รายการวิทยุ เรื่อง การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=95ZO5ABNFog[/youtube]  

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม 2557 

เรื่อง การผลิตเมล็ดผัก

บทวิทยุโดย นายวิทวัส ยุทธโกศา

-เพลงประจำรายการ-

       สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับปัจจุบันพืชผักมีความสำคัญทางเศรฐกิจเป็นอย่างมากครับ ทั้งในการบริโภคภายในประเทศ  และการส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียวครับ  การผลิตและการส่งออกมีทั้งในรูปของผลผลิตสดและอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ อย่างเช่น  การแช่แข็ง  อบแห้ง  และบรรจุกระป๋อง  และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 / 2541  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกผักเศรษฐกิจทั้งหมด  53  ชนิด  ประมาณ  3  ล้านไร่  ผลผลิตรวมประมาณ  5  ล้านตัน  ซึ่งพืชผักที่ปลูกเกือบทุกชนิดต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในการปลูกทั้งสิ้น  ดังนั้นเมื่อมีการปลูกผักเพิ่มมากขึ้นปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ก็มากขึ้นเช่นกัน เราเริ่มจะเห็นความสำคัญของเมล็ดพันธุ์กันแล้วนะครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับสำหรับเมล็ดพันธุ์ผักที่เกษตรกรใช้นั้น  มีทั้งที่เกษตรกรเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง  หรือต้องซื้อหาจากร้านค้าเมล็ดพันธุ์  หรือส่วนราชการต่าง ๆ สำหรับเมล็ดพันธุ์ผักที่มีบริษัทหรือร้านค้าเมล็ดพันธุ์จำหน่ายนั้น  มีทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเองภายในประเทศไทย  และรวมถึงเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยครับ   ถึงแม้ว่าเมล็ดพันธุ์ผักหลายชนิด   โดยเฉพาะผักเมืองร้อนต่าง ๆ จะสามารถผลิตได้เองภายในประเทศก็ตาม   แต่บางครั้งก็มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้  จึงต้องมีการนำเข้าเมล็ดผักจากต่างประเทศ หรือเป็นการนำเข้าพันธุ์ใหม่ ๆ   ที่ตลาดมีความต้องการเข้ามา  นอกจากนั้นก็ยังมี  เมล็ดพันธุ์ผักอีกหลายชนิดที่ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วยเช่นกันครับ คุณผู้ฟังครับ เมล็ดพันธุ์นับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการผลิตพืชผักให้มีปริมาณและคุณภาพตามมาตราฐานที่ต้องการครับ  การเลือกใช้เมล็ด พันธุ์ที่ดีและเหมาะสมตรงกับความต้องการของตลาด  ถือว่าเป็นการลงทุนในการผลิตที่ต่ำครับ  แต่ก็จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหากเกษตรกรได้มีการใช้พันธุ์ที่ดีแล้ว  ย่อมประสบผลสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วในการผลิตแต่ละครั้งครับ คุณผู้ฟังครับเมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ในการค้าไทยทั่วไป  สามารถจำแนกออกได้เป็น  2  ประเภทครับ  นั่นก็คือ  เมล็ดพันธุ์ผสมปล่อยหรือเมล็ดพันธุ์ผสมเปิด  คือเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตโดยปล่อยให้ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ  นิยมใช้ในพืชตระกูลแตง  มะเขือและถั่ว  เนื่องจากเป็นพืชที่ผสมตัวเองทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ได้เมื่อนำมาปลูกแล้วคุณภาพและปริมาณผลผลิตไม่แตกต่างจากพ่อแม่เดิม  เมล็ดพันธุ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มีราคาถูกครับ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเกษตรกรด้วยครับ ส่วนเมล็ดพันธุ์อีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ  เมล็ดพันธุ์ลูกผสม  เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการเจาะจงสายพันธุ์แม่และพ่อ  แล้วทำการผสมเกสรด้วยมือ  หรือปล่อยให้มีการผสมข้ามตามธรรมชาติสายพันธุ์แม่และพ่อที่ใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์  จะได้รับการปรับปรุงและทดสอบจนได้คู่ผสมที่เหมาะสม   แล้วจึงนำมาผสมพันธุ์  และผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นการค้าต่อไป   ลูกผสมที่ได้จะมีคุณภาพและปริมาณที่ดีเด่นกว่าพ่อแม่  และรวมลักษณะที่ดีเด่นของพ่อแม่เอาไว้  เช่นลักษณะการต้านทานโรค  ความหวาน  หรือสี  ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมในการผลิตทางการค้ามากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับราคาของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจะมีราคาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ผสมปล่อยมากครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

 กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับสถานการณ์การผลิตเมล็ดเมล็ดพันธุ์ผักของประเทศไทย จะมีอยู่สองรูปแบบด้วยกันครับ นั่นก็คือ   เกษตรกรผลิตและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง  ส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่เกษตรกรปลูกต่อ ๆ กันมาในท้องถิ่น  และเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีมีคุณลักษณะที่ตลาดต้องการ  ทำให้เกษตรกรมีการเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง  โดยเลือกเก็บจากผลที่ปลูกเพื่อขายตลาดสด  แต่มีการคัดเลือกผลที่มีลักษณะดีเก็บไว้ใช้ทำพันธุ์ต่อ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ผสมปล่อย   ส่วนอีกรูปแบบ คือภาคเอกชนทำการผลิตครับ  ในปัจจุบันธุรกิจการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักของประเทศไทยโดยภาคเอกชน  มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ วิธีการดำเนินงานของภาคเอกชน  แบ่งออกได้เป็น  4 ลักษณะ  คือ  รับผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  โดยรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทต่างประเทศ  ด้วยการรับสายพันธุ์พ่อแม่  ของบริษัทต่างประเทศมาทำการผลิต  และส่งเมล็ดพันธุ์ทำการจำหน่ายคืนกับบริษัทต่างประเทศทั้งหมด  การรวบรวม  คัดเลือก   และปรับปรุงพันธุ์พืชพื้นเมือง  เมื่อได้พันธุ์ดีจึงผลิตจำหน่ายภายในประเทศ   นอกจากนั้นจะนำสายพันธุ์ดีจากต่างประเทศมาผสมข้ามกับพันธุ์พื้นเมือง  เพื่อใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  สำหรับจำหน่ายภายในและต่างประเทศ           นำเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  หรือพันธุ์ผสมปล่อยจากต่างประเทศมาปลูกทดสอบ  และหากพันธุ์ใดมีลักษณะดีตามความนิยมของตลาด  ก็จะสั่งเมล็ดพันธุ์นั้นเข้ามาจำหน่ายต่อไป รับซื้อเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกร  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ง่าย ๆ และเกษตรกรบางแหล่งผลิตเป็นอาชีพมาช้านาน คุณผู้ฟังครับการผลิตเมล็ดพันธุผักเพื่อการค้าในประเทศไทยมี  2  ประเภทด้วยกัน  คือ  1)   การผลิตเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดหรือผสมปล่อย  ได้แก่  พืชตระกูลแตง  มะเขือ  ผักบุ้ง  ผักกาดหอม  พริก  และถั่วฝักยาว  โดยปล่อยให้มีการผสมเกสรตามธรรมชาติ  มีการลงทุนและผลตอบแทนต่ำเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้มากจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออก  เมล็ดพันธุ์ที่มีการส่งออก  เช่น  แตงโม  ผักบุ้ง  และผักกาดหอม  เมล็ดพันธุ์ผักประเภทนี้มีราคาค่อนข้างถูก  และนิยมใช้ทั่วไป    2)  การผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  ได้แก่  มะเขือเทศ   พริกยักษ์  แตงโมและแตงร้าน  โดยบริษัทเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศจะร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนภายในประเทศ  โดยนำเมล็ดพันธุ์หลักหรือพันธุ์แม่และพ่อมาจากต่างประเทศ  มาทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  โดยการใช้การผสมเกสรด้วยมือ  และเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ผลิตได้ต้องส่งออกไปต่างประเทศ   เพื่อนำไปบรรจุและส่งขายทั่วโลกต่อไป    ธุรกิจการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมในประเทศไทยลักษณะนี้   มีการลงทุนมามากกว่า  20  ปีแล้ว   และประสบผลสำเร็จในการส่งเสริม  แก่เกษตรกร   เพราะให้ผลตอบแทนสูง   คุ้มค่า  ทำให้สามารถขยายพื้นที่การผลิตได้มาก   โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมในการผลิต  คือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ   การผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมีการลงทุนและผลตอบแทนสูง   และนิยมทำการผลิตในระหว่างปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาว  ในพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์และมีน้ำตลอดในระหว่างฤดูปลูก คุณผู้ฟังครับ ในปัจจุบันความต้องการในการใช้และผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมสูงมากขึ้น   ทั้งนี้เนื่องจากพันธุ์ลูกผสมให้ผลผลิตและคุณภาพสูง  และตรงตามสายพันธุ์  สม่ำเสมอและตอบสนองปุ๋ยเคมี  มีความต้านทานโรคและแมลงตลอดจนสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้ได้คุณภาพ  จะต้องรู้หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก  คือ  ต้องรู้ลักษณะเฉพาะของการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก  การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อการบริโภคสด   ทั้งด้านพันธุ์  การเขตกรรม   และการคัดเลือกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม   การจะผลิตเมล็ดพันธุ์ชนิดใด   ผู้ผลิตจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเมล็ดพันธุ์นั้นเป็นพันธุ์ผสมเปิดหรือพันธุ์ลูกผสม   และผักชนิดนั้นเป็นผักที่มีการผสมพันธุ์ด้วยตนเองหรือผสมข้าม  เพื่อจะได้มีการวางแผนและจัดการผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ถูกต้อง  และมีคุณภาพดีตรงตามพันธุ์ ต้องรู้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก  พืชบางชนิด  เช่น  ตระกูลกะหล่ำและหอม  ต้องการอากาศเย็นหรืออุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลานานเพียงพอ  คือประมาณ  15 – 30  วัน  เพื่อกระตุ้นให้เกิดตาดอก  พืชตระกูลพริกและมะเขือ  เช่น  มะเขือเทศ  มะเขือ  และพริกยักษ์  ต้องการความแตกต่างของอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนสูง   เพื่อการเจริญเติบโต   และเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์           การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักทุกชนิด   เมื่อถึงระยะออกดอก  ติดฝัก  และเก็บเกี่ยว  ไม่ต้องการฝน  เพราะจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้  และชักนำให้เกิดโรคระบาด   ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์   ช่วงแสงก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการชักนำให้เกิดตาดอกของผักบางชนิด  สำหรับประเทศไทยสามารถทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักได้ดี  สำหรับพืชประเภทวันสั้น  คือต้องการช่วงแสงน้อยกว่า  12  ชั้วโมงต่อวัน  เช่น  ผักกาดหอม  และพืชตระกูลแตง  และพืชวันปกติ  ต้องการแสงปกติ  12  ชั่วโมงต่อวัน  เช่น  มะเขือเทศ  พริก  มะเขือ  และถั่วฝักยาว     การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักต้องใช้ระยะเวลามากกว่าการผลิตเพื่อบริโภคสด  ดังนั้นสภาพดินต้องมีความอุดมสมบูรณ์สูง  ระบายน้ำได้ดี ต้องรู้พื้นที่ที่เหมาะสมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก   สภาพอากาศแห้งเป็นปัจจัยสำคัญในระยะออกดอกและติดเมล็ด   ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์สูง   พืชใดที่ต้องการอากาศเย็นในการเจริญเติบโตหากนำมาปลูกในสภาพอากากศร้อนจะทำให้ไม่เหมาะสมในการผลิตเมล็ดพันธุ์   เช่น  ตระกูลกะหล่ำหอมและหอม  และพื้นที่ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ต้เองมีระยะห่างที่เหมาะสมจากพันธุ์อื่น ๆ  เพื่อป้องกันการผสมข้ามและการปะปนพันธุ์

