การปลูกเผือก
[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=AMlLCiVSmjk[/youtube]
บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 1 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2557
เรื่อง การปลูกเผือก
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
………………………………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกับรายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก. ” ซึ่งออกอากาศ ทางสถานี วิทยุ มก. แห่งนี้ เป็นประจำทุกวันเสาร์ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำหรับวันนี้กระผมขอเสนอ เรื่อง “ การปลูกเผือก” ครับ
คุณผู้ฟังครับ เผือกเป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่สำคัญอีกพืชหนึ่ง คนไทยนิยมบริโภคเผือกเพราะมีกลิ่นหอมและรสชาดดี เป็นพืชหัวที่เป็นพืชอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง หัวเผือกจะมีส่วนประกอบเป็นพวกแป้งและแร่ธาตุต่าง ๆ ส่วนใบประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ ซึ่งใบเผือกสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย และมีเผือกบางประเภทที่ใช้ใบสำหรับบริโภคซึ่งหัวจะมีขนาดเล็กไม่เหมาะต่อการบริโภค ปัจจุบันเผือกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศครับ
คุณผู้ฟังครับ เผือกเป็นพืชหัวที่มีต้นคล้ายบอน มีความต้องการน้ำ หรือความชื้นในการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง เผือกจึงชอบดินที่อุดมสมบูรณ์ และสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มาก สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยในแหล่งที่มีระบบน้ำชลประทานดีจะสามารถปลูกเผือกได้ตลอดทั้งปี ส่วนในแหล่งที่มีน้ำจำกัดควรปลูกเผือกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เผือกปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน สภาพไร่ ที่ราบสูงไหล่เขา และปลูกได้ในดินหลายชนิด ยกเว้นดินลูกรัง ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเผือกมากที่สุด นั่นก็คือ ดินร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุสูง หน้าดินลึก ระบายน้ำดี โดยปกติจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักจำนวนมากก่อนปลูกโดนหว่าน และไถกลบก่อนปลูก 2 – 3 เดือน และเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน และโปรแตสเซียม ระหว่างพืชเจริญเติบโตจะให้ผลดีครับ ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน อยู่ที่ระหว่าง 5.5 – 6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตประมาณ 21 – 27 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปจะปลูกเผือกในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ เผือกเป็นพืชหัวที่มีลำต้นใต้ดินสะสมอาหารเรียกว่า หัวซึ่งเกิดจากการขยายของลำต้นใต้ดิน พร้อมกับความยาวของลำปล้องลดลง เมื่อหัวมีขนาดใหญ่จะมีรากช่วยดึงหัวให้ลึกลงในดิน ที่ปลายรากเหล่านี้จะพองโตขึ้นเป็นหัวย่อยที่มีขนาดเล็ก หรือเรียกว่า ลูกเผือก ซึ่งจะทำหน้าที่ยึดลำต้น ช่วยดูดน้ำและแร่ธาตุ และสามารถใช้เป็นส่วนที่ขยายพันธุ์ได้ต่อไปครับ
