้เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมครับ และระยะเวลาการปลูกสร้างแปลงหญ้า จนกระทั่งตัดนำไปใช้เป็นอาหารให้แก่สัตว์เลี้ยงใช้เวลานานครับ ในช่วงเวลานี้ เกษตรกรอาจขาดแคลนอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้ ดังนั้นจึงมีวิธีการปลูกหญ้าโดยไม่มีการไถ่พรวน เพื่อใช้ลดต้นทุนในการปลูก และใช้กับการปรับปรุงทุ่งหญ้าธรรมชาติ ไปจนถึงทุ่งหญ้าเก่าแก่ที่เสื่อมโทรมให้มีผลผลิตและคุณภาพดีขึ้นครับ

ยังไม่หมดเท่านี้นะครับ การปลูกหญ้าโดยไม่มีการไถพรวน จะช่วยอนุรักษ์ดินและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ความสำเร็จของการปลูกถั่วอาหารสัตว์แบบไม่ไถ่พรวนเพื่อเพิ่มคุณค่าแก่ทุ่งหญ้าธรรมชาติขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ คุณผู้ฟังคครับ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเกิดการแข่งขันกันระหว่างพืชที่ขึ้นอยู่ก่อน เราจะต้องลดการแข่งขันนั้นโดยมีหลายวิธีด้วยกันครับ เช่น การตัด การเผาแปลงหญ้า การไถ่พรวนปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ก็จะต้องมีหญ้าหลงเหลืออยู่บ้างเพื่อที่จะเป็นทุ่งหญ้าผสมได้ดี ภายหลังจากมีการเจริญเติบโตของต้นถั่ว

คุณผู้ฟังครับ นอกจากการแข่งขันของพืชที่ขึ้นอยู่ก่อนแล้วที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นถั่ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องรู้จักไว้คือ การแข่งขันระหว่างวัชพืชและพืชอาหารสัตว์ครับ  เวลาที่ปลูกพืช นอกจากพืชจะเจริญเติบโตแล้วก็จะมีวัชพืชร่วมด้วย ทั้งวัชพืชและพืชที่ปลูกจะแย่งอาหารกันครับ วัชพืชที่พบในแปลงถั่วอาหารสัตว์มีวัชพืชใบแคบ เช่น หญ้าคา หญ้าขจรจบ เป็นต้น และมีวัชพืชใบกว้าง เช่น ผักโขม ผักเบี้ย ผักยาง และผักปราบ ถ้าไม่มีการควบคุมวัชพืชเหล่านี้จะทำให้ผลผลิตลดลงมาก มีวิธีการที่จะลดการแข่งขันของวัชพืชกับพืชปลูกอยู่ครับ เช่น การตัดและลดจำนวนให้พืชที่ขึ้นอยู่ก่อนมีจำนวนเบาบางลง หรือการปล่อยให้สัตว์แทะเล็มก่อนการหว่านเมล็ด หรือการไถ่พรวนแบบธรรมดา และการใช้สารกำจัดวัชพืช

ปัจจุบันสารกำจัดวัชพืชมีบทบาทมากต่อการผลิตพืชไร่ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรครับ แต่สำหรับในพืชอาหารสัตว์นั้น การศึกษาเรื่องนี้ ยังมีข้อจำกัดอยู่ ในการเลือกใช้สารวัชพืชที่เหมาะสมจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย เนื่องจากการเบียดเบียนของวัชพืชได้ครับ แต่การใช้สารกำจัดวัชพืชนั้นต้องทำอย่างถูกวิธี เช่น เลือกใช้ให้ตรงตามชนิดที่ปลูก ใช้อัตราที่เหมาะสม ถ้าเป็นสารแบบที่ใช้หลังงอกควรฉีดพ่นในระยะที่วัชพืชอ่อนแอ แต่พืชปลูกมีความทนทาน และไม่มีสารพิษตกค้างเมื่อเก็บเกี่ยว

