การผลิตกล้ายางพาราเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตยางพาราของประเทศ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=shN0zT6NIeY[/youtube]

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 18  เดือน ตุลาคม  พ.ศ. 2556

เรื่อง การผลิตกล้ายางพาราเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตยางพาราของประเทศ

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………………………

 

 

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

 

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่าน พบกันอีกครั้งน่ะครับ ช่วงนี้ฝนตกบ่อยดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยน่ะครับ วันนี้เรามาฟังกันเรื่องการผลิตกล้ายางพันธุ์ดีที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆที่สามารถส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำยางให้สูงขึ้นครับ  เนื่องจากต้องมีการปลูกสร้างสวนยางใหม่อยู่ทุกปีไม่ว่าจะเป็นการปลูกในพื้นที่ใหม่หรือการปลูกทดแทนสวนเก่าที่เสื่อมสภาพไป  สถาบันวิจัยยางได้ประเมินการปลูกยางในภาพรวมไว้ที่ประมาณ 3-4 แสนไร่ต่อปีซึ่งจะต้องใช้ต้นกล้ายางพันธุ์ดีถึงปีละกว่า 40 ล้านต้น แต่ด้วย การที่ต้องผลิตเป็นจำนวนมากจึงเป็นไปได้ที่กล้ายางบางส่วนอาจไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งก็จะส่งผลถึงปริมาณและคุณภาพของน้ำยางพาราและเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น   การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีและวิชาการใหม่ๆ ตลอดจนการลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย จึงเป็นแนวทางสำคัญอย่างยิ่งที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตยางพาราของประเทศได้ครับ  ดังนั้นโครงการวิจัยของนางวีระศรี เมฆตรง ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร จึงมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการผลิตกล้ายางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ตามมาตรฐาน มีเปอร์เซ็นต์รอดตายสูง  ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่ การจัดการด้านเมล็ดพันธุ์  การจัดการแปลงเพาะต้นตอตลอดถึงการใช้วัสดุปลูกที่เหมาะสมเพื่อเลี้ยงกล้าให้สมบูรณ์และขนย้ายได้สะดวกในปริมาณมาก ๆ ครับ ช่วงนี้พักกันสักครู่น่ะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ ช่วงนี้เรามาฟังกันในวิธีของการวิจัยกันนะครับ

วิธีของการวิจัยมีดังนี้ครับ

การทดลองที่ 1    การพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของยางพาราสำหรับการผลิตต้นตอยาง

ของขนาดเมล็ดที่มีต่อคุณภาพของเมล็ด

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ RRIM600 ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงเกษตรกร บริเวณสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์   เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553  และส่งเข้าห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์ ภาควิชา พืชสวน คณะเกษตร

2. ชั่งน้ำหนัก 100 เมล็ด ของเมล็ดที่มีอายุ 2, 5, 10, 15, 20, 25 และ 30 วันหลังเก็บเกี่ยว

(จำนวน 3 ซ้ำ)

3. เพาะทดสอบความงอกของเมล็ดในกระบะทรายที่ฆ่าเชื้อแล้ว โดยใช้เมล็ดที่มีอายุ 2, 5, 10, 15 และ 20 วันหลังเก็บเกี่ยว

การทดลองที่ 2 การศึกษาการจัดการแปลงเพาะต้นตอยางพารา

          ปัจจัยที่ศึกษามี  3 ปัจจัยคือ

  1. ความลึกของแปลงเพาะต้นตอยางพารามี  2  ระดับ คือ

ลึก  20  เซนติเมตร

ลึก  30  เซนติเมตร

  1. วัสดุปลูก  7  ชนิด ส่วนผสมเป็นสัดส่วนโดยปริมาตรของดินเดิมแปลงปลูก มีส่วนผสมดังนี้

ขุยมะพร้าว:ดิน    1:1

ขุยมะพร้าว:ดิน    2:1

ขุยมะพร้าว:ดิน:ทราย    1:1:1

กาบมะพร้าวสับ:ดิน    1:1

กาบมะพร้าวสับ:ดิน    2:1

กาบมะพร้าวสับ: ดิน:ทราย    1:1:1

  1. การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงเพาะ

ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด  200  ก.ก./ไร่

ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด  400  ก.ก./ไร่

-วางแผนการทดลองโดยใช้แปลงทดลองขนาด  2×4  เมตร  จำนวน   84  แปลง

 

การทดลองที่ 3 การทดสอบภาชนะปลูกและวัสดุปลูกที่เหมาะสมกับต้นตอยางพารา

1.  วัสดุปลูกที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ มี 3 ชนิดได้แก่  ดินเหนียว  ขุยมะพร้าว ขี้เลื้อย

2.  ภาชนะปลูกที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ ได้แก่  ถุงขนาด 4×13 นิ้ว และ 6×14 นิ้ว

3.  เชื้อไมคอร์ไรซา

4.  แผนผังการทดลองเป็นแบบ Factorial Randomized Complete Block Design จำนวน 4 ซ้ำแต่ละซ้ำใช้เมล็ดยางพารา 16  ตัวอย่าง  ครับคุณผู้ฟัง ช่วงนี้พักกันสักครู่น่ะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

กลับมาฟังกันต่อน่ะครับ มาฟังผลและวิจารณ์กันน่ะครับ

 