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับโดยปกติเมื่อเมล็ดเจริญเติบโตและพัฒนาถึงจุดแก่ทางสรีรวิทยา  ซึ่งเป็นระยะที่เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงที่สุด  ถึงแม้ว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาบางประการอาจจะยังไม่สมบูรณ์   แต่การสะสมองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นภายในเมล็ดได้สิ้นสุดลงแล้ว  ดังนั้นในทางทฤษฎีจึงสามารถทำการเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่จุดแก่ทางสรีรวิทยาเป็นต้นไป   การเก็บเกี่ยวที่ดี  ผู้ปฎิบัติจะต้องทราบข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยวของพืชชนิดนั้น ๆ ทราบระยะเวลาที่เหมาะสม   และสามารถแยกเมล็ดหรือเก็บเกี่ยวเมล็ดออกจากต้นพืชได้โดยปราศจากความเสียหายก่อนที่จะเกิดการสูญเสีย  การเก็บเกี่ยวอาจเก็บเกี่ยวที่จุดแก่ทางสรีรวิทยาหรือเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่เก็บเกี่ยวก็ได้ โดยทั่วไปที่จุดแก่เมล็ดยังคงมีความชื้นสูง  30 – 60  เปอร์เซ็นต์แล้วแต่ชนิดพืช  พันธุ์  และสภาพแวดล้อม  ณ จุดแก่ทางสรีรวิทยานี้   ระบบท่อน้ำท่ออาหารที่นำอาหารสะสมจะแก่และหยุดทำหน้าที่   ทำให้เมล็ดถูกตัดขาดจากต้นแม่  โดยไม่มีอาหารสะสมในเมล็ดอีกต่อไป  หลังจากจุดนี้ไปน้ำหนักแห้งของเมล็ดจึงคงที่หรืออาจลดลงเล็กน้อยขึ้นอยู่กับระดับความชื้นของเมล็ดและอุณหภูมิของอากาศ   ในพืชบางชนิด  เช่น  ข้าวโพดและข้าวฟ่าง เมล็ดที่พัฒนาถึงจุดนี้  จะมีลักษณะบ่งชี้ปรากฏให้เห็นที่ขั้วเมล็ด   ในทางทฤษฎีการปล่อยให้เมล็ดอยู่บนต้นพืชต่อไป   นอกจากผลผลิตจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว  เมล็ดอาจได้รับความเสียหายจากสาเหตุหลายประการได้แก่  การหักล้ม  การแตกของฝัก  เมล็ดงอกคาต้น  การทำลายของ  นก หนู  และศัตรูอื่น  การระบาดของโรคและแมลง  และสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เหมาะสมที่เร่งการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์   คุณผู้ฟังครับการเก็บเกี่ยวและการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์  เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตเมล็ดพันธุ์  ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี  หากกระทำโดยไม่ระมัดระวังเมล็ดพันธุ์ที่ได้อาจมีคุณภาพต่ำหรืออาจได้รับความกระทบกระเทือน  เสียหายได้นะครับ คุณผู้ฟังครับและวันนี้เวลาสำหรับรายการ  “  จากแฟ้มงานวิจัย  มก. ”  ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้วครับ  พบกับรายการนี้ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า  ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ   โทรสอบถามได้ที่       0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….

…………………………………………………………………………………………………………