รายการวิทยุ เรื่อง”การพัฒนาซุปจากฟลาวมันเทศ สำหรับผู้สูงอายุ”

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 26 เดือนเมษายน พ.ศ. 2557

เรื่อง  การพัฒนาซุปจากฟลาวมันเทศ สำหรับผู้สูงอายุ

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม……………………………….เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ วันนี้กระผมมีผลงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องเน้นกันในเรื่องสุขภาพเป็นหลัก กระผมมีทางหนึ่งในการบริโภคอาหารมีนำเสนอครับ เป็นผลงานวิจัยของ รศ.กมลวรรณ แจ้งชัด ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร บางเขน ในเรื่องการพัฒนาซุปกึ่งสำเร็จรูปทางโภชนาการจากฟลาวมันเทศสำหรับผู้สูงอายุครับ ซึ่งวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ก็เพื่อสำรวจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคสูงอายุต่อการพัฒนาซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปศึกษาคุณภาพทางกายภาพและทางเคมีของวัตถุดิบมันเทศพันธุ์ที่มีเนื้อสีต่างกันพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปศึกษาการยอมรับของผู้บริโภคต่อซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปและซุปมันเทศพร้อมบริโภค มาเริ่มกันเลยครับ

คุณผู้ฟังครับ ซุปเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้บริโภคเป็นอาหารเช้าหรือเป็นอาหารชุดแรกก่อนที่จะเสริมอาหารหลัก เหมาะที่จะเป็นอาหารสำหรับผู้บริโภคทุกระดับอายุ เช่น ผู้ป่วย เด็ก และคนชรา เพราะเนื่องจากซุปจะเป็นอาหารที่ให้ความสะดวก รับประทานง่าย ย่อยง่าย พร้อมทั้งให้คุณค่าทางอาหารสูง ซุปที่บริโภคโดยทั่วไปมักมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผักเป็นหลักครับ

ส่วนซุปกึ่งสำเร็จรูปนั่น คือผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือพืช เช่น เนื้อสัตว์ ธัญชาติ ผัก ถั่ว เต้าหู้ ผสมกับเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส และอาจมีการผสมส่วนประกอบอื่น เช่น แป้ง เส้นบะหมี่ พาสต้า มาผ่านกรรมวิธีทำให้แห้ง หรือใช้ส่วนประกอบที่ทำให้แห้งแล้วมาผสมกัน โดยรักษาคุณภาพและกลิ่นรสของส่วนประกอบไว้ นำมาทำให้สุกตามวิธีที่ระบุไว้ที่ฉลาก รับประทานได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาที ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อยะครับ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าประเภทของซุปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทครับ ทั้งนี้ก็ตามลักษณะของซุปนั่นแหละครับ นั่นก็คือ ซุปใส และซุปข้น ซุปอาจมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา และหอย ส่วนผสมของผัก ก็เช่น แครอท ข้าวโพด ถั่วลันเตา และมันฝรั่งครับ คุณผู้ฟังครับตัวอย่างของซุปใส ได้แก่ คอมซอมเม่ (Consomme) และบรอท (Broth) ส่วนซุปข้นมีลักษณะข้นหนืด

โดยอาจข้นหนืดด้วยเครื่องปรุงของซุปเอง หรือข้นหนืดด้วยการปรุงแต่งด้วยครีม ไข่แดง หรือแป้ง ตัวอย่างซุปข้น ได้แก่ พิวเร่ซุป (Puree soup) ครีมซุป (Cream soup) และซุปข้นใส่หอยหรือปลาครับ

