เรื่อง ใบมันสำปะหลัง แหล่งโปรตีนโคนมที่น่าสนใจ โดย ดร.ศิริรัตน์ บัวผัน
[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=byq1nvzrDQ8[/youtube]
บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 22 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2557
เรื่อง ใบมันสำปะหลัง แหล่งโปรตีนโคนมที่น่าสนใจ
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
……………………………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
วันนี้กระผมมีผลงานที่น่าสนใจมากๆมาฝากครับ เรื่องใบมันสำปะหลัง แหล่งโปรตีนโคนมที่น่าสนใจ ผลงานของ ดร.ศิริรัตน์ บัวผัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตนม สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มก.กพส. และข้อมูลดีๆจาก วารสาร ปศุสัตว์เกษตรศาสตร์ มาเริ่มกันเลยครับ การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้เพราะน้ำนมถือว่าเป็นอาหารที่ดีของคนเรา โดยเฉพาะเด็กๆและเยาวชน ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมให้มีร่างกายที่แข็งแรงและมีสมองที่เฉลียวฉลาด ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประชากรในประเทศ
ในช่วงปี 2549 – 2553 จำนวนโคในประเทศไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.13 ต่อปี ในปี 2555 มีจำนวนโคนม 577,841 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2553 ส่งผลให้ผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นด้วยครับ ส่วนในปี 2556 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ขยับราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบแหล่งโปรตีน เช่น กากถั่วเหลือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพราะเมื่อราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบก็จะสูงขึ้นตามอย่างชัดเจน และเมื่อรวมกับการที่ประสิทธิภาพการผลิตของโคนมยังค่อนข้างต่ำ ปริมาณการให้น้ำนมของโคโดยเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 10-20 กก./ตัว/วัน ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าศักยภาพพันธุกรรมของแม่โคนม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโคนมลูกผสมมีสายเลือดโคโฮลสไตน์-ฟรีเซียน มากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้โคนมยังมีปัญหาสุขภาพต่างๆ และการผลิตติดต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำนมสูง เกษตรกรจึงขอปรับราคาจำหน่ายน้ำนมดิบให้สูงขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำนมที่ผลิตได้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโคนมของประเทศในอนาคตอันใกล้ครับ
-เพลงคั่นรายการ-
เมื่อพิจารณาการเลี้ยงโคนมของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าแม่โคนมได้รับอาหารต่างๆโดยเฉพาะโปรตีนที่เป็นอาหารสำคัญในการสร้างน้ำนมไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งนี้เพราะโคนมเป็นสัตว์ที่กินอาหารหยาบ หรือกินหญ้า การหมักย่อยอาหารในกระเพาะรูเมน หรือกระเพาะผ้าขี้ริว เกิดขึ้นโดยจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมน การเจริญและการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ จะกลายเป็นแหล่งโปรตีน ที่โคนมสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตน้ำนมได้ แต่เนื่องจากอากาศในประเทศไทยค่อนข้างร้อน อุณหภูมิสูงกว่าในประเทศเขตหนาวมาก และอาหารหยาบก็มีคุณภาพต่ำ จึงย่อยได้ต่ำ โคนมจึงกินอาหารหยาบได้น้อย ซึ่งอากาศร้อน มีผลให้การกินอาหารของสัตว์เลี้ยงลดน้อยลง ทำให้การเจริญและเพิ่มของจุลินทรีย์ต่ำ ส่งผลให้โคนมได้รับการย่อยจุลินทรีย์ที่ลำไส้เล็กต่ำไปด้วย โคนมได้รับโปรตีนไม่เพียงพอกับความต้องการในการสร้างน้ำนม ดังนั้นโคนมในเขตร้อนชื้นจึงต้องการโปรตีนจากอาหารข้นมากขึ้น เพื่อชดเชยจุลินทรีย์จากโปรตีนที่ผลิตได้น้อย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนในแต่ละวันเพียงพอกับการสร้างน้ำนมตามศักยภาพพันธุกรรมของโคนมที่มีอยู่