ทางด้านพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่นำมาปลูกโดยวิธีไม่ไถพรวนนั้น ต้องมีลักษณะปรับตัวได้กว้าง ขึ้นได้ง่าย และเสียค่าใช้จ่ายน้อยครับ แถมยังต้องมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมท้องถิ่นได้ดี ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ดี แข่งขันกับพืชที่มีอยู่แล้วได้ ถั่วไมยราเป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วนครับ จึงมีโอกาสช่วยเพิ่มคุณภาพอาหารสัตว์แก่การเลี้ยงสัตว์ได้ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

          ในช่วงนี้กระผมจะนำเสนอวิธีการปลูกถั่วไมยราให้คุณผู้ฟังรับฟังกันนะครับ

การปลูกถั่วไมยรานิยมปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งเมล็ดพันธุ์ไมยรามีจำหน่ายที่ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ และสถานีวิจัยอาหารสัตว์ทั่วประเทศครับ โดยเปิดให้จองเมล็ดระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม และรับเมล็ดพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปครับ…ช่วงเหมาะสมที่ควรปลูกคือ ช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม   การปลูกนั้นจะใช้เมล็ดจำนวน 2 กก./ไร่ สำหรับวิธีการปลูกจะใช้วิธีการหว่าน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีวัชพืชขึ้นมาก ควรใช้วิธีการโรยเป็นแถว เพื่อง่ายต่อการกำจัดวัชพืชครับ และควรมีระยะห่างระหว่างแถว 30 – 60 ซม. คุณผู้ฟังครับ ก่อนนำเมล็ดถั่วไมยราไปปลูกควรแช่น้ำร้อนนาน 5 นาที เพราะเมล็ดถั่วไมยราส่วนหนึ่งจะมีเมล็ดแข็ง เป็นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกให้สูงขึ้น แล้วนำมาผึ่งลมให้แห้งก่อนที่จะปลูก

เรื่องของการกำจัดวัชพืชนั้น ควรกำจัดหลังปลูก 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ถั่วสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ เพราะในระยะแรกนั้นถั่วไมยราจะเติบโตช้าครับ ในส่วนของโรคและแมลงที่พบนั้น จะเกิดในช่วงปลายฤดูฝน โดยจะพบเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาว ทำให้ยอดหงิก การติดฝักลดลง เมล็ดลีบ และพบเชื้อราดำเข้าทำลายมีผลให้ยอดเหี่ยว แต่ไม่เป็นปัญหาที่รุนแรงมักจะหายไปเองครับ

สำหรับการตัดถั่วครับ ควรจะตัดเมื่อต้นถั่วไมยราสูงจากพื้นดิน 35 ซม. โดยตัดครั้งแรกที่อายุ 60 วัน และต่อมาตัดทุก 30-45 วัน จะได้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2,200 – 3,150 กก./ไร่ มีโปรตีนประมาณ 19% จัดได้ว่าเป็นพืชอาหารสัตว์ที่ให้ผลผลิตและคุณค่าทางอาหารสูง

เรื่องของใสปุ๋ยนั้น ควรใส่ปุ๋ยผสมสูตร 12-24-12 อัตราประมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้นครับ และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ในปีต่อๆ ไปใส่ปุ๋ยเช่นเดียวกับปีแรกในช่วงฤดูฝน

คุณผู้ฟังครับ การงอกของเมล็ดถั่วที่ปลูกโดยวิธีไม่เตรียมดินนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของลมฟ้าอากาศภายหลังการหว่านเมล็ดครับ ภายใต้สภาพที่มีปริมาณน้ำฝนและความชื้นต่ำ ซากพืชที่ยังไม่เน่าเปื่อยผุพังจะช่วยปกคลุมผิวดิน และช่วยให้รากอ่อนของพืชชอนไชลงไปในดินได้ง่าย

แต่สภาพอากาศที่ร้อนและปริมาณน้ำฝนน้อย จะพบการงอกสูงในแปลงที่ได้รับการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชก่อนการหว่านเมล็ด หรือแปลงที่มีสิ่งปกคลุมมากกว่าแปลงที่ไม่มีสิ่งปกคลุมเลย