คุณผู้ฟังครับ การศึกษาเพื่อพัฒนาซุปพร้อมบริโภคและซุปกึ่งสำเร็จรูปนั้น ส่วนใหญ่จะพัฒนาซุปให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น โดยมีการเติมสารประกอบ หรือผลิตภัณฑ์จากส่วนผสมที่มีผลในเชิงสุขภาพ เช่น การเติมวิตามินและแร่ธาตุ เครื่องเทศ สมุนไพร ธัญชาติ และผักชนิดต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพและต้องการความสะดวกในการบริโภคมากขึ้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและการพัฒนาผู้สูงอายุไทยจึงได้รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี พ.ศ. 2550 ว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ โดยในปี 2550 จำนวนประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปมีประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ดังนั้นจากสถานการณ์นี้ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัด ส่วนของผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยมีสัดส่วนเพศหญิงต่อเพศชายร้อยละ 55:45 และสามารถจำแนกตามกลุ่มอายุได้เป็น วัยต้น (60-69 ปี) ร้อยละ 58.8 วัยกลาง (70-79 ปี) ร้อยละ 31.7 และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 9.5 ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ข้อมูลที่ได้จากมูลนิธิสถาบันวิจัยและการพัฒนาผู้สูงอายุไทยครับ

คุณผู้ฟังครับ การศึกษาภาวะโภชนาการและความต้องการสารอาหารในคนสูงอายุจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นและอย่าลืมนะครับว่าผู้สูงอายุต้องการสารอาหารเพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ปริมาณอาหารที่บริโภคควรลดลงแต่เน้นในเรื่องคุณภาพด้วย

คุณผู้ฟังครับ ส่วนอาหารสำหรับผู้สูงอายุต้องทำให้ย่อยง่ายที่สุดครับ ไม่ควรรับประทาน

อาหารที่เป็นก้อนมากนักเพราะระบบยการย่อยอาหารอาจจะไม่ได้ดีเท่ากับคนวัยหนุ่ม สาว และผู้สูงอายุมักเบื่ออาหารง่ายครับ ดังนั้นควรรับประทานอาหารร้อนๆ เช่น ซุป หรือแกงจืดจะช่วยกระตุ้นระบบการย่อยให้ดีขึ้น อาหารไม่ควรมีรสจัด ไม่ควรใส่เครื่องเทศหรือผงชูรสมากเกินไป

จากการสำรวจข้อมูลการบริโภคอาหารในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ต่อการบริโภคพืชหัว ได้แก่ มันเทศ มันฝรั่ง เผือก มันสำปะหลัง และมันแกว ได้พบว่ามันเทศเป็นพืชหัวที่ผู้สูงอายุบริโภคมากที่สุด

มันเทศเป็นพืชอาหารของมนุษย์และสัตว์ ปลูกได้ง่าย ได้ผลเร็ว และมีผลผลิตสูง สามารถปลูกได้ทุก

ภาคในประเทศไทย เป็นส่วนของรากที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากเป็นแหล่งของคาร์

โบไฮเดรตแล้ว ยังมีโปรตีน เส้นใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และสารประกอบที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินซี แคโรทีน และแอนโธไซยานิน สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรงครับ แต่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีข้อจำกัดครับ ทั้งที่มันเทศมีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด จะเห็นได้จากนักวิจัยในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ไนจีเรีย อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ได้ให้ความสนใจในการศึกษาวิจัยทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการของมันเทศ สมบัติของแป้งจากมันเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด มันเทศจึงเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจในการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศไทยการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมันเทศ และการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมอาหารยังมีน้อยครับ การวิจัยและพัฒนาวิธีการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากมันเทศ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

 กลับมาฟังกันต่อครับ มาฟังคุณภาพของวัตถุดิบมันเทศกันก่อนนะครับ

มันเทศที่มีเนื้อสีแตกต่างกันจำนวน 4 สายพันธุ์ นั่นก็คือ มันต่อเผือกเนื้อหลังจากการปอกเปลืกจะมีสีม่วงปนขาว มันเกษตรมีสีเหลือง มันไข่มีสีเหลืองส้ม และแม่โจ้จะมีสีขาวปนครีม และนำมาวิเคราะห์ค่าสี องค์ประกอบทางเคมี และสมบัติการเป็นสารต้านออกซิเดชันที่มีในเนื้อมันเทศได้ผลการ