วัตถุดิบหลักที่สำคัญที่เป็นแหล่งของโปรตีนในสูตรอาหารข้นสำหรับโคนมที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ กากถั่วเหลือง ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กากถั่วเหลืองมีราคาสูงขึ้น ปี 2554 ราคากากถั่วเหลือง กิโลกรัมละ 12-14 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 22-23 บาท ในปี 2555 และมีราคาลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2556 คุณผู้ฟังครับ นอกจากนี้วัตถุดิบต่างๆ ที่เป็นแหล่งของพลังงานในอาหารโคนมก็มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากถูกนำไปใช้เพื่อการผลิตเอทานอล ส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์โดยรวมสูงขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบแหล่งโปรตีนในสูตรอาหารข้นสำหรับโคนมจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้เลี้ยงโคนม สามารถลดต้นทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ แล้วช่วงน่ามาฟังการให้อาหารโคด้วยใบสำปะหลังกันนะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้งได้ดี จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของโลก มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 4 ของประเทศไทย และประเทศไทยสามารถผลิตหัวมันสำปะหลังได้ประมาณ 22 ล้านต้น ปริมาณยอดและใบมันสำปะหลังประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของต้นมันสำปะหลังประมาณ 1,212,291 ตัน ยังไม่มีการนำเอาไปใช้ประโยชน์กันอย่างเท่าที่ควร คุณผู้ฟังครับ ใบมันสำปะหลังแห้งมีปริมาณโปรตีนสูงฉลี่ย 28.5 เปอร์เซ็นต์ ของวัตถุแห้ง เหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับโค และใบมันสำปะหลังแห้งเป็นแหล่งอาหารที่โคชอบ และสามารถกินได้ถึงวันละ 11.2 กิโลกรัม/ตัว หรือคิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว นอกจากนี้ใบมันสำปะหลังยังมีสารแทนนิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคอนเดนท์แทนนิน ที่สามารถจับกับโปรตีน จะได้สารประกอบโปรตีนแทนนิน-คอมแพล็กซ์ ของน้ำหนักแห้ง จะช่วยป้องกันโปรตีนจากการย่อยของจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมน ซึ่งเป็นการเพิ่มการไหลผ่านของโปรตีนไปยังลำไส้เล็ก แล้วจึงถูกย่อย และดูดซึมที่ลำไส้เล็กโค ถ้าระดับของคอนเดนส์ แทนนิน สูงเกิน 6 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง จะพบว่าการกินได้ของโค และการย่อยได้ของโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ลดลง ส่งผลให้การเจริญเติบโตของโคลดลงด้วยครับ
ส่วนกรดไฮโดรไซยานิค หรือไซยาไนด์ เป็นสารพิษอีกชนิดหนึ่งที่พบในมันสำปะหลัง เกิดจากการสลายตัวของสารไซยาโนจินิค ไกลโคไซด์ ซึ่งมันสำปะหลังแตกพันธุ์กัน ก็จะมีไซยาโนจินิค ไกลโคไซด์แตกต่างกัน เช่น ในใบแก่ของมันสำปะหลังชนิดหวาน มีปริมาณสารไซยาโนจินิค ไกลโคไซด์ 468 มิลลิกรัมไซยาไนด์/กิโลกรัมของน้ำหนักสด สัตว์เคี้ยวเอื้องที่ได้รับพิษจากไซยาไนด์ จะเกิดอาการเกร็ง กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรุนแรง เจ็บปวด และตายภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่น้อยจะค่อยๆแสดงอาการ เริ่มจากน้ำลายจะเป็นฟองตามมุมปาก อัตราการหายใจขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้นและอ่อนลง กล้ามเนื้อชักกระตุก และจะมีอาการเกร็งก่อนตาย