คุณผู้ฟังครับ ใบเผือกมีรูปร่างคล้ายหูช้าง หรือคล้ายหัวใจ ขนาดใบกว้างประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร ยาว 35 – 45 เซนติเมตร ก้านใบยาว 45 – 150 เซนติเมตร เผือกต้นหนึ่งจะมีก้านใบประมาณ 12 – 18 ก้าน สีของก้านใบ ลักษณะใบและขอบใบจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ เช่น ก้านใบจะมีสีเขียวอ่อนเขียวเข้ม ม่วง หรือจุดสีม่วง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ปลายใบอาจแหลมหรือมน ตัวใบอาจจะหนาและเป็นมันหรือบางและด้านครับ
ดอกจะมีลักษณะเป็นช่อดอก มีดอกย่อยเกาะติดกับก้านดอกเดียวกัน ดอกย่อยจะเริ่มบานจากดอกที่อยู่ล่างสุดขึ้นไปทางปลายช่อ ไม่มีก้านดอกย่อย ดอกจะเกาะติดกับก้านดอกเดี่ยว ซึ่งลักษณะยาวและมีจานหุ้มช่อดอกไว้ ช่อดอกมีขนาดยาว 10 – 15 เซนติเมตร จำนวนช่อดอกประมาณ 5 – 15 ช่อต่อต้น ช่อดอกมีก้านยาว 15 – 30 เซนติเมตร ดอกเผือกมีสีขาวครีม และสีเหลืองอ่อน แตกต่างกันไปตามพันธุ์ บางพันธุ์ออกดอกง่าย แต่บางพันธุ์ออกดอกยาก เผือกที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่ออกดอกครับ
ผลของเผือกมีขนาดเล็ก เป็นผลเล็ก ๆ เกาะกลุ่มอยู่ในก้านดอกเดี่ยวกัน ผลจะมีสีขาวเปลือกบาง เนื้อผลอวบน้ำ เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำภายในผลจะมีเมล็ดเล็ก ๆ อยู่จำนวนมากครับช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อครับ คุณผู้ฟังครับ ประเทศไทยมีเผือกมากมายหลายพันธุ์อยู่ด้วยกัน ทางศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรได้รวบรวมพันธุ์เผือกจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 50 พันธุ์ สามารถจำแนกพันธุ์เผือกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ครับ จำแนกตามกลิ่นของหัว มีสองประเภท คือ เผือกหอม เผือกชนิดนี้เวลาต้มหรือประกอบอาหารจะมีกลิ่นหอมได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์ พจ. 016 พจ.08 และพจ.019 อีกประเภทหนึ่งคือ เผือกชนิดไม่หอม เผือกชนิดนี้เวลาต้มหรือประกอบอาหารจะไม่มีกลิ่นหอม แต่เผือกชนิดนี้บางพันธุ์ถึงแม้จะไม่มีกลิ่นหอมแต่ก็มีข้อดีตรงที่มีลักษณะเนื้อเหนียวแน่น น่ารับประทานเช่นกัน ได้แก่ เผือกพันธุ์ พจ.06 และพจ.012
และการจำแนกอีกวิธีหนึ่ง คือ จำแนกตาม สีของเนื้อเผือก มี 2 ประเภทด้วยกันครับ คือ เผือกเนื้อสีขาวหรือสีครีม เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าดูเนื้อในจะพบว่ามี สีขาว หรือสีขาวครีม ได้แก่เผือกพันธุ์ พจ.06 พจ.07 พจ.025 พจ.014 พันธุ์ศรีปาลาวี และพันธุ์ศรีรัศมี
เผือกเนื้อสีขาวปนม่วง เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าหัวดูเนื้อ จะพบว่ามีสีขาวลายม่วงปะปนอยู่ ซึ่งจะมีสีม่วงมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์ พจ.016 พจ.08 พจ.05 และพจ.020
นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกเผือกตามจำนวนหัวขนาดใหญ่ต่อต้น คือ เป็นหัวใหญ่หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งหัวต่อต้น จำแนกตามการแตกกอ เช่น แตกกอน้อย 3 – 10 ต้น ปานกลาง 10 – 20 ต้น และมาก คือมากกว่า 20 ต้นขึ้นไป