วิเคราะห์ดังนี้ครับ มันเทศที่มีเนื้อสีต่างกันส่งผลให้ค่าสีที่วัดได้แตกต่างกัน พันธุ์แม่โจ้มีค่าความสว่างสูงที่สุด ขณะที่ พันธุ์มันต่อเผือกมีค่าความสว่างต่ำที่สุด มันต่อเผือกมีค่าแสดงความเป็นสีแดงมากที่สุด รองมาคือ มันไข่ ส่วนมันเกษตรมีค่าแสดงความเป็นสีเหลืองมากที่สุด รองมาคือมันไข่ และแม่โจ้ ตามลำดับ ซึ่งสัมพันธ์กับค่าสีหลักที่วัดได้

คุณผู้ฟังครับผลการวิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมี พบว่ามันเทศมีปริมาณความชื้นอยู่ในช่วงร้อยละ 63 – 79 องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรตมากถึงร้อยละ 89 – 92 โดยน้ำหนักแห้ง โดยพันธุ์แม่โจ้มีปริมาณสูงที่สุดครับ ส่วนปริมาณโปรตีนมันต่อเผือกและมันเกษตรมีปริมาณโปรตีนมากกว่ามันไข่และแม่โจ้

คุณผู้ฟังครับจากการทดลองพบว่าพันธุ์มันไข่มีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์สูงสุด และพันธุ์แม่โจ้มีน้อยที่สุด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรสหวานของเนื้อมันเทศต้มสุกเมื่อรับประทาน ซึ่งพบว่าน้ำตาลมีปริมาณแตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ และการเก็บรักษาอาจมีกิจกรรมของเอนไซม์อินเวอร์เทส ส่งผลให้น้ำตาลรีดิวซ์เพิ่มขึ้นได้

และนักวิจัยก็ได้พบอีกว่าสารประกอบฟีนอลิกมีปริมาณผันแปรตามสีของเนื้อมันเทศ และมันเทศเนื้อ

สีส้มจะมีปริมาณฟีนอลิกมากกว่าพันธุ์เนื้อสีเหลือง

ส่วนปริมาณแอนโธไซยานิน ซึ่งสามารถตรวจพบในมันต่อเผือกซึ่งมีเนื้อสีม่วง ในขณะที่พันธุ์มันไข่ มันเกษตรและแม่โจ้ วิเคราะห์ไม่พบแอนโธไซยานิน และมันเทศที่มีเนื้อสีส้ม เหลืองปนส้ม อาจสามารถวิเคราะห์พบแอนโธไซยานินได้ แต่มีปริมาณน้อยครับ

ส่วนปริมาณแคโรทีนในมันเทศ 4 พันธุ์ โดยในพันธุ์มันไข่ซึ่งมีเนื้อสีเหลืองส้มพบปริมาณสูงสุด รองลงมาคือมันเกษตร มันต่อเผือก และพันธุ์แม่โจ้พบน้อยที่สุด คุณผู้ฟังครับแคโรทีนเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่ง ละลายในไขมันและไม่ละลายในน้ำ สามารถพบในพืชให้สีเหลือง แดง ส้ม ขึ้นอยู่กับจำนวนพันธะคู่ในโมเลกุล และมันเทศเป็นแหล่งของสารประกอบแคโรทีนอยด์ที่ดี โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีเนื้อสีส้ม เนื่องจากมีเบต้าแคโรทีนชนิดทรานส์ซึ่งแสดงกิจกรรมเป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอที่ดีที่สุดครับ

คุณผู้ฟังครับ มันเทศพันธุ์ต่างกันจะมีความสามารถในการต้านออกซิเดชันแตกต่างกันขึ้นกับปริมาณและสัดส่วนของสารประกอบที่มีอยู่ในเนื้อมันเทศ พันธุ์มันต่อเผือกให้ค่า สูงสุดในการวิเคราะห์ทั้งสองวิธี รองลงมาคือมันไข่ มันเกษตร และแม่โจ้

และเมื่อพิจารณาผลการวิเคราะห์มันเทศทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการและสมบัติการเป็นสารต้าน

ออกซิเดชันพบว่ามันเทศพันธุ์ที่มีเนื้อสีต่างกันจะมีองค์ประกอบทางเคมีและความสามารถในการต้าน