ระดับความเป็นพิษของไซยาไนด์ที่ทำให้โคและแกะตาย จะมีค่าอยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวสัตว์ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ การทำใบและต้นอ่อนมันสำปะหลังแห้ง หรือมันเฮย์ เพื่อเป็นอาหารโคทำได้โดยการตัดต้นมันสำปะหลัง อายุ 3 เดือน หลังจากการปลูกที่ความสูงเหนือพื้นดิน ประมาณ 10 เซ็นติเมตร และตัดได้ทุกๆ 2 เดือน ผึ่งแดดให้แห้ง 2-3 วัน หรือจะนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆก่อนผึ่งแดด ก็จะเป็นการลดความชื้น ช่วยลดปริมาณไซยาไนด์ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และจะได้ใบและต้นอ่อนมันสำปะหลังแห้งที่มีปริมาณคอนเดนส์ แทนนิน ระดับ 30.5 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ส่วนปริมาณกรดไฮโดรไซนานิคระดับต่ำเพียง 0.38 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปลอดภัยสำหรับเป็นอาหารสัตว์เคี้ยงเอื้อง การตัดในระยะที่ใบยังไม่เจริญเต็มที่จะช่วยเพิ่มความน่ากินสูง โปรตีนรวมประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อเสริมใบและต้นอ่อนมันสำปะหลังแห้งแก่ให้แม่โคนม จึงสามารถลดปริมาณการให้อาหารข้นลงได้
ส่วนใบมันสำปะหลังหมัก ปริมาณไซยาไนด์จะมีค่าเท่ากับ 762 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักแห้ง แต่เมื่อนำใบมันสำปะหลังหมักนั้นมาทำให้แห้ง จะเหลือปริมาณไซยาไนด์เพียง 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ซึ่งใกล้เคียงกับใบสำปะหลังผึ่งแดด
คุณผู้ฟังครับ แม้จุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมนสามารถลดพิษของไซยาไนด์ได้ แต่ถ้ามีไซยาไนด์บางส่วนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เนื้อเยื่อทุกชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงโคจะมีกลไกในการลดความเป็นพิษของไซยาไนด์ โดยเฉพาะในตับ ไต ต่อมหมวกไต ต่อมไธรอยด์ และตับอ่อนโดยทำปฏิกิริยากับสารไธโอซิสเตอีน หรือไธโอซัลเฟต ซึ่งมีเอนไซม์โรดานีส เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยานี้ก็จะให้สารไธโอไซยาเนท แล้วสารตัวนี้เองจะถูกขับออกทางต่อมน้ำนม น้ำลาย น้ำตา และน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร รวมทั้งของเหลวบริเวณเยื่อบุผิวของระบบทางเดินหายใจ ถ้าสารไธโอไซยาเนทถูกขับออกทางต่อมน้ำนม จะเข้าร่วมปฏิกิริยากับระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดส เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโต หรือทำลายจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในน้ำนมได้
ระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดส เป็นระบบที่มีตามธรรมชาติในต่อมน้ำนม ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เอนไซม์แลคโตเพอร์ออกซิเดส ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ และสารไธโอไซยาเนท การทำปฎิกิริยาของระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดส จะให้สารที่มีคุณสมบัติต่อต้าน ยับยั้งจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส
เอนไซม์แลคโตเพอร์ออกซิเดส มักจะพบในต่อมน้ำนม น้ำลายและน้ำตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสารคัดหลั่งจากสัตว์เหล่านี้จะมีปริมาณแลคโตเพอร์ออกซิเดส แตกต่างกัน ในน้ำนมโคมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.4 ยูนิต/มิลลิตร
ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ เป็นสารที่จำเป็นต่อปฏิกิริยาการยับยั้งจุลินทรีย์ร่วมกับเอนไซม์แลคโตเพอร์ออกซิเดส ในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ในน้ำนมดิบ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ พบปริมาณน้อยในเนื้อเยื่อ ส่วนแบคทีเรียพวก Lactobacilli, Lactococciและ Streptococci หลายชนิดสามารถผลิตไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ภายใต้สภาวะที่ใช้ออกซิเจนได้เพียงพอต่อปฏิกิริยาในระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดส ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
สารไธโอไซยาเนท จะพบทั่วไปในเนื้อเยื่อของสัตว์ เช่น เต้านม ต่อมน้ำลาย ต่อมไธรอยด์และสารคัดหลั่ง เช่น น้ำนม น้ำลาย ปริมาณสารไธโอไซยาเนทในน้ำนมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับสารไธโอไซยาเนทในเลือด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง และแตกต่างกันไปตามชนิด พันธุ์ และอาหารที่สัตว์ได้รับ
ปริมาณไธโอไซยาเนทในน้ำนมดิบ เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่โคได้รับ พืชต่างๆ ประมาณ 3,000-12,000 ชนิด รวมทั้งมันสำปะหลัง จากการศึกษาจะพบว่าแม่โคที่ได้รับใบ และต้นอ่อนมันสำปะหลังแห้งเป็นอาหาร จะทำให้ปริมาณไธโอไซยาเนทในน้ำนมดิเพิ่มขึ้นจาก 5.3 พีพีเอ็ม เป็น 13 และ 17 พีพีเอ็ม โดยไธโอไซยาเนทที่เหมาะสมต่อระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดสในน้ำนมดิบไม่ควรเกิน 20 พีพีเอ็ม ครับ
และคุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า ระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดสในน้ำนม มีผลยับยั้งและทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในน้ำนมได้หลายชนิดเลยนะครับ
คุณผู้ฟังครับ ในการประชุม Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additive (JECFA) ครั้งที่ 35 ปี 1989 และ Codex Alimentarius Commission ปี 1991 อนุญาตให้ใช้วิธีการกระตุ้นการทำงานของระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดสเพื่อรักษาคุณภาพน้ำนมดิบได้ โดยการเติมไธโอไซยาเนท ในรูปผงประมาณ 10 พีพีเอ็ม ผสมให้เข้ากันประมาณ 30 วินาที จากนั้นเติมไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ในรูปของโซเดียมคาร์บอเนทเพอร์ออกซิไฮเดรท ปริมาณ 8.5 พีพีเอ็ม สามารถยืดอายุน้ำนมดิบได้นานถึง 6 ชั่วโมง โดยไม่ต้องทำความเย็น ซึ้งวิธีนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในแถบภูมิประเทศที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าสำหรับเครื่องทำน้ำเย็น เช่น เคนยา ศรีลังกา และจีน สามารถใช้วิธีนี้เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนมดิบก่อนส่งถึงโรงงานได้ ส่วนในประเทศไทยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไม่ได้รับอนุญาตให้เติมสารใดๆ ลงในน้ำนมดิบได้
ดังนั้นการใช้ใบมันสำปะหลังแห้งเป็นอาหารของโคนม จะช่วยเพิ่มปริมาณไธโอไซยาเนท และกระกตุ้นการทำงานของระบบแลคโตเพอร์ออกซิเดสในต่อมน้ำนมและน้ำนมดิบ เพื่อยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ต่างๆในน้ำนม เพื่อช่วยลดการเกิดโรคเต้านมอับเสบในโคนม และรักษาคุณภาพน้ำนมดิบได้ และผลของการจับตัวของแทนนิน-โปรตีนคอมเพล็กซ์ ในใบสำปะหลังแห้งที่ได้กล่าวมา ก็เป็นเพิ่มการไหลผ่านของโปรตีน ไปสู่ส่วนของกระเพาะแท้ และลำไส้เล็ก โปรตีนจะถูกย่อยละดูดซึมเข้าสู่ร่างกายสัตว์ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างน้ำนมได้ดีขึ้น
คุณผู้ฟังครับ กระผมหวังว่าสาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ คุณผู้ฟังสามารถติชมรายการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยการเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903” หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 ครับ และสำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