-เพลงคั่นรายการ-

สำหรับเรื่องการใช้สารกำจัดวัชพืชนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ คุณผู้ฟังครับ กระผมจะกล่าวถึงข้อดีของการใช้สารกำจัดวัชพืชก่อนนะครับ ข้อดีข้อแรกคือ สารกำจัดวัชพืชจะทำลายพืชที่ขึ้นอยู่ทั้งหมดให้ตายลงอย่างรวดเร็ว และช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินจากการเน่าสลายของบรรดาซากพืช ข้อดีข้อที่สองคือ ป้องกันการชะพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี ข้อที่สามคือใช้กับพื้นที่ที่ไม่สามารถไถพรวนดินได้ตามปกติ และข้อที่สี่คือต้นถั่วมีเปอร์เซ็นต์การตั้งตัวสูงขึ้น …หลังจากที่ได้ทราบถึงข้อดีของการใช้สารกำจัดวัชพืชแล้ว ที่นี้ลองมาฟังข้อเสียของสารกำจัดวัชพืชกันครับ ข้อเสียของการใช้สารกำจัดวัชพืชนั้น พบว่าผลของการใช้สารเคมีมีผลต่อการงอกและการเจริญเติบโตในระยะแรกของพืช คือไปลดความแข็งแรงของต้นอ่อน คราวนี้คุณผู้ฟังก็ทราบถึงข้อดีข้อเสียของการใช้สารกำจัดวัชพืชแล้วนะครับ ที่นี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณผู้ฟังจะเลือกใช้วิธีไหนกันครับ

การใช้ถั่วไมยราเป็นแหล่งอาหารหยาบนั้น สามารถให้สัตว์กินได้หลายรูปแบบครับ เช่น สภาพถั่วสด โดยตัดสดมากินในคอก หรือปล่อยแทะเล็ม หรือจะทำเป็นถั่วแห้ง ใช้วิธีตัดต้นถั่ว และหั่นให้มีขนาด 2-3 นิ้ว จากนั้นนำไปตากบนลานตากครับ แล้วเกลี่ยบางๆ กลับกองวันละ 1-2 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เมื่อถั่วไมยราแห้งสนิท นำมาบรรจุใส่กระสอบเก็บไว้ หรือนำถั่วไมยรามาทำเป็นถั่วหมักก็ได้ครับ นอกจากนี้ยังสามารถนำถั่วไมยรามาทำเป็นอาหารผสมเสร็จ ซึ่งเป็นสูตรอาหารรวมที่มีทั้งอาหารหยาบและอาหารข้นอยู่รวมกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

              คุณผู้ฟังครับ ผลสรุปจากงานวิจัยพบว่า การปลูกถั่วไมยราในแปลงหญ้าธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องลดจำนวนวัชพืชให้น้อยลงก่อนปลูกถั่วครับ ส่วนการใช้สารกำจัดวัชพืชร่วมกับการไถพรวนช่วยควบคุมวัชพืชได้ดีในช่วงแรกที่ถั่วเจริญเติบโต และไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่ว

ในสภาพการไถ่พรวนปกติ ถั่วไมยราเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกแบบไม่ไถ่พรวน แม้มีการใช้สารกำจัดวัชพืชร่วมด้วยครับ เพราะเกิดการแข่งขันด้านการเจริญเติบโตกับวัชพืชขึ้นอยู่ก่อน ภายหลังที่ได้มีการฉีดสารกำจัดวัชพืช ปรากฏว่ามีเศษซากพืชปกคลุมหนา เลยส่งผลให้ต้นถั่วเจริญเติบโตได้ไม่ดี ดังนั้นนะครับคุณผู้ฟัง หลังจากฉีดสารกำจัดวัชพืชออกแล้ว ควรนำเศษวัชพืชออกจากแปลงเพื่อลดจำนวนวัชพืชให้น้อยลงครับ

คุณผู้ฟังครับ การเลี้ยงโคนมให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างดี ยังเกี่ยวไปถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงด้วยครับ เพราะต้นทุนส่วนใหญ่มากกว่า 60% นั้นเป็นค่าอาหารครับ ดังนั้นเกษตรกรจะต้องรู้จักเลือกใช้อาหารที่ดี ราคาถูก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์มากครับ เมื่อโคนมได้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ก็จะผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ เพื่อนำมาผลิตนมพร้อมดื่ม ทำให้เราได้ดื่มนมครับ ท้ายนี้ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสวิตา

สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันเวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ.1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