ออกซิเดชันแตกต่างกัน พันธุ์ที่มีสมบัติเด่นที่สุดคือ พันธุ์มันต่อเผือกซึ่งมีปริมาณโปรตีน สารประกอบฟีนอลิก19 และแอนโธไซยานินสูงกว่าพันธุ์อื่น และส่งผลให้มีความสามารถในการต้านออกซิเดชันมีค่าสูงที่สุด พันธุ์ที่มีสมบัติเด่นรองลง มาคือพันธุ์มันไข่ ซึ่งมีปริมาณเส้นใยหยาบ เถ้า และแคโรทีนสูงที่สุด มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและความสามารถในการต้านออกซิเดชันโดยวิธี DPPH สูง รองมาจากพันธุ์มันต่อเผือก ดังนั้นจึงคัดเลือกมันเทศพันธุ์มันต่อเผือกซึ่งมีเนื้อสีม่วงปนขาว และพันธุ์มันไข่ซึ่งมีเนื้อสีส้มปนเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งฟลาวมันเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาซุปในขั้นตอนต่อไปครับคุณผู้ฟัง ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

มาต่อกันกับการพัฒนาสูตรซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูป

ซึ่งผลการศึกษาปริมาณฟลาวมันเทศและปริมาณน้ำที่มีต่อคุณภาพของซุปฟลาวมันเทศมีองค์ประกอบหลักเป็นแป้ง ปริมาณการเติมในสูตรซุปจึงมีผลต่อความข้นหนืดของซุป และเนื่องจากการพัฒนาสูตรซุปซึ่งมีฟลาวมันเทศเป็นส่วนผสมหลัก และส่วนผสมอื่นๆในอัตราส่วนคงที่ ได้แก่ นมผง เกลือ โปรตีนจากถั่วเหลือง และครีมเทียม และปริมาณน้ำสำหรับละลายซุป และเมื่อเพิ่มปริมาณฟลาวมันเทศที่ระดับน้ำ

เดียวกัน พบว่าซุปมีความหนืดเพิ่มขึ้น และเมื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอัตราตราส่วนที่มีปริมาณฟลาวมันเทศเท่ากัน ทำให้ซุปมีความหนืดลดลง และจากผลการทดลองจะเห็นได้ว่าฟลาวมันต่อเผือกให้ค่าความหนืดของซุปมากกว่าทำจากฟลาวมันไข่ในสูตรเดียวกัน ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากองค์ประกอบทางเคมีของฟลาวทั้งสองพันธุ์ที่ต่างกันครับ

การนำสูตรซุปที่คัดเลือกทั้งสองพันธุ์มันเทศมาประเมินความชอบและความพอดีในแต่ละคุณลักษณะของซุป ผลการประเมินความชอบ พบว่าซุปจากพันธุ์มันไข่มีคะแนนความชอบในระดับชอบปานกลางทุกคุณลักษณะ ส่วนผลการทดสอบความชอบของซุปจากพันธุ์มันต่อเผือก พบว่ามีคะแนนความชอบในระดับชอบปานกลางเหมือนกันครับ ยกเว้นด้านสีของซุปที่มีความชอบเล็กน้อย

คุณผู้ฟังครับมาฟังคุณภาพของซุปมันเทศกันนะครับ

การนำผลิตภัณฑ์ซุปมันเทศที่พัฒนาได้จากฟลาวมันเทศพันธุ์มันไข่ และมันต่อเผือกมาวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพได้ว่าซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปพันธุ์มันไข่จะมีสีเหลืองนวล ส่วนซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปพันธุ์มันต่อเผือกมีสีคล้ำกว่าพันธุ์มันไข่

ส่วนคุณภาพทางด้านเคมีผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของซุปกึ่งสำเร็จรูป พบว่าการบริโภคซุปมันเทศในหนึ่งหน่วยบริโภค (25 กรัม) จะได้รับพลังงานประมาณ 97 กิโลแคลอรี่ มี

โปรตีน คิดเป็นร้อยละ 6.25 ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งซุปมันเทศนี้มี