คุณผู้ฟังครับ เผือกเป็นพืชหัวที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ดังนี้ การเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายแต่ใช้เวลานานกว่าจะย้ายปลูกลงแปลงได้ และในประเทศไทยเผือกแต่ละพันธุ์มีการออกดอกและติดเมล็ดน้อยเกษตรกรไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์เผือกที่ปลอดจากเชื้อที่ติดมากับต้นพันธุ์ได้เป็นปริมาณครั้งละมาก ๆ แต่ต้นทุนการผลิตสูงเกษตรกรยังไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ การขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ เป็นส่วนที่แตกออกมาเป็นต้นเผือกขนาดเล็กอยู่รอบ ๆ ต้นใหญ่ เมื่อแยกออกมาจากต้นใหญ่ หรือต้นแม่แล้วสามารถนำไปลงแปลงได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเพาะชำ การขยายพันธุ์โดยการใช้หัวพันธุ์ หรือที่เกษตรกรเรียกว่า ลูกซอหรือลูกเผือก ซึ่งเป็นหัวขนาดเล็กที่อยู่รอบ ๆ หัวเผือกขนาดใหญ่ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทั่วไปทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ในการปลูกในแต่ละครั้ง ควรเลือกเผือกที่มีขนาดปานกลางไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป หัวพันธุ์ที่มีขนาดสม่ำเสมอจะทำให้เผือกที่ปลูกแต่ละต้นลงหัวในเวลาใกล้เคียงกัน เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน และที่สำคัญจะทำให้ไม่มีหัวขนาดเล็กและใหญ่แตกต่างกันมาก
ประเทศไทยสามารถปลูกเผือกได้ทั่วทุกภาค และทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ซึ่งถ้าเป็นแหล่งที่มีน้ำชลประทานดีอยู่แล้ว เกษตรกรจะปลูกเผือกเมื่อไรก็ได้ แต่โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกเผือกในช่วงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และฤดูแล้งช่วงหลังการทำนาเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ในช่วงฤดูฝนจะปลูกมากในสภาพพื้นที่ดอน อาศัยน้ำฝน มีบางท้องที่ปลูกในสภาพพื้นที่ลุ่ม หรือที่นา ฤดูแล้ง ปลูกหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วภายในเดือนธันวาคม จะปลูกผักก่อนการปลูกเผือก ในเขตชลประทานจะสามารถปลูกเผือกได้ตลอดทั้งปีครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ เผือก เป็นพืชหัวที่เก็บรักษาได้นานพอสมควร หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรนำเผือกไปไว้ในที่ร่มเงามีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับลมเป็นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น เช่น ใต้ร่มไม้ หรือใต้ถุนบ้านเป็นต้นครับ ต่อจากนั้นทำการแยกดินที่ติดกับหัวและแยกรากแขนง คัดแยกหัวแต่ละขนาด เช่น ใหญ่พิเศษ ใหญ่ กลาง และเล็ก แล้วบรรจุใส่ภาชนะที่เหมาะสม เช่น ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ แบบเจาะรูได้ หรืออาจเป็นเข่งหรือลังพลาสติก
ข้อควรปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาหัวเผือกไว้ให้ได้นานที่สุดและไม่เน่าเสียง่ายมีดังนี้ครับ ก่อนขุดหัวเผือกประมาณ 15 – 30 วัน ไม่ควรเอาน้ำเข้าแปลงหรือรดน้ำแปลงเผือก เพราะเผือกจะดูดซึมน้ำไว้มาก เก็บไว้ไม่ได้นาน ขุดเผือกเฉพาะเมื่อเผือกมีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่ควรเก็บเกี่ยวเผือกเมื่อมีอายุน้อยเกินไปจะเน่าเสียได้ง่าย ในการขุดเผือกในแต่ละครั้ง ควรขุดเผือกด้วยความระมัดระวังอย่าให้หัวเผือกมีบาดแผลบอบซ้ำเผือกจะเน่าเสียได้ง่าย เมื่อพบว่าเผือกมีบาดแผลควรแยกไว้ต่างหากไม่ปะปนกัน กรณีที่จะขนส่งเผือกไปไกลๆ หรือจะเก็บเผือกไว้นานหลายเดือนไม่ควรล้างดินออก ผึ่งให้แห้งสนิทอย่าให้เปียกชื้นก่อนที่จะนำเข้าไปเก็บในโรงเก็บ หรือขนส่งไกล ๆ ต่อไป ในการขนส่งควรมีภาชนะใส่เผือกที่เหมาะสม ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นจะใส่กล่องกระดาษสามารถใส่เผือกซ้อนกันได้ โดยเผือกไม่ทับถมกันเป็นปริมาณมาก ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะนำเผือกใส่ถุงพลาสติกแล้วขนซ้อนกันเป็นปริมาณมาก จึงมีผลหรือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเก็บรักษาเผือกได้ไม่นาน ไม่ควรนำเผือกที่เก็บเกี่ยวได้มาสุมกองกันเป็นปริมาณมาก หรือขึ้นไปเหยียบย้ำเผือก ควรนำเผือกที่จะเก็บรักษาไว้นาน ๆ มาเก็บไว้เป็นชั้น ๆ ห้องที่เก็บรักษาหัวเผือกนั้น จะต้องมีการระบายอากาศได้สะดวกอุณหภูมิประมาณ 10 – 15 องศาเซลเซียส
หากมีความจำเป็นต้องเก็บรักษาควรตัดใบ และรากทั้งหมดออกไม่ควรล้างน้ำ การเก็บรักษาหัวเผือก โดยการจุ่มลงไปในสารป้องกันเชื้อรา แคปแทน หรือ เบนเลท ความเข้มข้น 500 ส่วนในล้านส่วน แล้วเก็บรักษาไว้ในบ่อดินจะทำให้หัวเผือกเน่าเสียลดลง ได้ผลกว่าการเก็บรักษาในขี้เลื่อยแห้ง ขี้เลื่อยชื้นและถุงพลาสติก หัวย่อยหรือลูกเผือกที่เก็บรักษาไว้ในบ่อดินใต้สภาพร่มและป้องกันน้ำฝนได้จะเก็บรักษาไว้ได้นาน 6 – 10 เดือน อายุการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับขนาดหัว คือเผือกที่มีขนาดหัวเล็กจะเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าเผือกที่มีขนาดหัวใหญ่ นอกจากจะเก็บรักษาเผือกในรูปหัวเผือกสดแล้ว ยังสามารถเก็บรักษาเผือกในรูปเผือกแห้ง โดยทำการปอกเปลือกแล้วผ่าเผือกเป็นแผ่นบาง ๆ ตากเผือกให้แห้งสนิท เมื่อจะนำมาบริโภค ก็สามารถนำไปนึ่ง ทอด หรือบด เป็นแป้งเผือกได้ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับ โรคของเผือกที่สำคัญ คือ โรคใบไหม้ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา อาการที่พบ คือ เกิดจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ขนาดหัวเข็มหมุด ถึงขนาดเหรียญบาท ปรากฏเห็นชัดบนผิวใบแผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวง ๆ ต่อกัน ลักษณะพิเศษ คือ บริเวณขอบแผลมีหยดสีเหลืองข้น ซึ่งต่อมาแห้งเป็นเม็ด ๆ เกาะอยู่เป็นวง ๆ เมื่อบีบจะแตกเป็นผงละเอียด สีสนิม ในระยะที่รุนแรงแผลขยายติดต่อกัน และทำให้ใบม้วนพับเข้าและแห้งเหี่ยว หรืออาจเน่าและถ้าอากาศชื้นมีฝนพรำ สำหรับอาการที่บนก้านใบ จะเกิดแผลฉ่ำน้ำยาวรี สีน้ำตาลอ่อน แผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวง ๆ เช่นกัน ต่อมาจะเน่า แห้ง เป็นสีน้ำตาล มีหยดสีเหลืองข้นด้วยทำให้ก้านต้านทานน้ำหนักใบไม่ได้จึงหักพับ มีผลทำให้ใบแห้ง พบมากในระยะโรครุนแรง และมีลมพัด อาการเป็นระยะนี้ทำให้ผลผลิตลดลง และเชื้อนี้อาจเข้าทำลายหัวเผือกด้วยทำให้หัวเผือกเน่าเสียหายได้
ความสัมพันธ์ของความชื้นและอุณหภูมิจะมีผลต่อการเกิดโรคเชื้อราทำให้โรคมีการระบาดรุนแรงหากช่วงที่ได้รับเชื้อ มีฝนตกพรำตอนใกล้รุ่ง และตอนเช้าติดต่อกัน มีฝนพรำทั้งวัน และมีลมอ่อน ๆ เนื่องจากสภาพดังกล่าวเหมาะสมต่อการสร้างสปอร์เชื้อรา ซึ่งเชื้อสร้างสปอร์บนใบเผือกได้ดีหากมีความชื้นสูง และอุณหภูมิต่ำ
โรคนี้เป็นโรคที่รุนแรงที่สุดของเผือกที่พบในประเทศไทยและในต่างประเทศ โรคนี้เริ่มระบาดเมื่อมีฝนตกและอากาศชุ่มชื้น ถ้ามีฝนตกหนักและติดต่อกันหลาย ๆ วัน โรคจะระบาดอย่างรวดเร็ว ในแปลงที่เป็นรุนแรง เผือกจะมีใบเหลือประมาณต้นละ 3 – 4 ใบ เท่านั้น เผือกที่เป็นโรคนี้ถ้ายังไม่เริ่มลงหัว หรือลงหัวไม่โตนักจะเสียหายหมด หัวที่จะลงไม่ขยายเพิ่มขนาดขึ้น ในช่วงที่หมอกลงจัดเผือกจะเป็นโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน
ป้องกันได้โดย หากพบว่าในเผือกเริ่มเป็นโรคใบจุดตาเสือ ให้ตัดใบเผือกที่เป็นโรคไปเผาทำลายให้หมด ไม่ควรปล่อยทิ้งหลงเหลืออยู่ในแปลง เชื้อราจะปลิวไปยังต้นเผือกต้นอื่น ๆ ได้ ใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคใบจุดตาเสือ ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดมาก ๆ ควรเปลี่ยนใช้พันธุ์เผือกที่ทนทานต่อโรคใบจุดตาเสือมาปลูกแทน เช่น พันธุ์ พจ. 06 แยกแปลงปลูกเผือกให้ห่างกันเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค ไม่ควรเดินผ่านแถวเผือกในขณะที่แปลงเผือกชื้นแฉะ เพราะทำให้เพิ่มการะบาดของเชื้อ ใช้สารเคมี ได้แก่ ริโดมิล อัตรา 2 – 3 กรัมต่อต้น หยอดลงไปที่โคนต้นจะสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 1 เดือน หรือใช้สารคูปราวิท 50 % อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น 5 – 7 วันต่อครั้ง และเนื่องจากเผือกมีใบลื่นมาก การฉีดสารเคมีทุกครั้งจึงควรใช้สารจับใบผสมลงไปด้วย เพื่อให้สารเคมีจับใบเผือกได้นาน
และอีกโรคหนึ่งคือ โรคหัวเน่า โรคนี้อาจเกิดได้ระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือก หรือปล่อยทิ้งไว้ในแปลงปลูกนานเกินไป หรือมีน้ำท่วมขังแปลงปลูกเผือกในช่วงเผือกใกล้เก็บเกี่ยว ป้องกันได้โดย พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้หัวเผือกที่ใกล้ช่วงเก็บเกี่ยวได้รับน้ำหรือความชื้นมากเกินไป ถ้ามีน้ำท่วมขังควรสูบน้ำออก ในระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือกในโรงเก็บน้ำควรระมัดระวังไม่ให้หัวเผือกชื้น และไม่ควรกองหัวเผือกสุมกันมาก ๆ ควรทำเป็นชั้น ๆ จะได้ระบายถ่ายเทอากาศได้สะดวก
คุณผู้ฟังครับ แมลงศัตรูพืชที่พบในเผือก นั่นก็คือ หนอนกระทู้ผัก เป็นแมลงศัตรูเผือกที่ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป แมลงชนิดนี้มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น บัวหลวง และพืชผักชนิดต่าง ๆ ลักษณะและการทำลาย เริ่มแรกผีเสื้อจะวางไข่ไว้ตามใบเผือก แล้วฟักตัวออกเป็นตัวหนอนอยู่เป็นกลุ่มกัดกินใบเผือกด้านล่าง เหลือไว้แต่ผิวใบด้านบน เมื่อผิวใบแห้งจะมองเห็นเป็นสีขาว ถ้าหนอนกระทู้ผักระบาดมากจะกัดกินใบเผือกเสียหายทั่วทั้งแปลงได้ ทำให้เผือกลงหัวน้อย ผลผลิตต่ำ ส่วนเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงศัตรูของเผือกอีกชนิดหนึ่งที่ระบาดเฉพาะแหล่ง มีขนาดเล็กตัวอ่อนมีสีน้ำตาล โดยเพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบและยอดอ่อนของเผือกทำให้เผือกแคระแกรน ไม่ค่อยเจริญเติบโตได้ ส่วน ไรแดง เป็นแมลงศัตรูขนาดเล็กที่ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป ไรแดงมีรูปร่างคล้ายแมงมุม ตัวเล็กมาก ลำตัวสีแดง พบอยู่ตามใต้ใบเผือกและยอดอ่อน โดยไรแดงจะใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยง บริเวณใต้ใบเผือก ทำให้เกิดเป็นรอยจุด สีน้ำตาลหรือสีขาวอยู่ทั่วไป ถ้าระบาดมากใบเผือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวกลายเป็นสีเทา แล้วแห้งในที่สุด ไรแดงเผือกจะพบระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงเผือกขาดน้ำครับ
คุณผู้ฟังครับและเวลาสำหรับรายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก. ” ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้วครับ พบกับรายการนี้ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….
…………………………………..