ปริมาณโปรตีนสูงกว่าซุปกึ่งสำเร็จรูปทางการค้า ดังนั้นการบริโภคซุปมันเทศที่พัฒนาได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุครับคุณผู้ฟัง ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

มาฟังผลการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภคกับการประเมินการยอมรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ซุปมันเทศกึ่งสำเร็จรูปที่พัฒนาได้จากพันธุ์มันไข่และมันต่อเผือก โดยเตรียมเป็นซุปพร้อมบริโภค ทำการทดสอบกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายจำนวน 140 คนแบ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอาศัยอยู่ภายในกรุงเทพมหานครครับ

ซึ่งผู้บริโภคโดยเฉพาะที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะชอบรับประทานซุปอยู่แล้วครับ มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้บริโภคทั้งหมดเท่านั้นที่ไม่ชอบซุป แต่ความถี่ในการรับประทานนั้นส่วนใหญ่บริโภคน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งจะรับประทานในช่วงเวลาอาหารเช้ามากที่สุด และผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรม

การซื้อผลิตภัณฑ์ซุปแบบขนาดเล็กสำหรับบริโภคครั้งเดียว และเมื่อให้ผู้บริโภคทดสอบผลิตภัณฑ์ซุปมันเทศที่จัดเตรียมให้โดยสอบถามผู้บริโภคถึงคะแนนความชอบต่อปัจจัยคุณภาพของซุปมันเทศได้แก่ ลักษณะ

ปรากฏ กลิ่นโดยรวม กลิ่นรสมันเทศ รสเค็ม ความข้นหนืด และความชอบโดยรวม พบว่า ผู้บริโภคให้คะแนนความชอบเฉลี่ยอยู่ในระดับชอบปานกลางทั้งสองชนิดซุป

จากผลการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค พบว่า ซุปมันเทศที่พัฒนาได้ทั้งจากฟลาวพันธุ์มันไข่

และมันต่อเผือกได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยสัดส่วนการยอมรับซุปมันเทศทั้งสองพันธุ์มาจากกลุ่มผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่ากลุ่มอายุ 50-59 ปี และเมื่อถามถึงชนิดซุปมันเทศที่ชอบมากกว่า

ผลพบว่า ร้อยละ 54.30 เลือกซุปที่ผลิตจากมันไข่ ร้อยละ 25.70 เลือกซุปที่ผลิตจากมันต่อเผือก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20.00 ชอบซุปทั้งสองชนิดเท่ากัน ผู้บริโภคร้อยละ 78.60 ให้ความเห็นว่าซุปมันเทศที่พัฒนาได้นี้ไม่จำเป็น ต้องปรุงแต่งกลิ่นรส มีเพียงร้อยละ 21.40 ซึ่งเป็นความเห็นจากกลุ่มอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 14.30 และกลุ่มผู้สูงอายุร้อยละ 7.10 ที่เห็นว่าซุปมันเทศนี้ควรมีการปรับปรุงกลิ่นรส เพิ่มความหอม และเพิ่มรสเค็มเพื่อให้ซุปน่ารับประทานมากขึ้น และมีรสกลมกล่อมขึ้น จากผลการทดสอบผู้บริโภคในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า ซุปมันเทศที่ผลิตจากฟลาวมันเทศทั้งสองพันธุ์มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา และกลุ่มผู้สูงอายุได้ให้การตอบสนองที่ดีเลยทีเดียวครับคุณผู้ฟัง คุณผู้ฟังคงเห็นช่องทางการตลาดและกลุ่มเป้าหมายกันบ้างแล้วนะครับ และในทางกลับกันในฐานะผู้บริโภคเราก็ได้รับรู้คุณประโยชน์มากมาย ผลงานวิจัยนี่ก็เป็นการพัฒนาซุปกึ่งสำเร็จรูปทางการโภชนาการจากฟลาวมันเทศสำหรับผู้สูงอายุ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังนะครับ

คุณผู้ฟังครับและวันนี้เวลาสำหรับรายการ  “  จากแฟ้มงานวิจัย  มก. ”  ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้วครับ  พบกับรายการนี้ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า  ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ   โทรสอบถามได้ที่       0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….