การทดลองที่ 1    การพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ยางพาราสำหรับการผลิตต้นตอยาง  เป็นการศึกษาอิทธิพล

ของขนาดเมล็ดที่มีต่อคุณภาพของเมล็ด

 

น้ำหนัก 100 เมล็ด

ชั่งน้ำหนัก 100 เมล็ดของเมล็ดที่มีอายุ 2, 5, 10, 15, 20, 25 และ 30 วันหลังเก็บเกี่ยว  โดยบันทึกข้อมูลระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม – 3 กันยายน พ.ศ. 2553 ในสภาพอุณหภูมิห้องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ในช่วง 27.5 – 30.5 องศาเซลเซียส พบว่า ในระยะ 5 วันแรก เมล็ดมีอัตราการสูญเสียน้ำหนักสดค่อนข้างสูงและยังลดลงอย่างต่อเนื่อง (ตาราง 1) เมล็ดที่อายุ 2-5 วันหลังเก็บเกี่ยวมีแนวโน้มว่ามีเปอร์เซ็นต์ความชื้นในเมล็ดสูงที่สุด จึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เมล็ดยางพารามีเปอร์เซ็นต์ความงอกลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากเมล็ดหล่นจากต้นและเก็บเมล็ดไว้ในสภาพปกติ คือ อุณหภูมิห้อง ทั้งนี้เนื่องจากเมล็ดพืชบางชนิดจะสูญเสีย การเจริญเติบโตได้ ถ้าความชื้นในเมล็ดต่ำลง เช่น จากการศึกษาถึงความชื้นของเมล็ด เมเปิ้ลพบว่าเมล็ดมีความชื้น 58 เปอร์เซ็นต์เมื่อเมล็ดแก่ในเดือนมิถุนายน และจะสูญเสีย การเจริญเติบโตเมื่อความชื้นลดลงมาเหลือ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมล็ดยางจะมีการเจริญเติบโตนานขึ้น

คุณผู้ฟังครับ ในการประเมินผลการทดสอบการงอกของเมล็ดพิจารณาที่ความสามารถในการงอก ของเมล็ดโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การงอกทั้งหมดของเมล็ด สำหรับค่าประเมินอัตราการงอก พิจารณาจากค่า Mean Germination Time หรือ MGT ซึ่งเป็นค่าที่ใช้สำหรับการประเมินความแข็งแรงของเมล็ด

เปอร์เซ็นต์การงอกทั้งหมดของเมล็ด  เมล็ดมีความงอกต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  ความงอกลดลงตามอายุการเก็บรักษาที่มากขึ้น และสูญเสียความงอกทั้งหมดตั้งแต่อายุ 15 วันหลังเก็บเกี่ยว แสงมีผลต่อเปอร์เซ็นต์ความงอก  คือเมื่ออายุการเก็บรักษามากขึ้นเมล็ดที่เพาะในที่มืดจะมีความงอกสูงกว่าในที่สว่าง และเมื่อพิจารณาค่า MGT พบว่า การเพาะในที่สว่างมีแนวโน้มว่ามีค่า MGT ต่ำกว่าเมื่อเพาะในที่มืด ครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับ เมล็ดที่อายุหลังเก็บเกี่ยวมากขึ้น มีแนวโน้มว่าจะให้จำนวนต้นกล้าปกติลดน้อยลง แต่ต้นกล้าที่ได้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากกว่าต้นกล้าที่เกิดจากเมล็ดที่เก็บรักษาไว้ในระยะเวลาน้อยกว่า ครับ

 

มาต่อกันที่การทดลองที่ 2 กันน่ะครับ การศึกษาการจัดการแปลงเพาะต้นตอยางพารา

1.ขุดดินเดิมในแปลงทดลองออกตามความลึกที่กำหนด 20 และ 30 เซนติเมตร แล้วผสมวัสดุปลูกตามอัตราส่วนของตำรับทดลอง อัดส่วนผสมในแปลงให้แน่นเพื่อป้องกันการยุบตัวระหว่างการทดลอง

 

2. เพาะเมล็ดยางพาราโดยชักร่องตามความยาวของแปลง แปลงละ 3 แถว   ระยะห่างระหว่างแถวเท่ากับ 90  เซนติเมตร   เว้นขอบแปลงข้างละประมาณ 5 เซนติเมตร    ขุดร่องลึกประมาณ 8-10 เซนติเมตร   โรยปุ๋ยคอกปั้นเม็ดในร่องแปลง ตำรับปุ๋ยอัตรา 200 กก./ไร่  ใช้ปุ๋ยแปลงละ 1 กก.   และตำรับปุ๋ยอัตรา 400 กก./ไร่  ใช้ปุ๋ยแปลงละ 2 กก.

 

– หยอดเมล็ดวันที่ 10 สิงหาคม 2553     โดยวางเมล็ดยางพาราลงร่องแปลง  ใช้เมล็ดในอัตรา  500 กก./ไร่ (เท่ากับ 1 แปลงใช้เมล็ดยาง  2.5 กก.)  กลบวัสดุปลูกให้เท่าระดับดินในแปลง

– ใช้เมล็ดยางพาราพันธุ์ RRIM  600  ที่มีอายุ  7  วันหลังเก็บจากต้น

 

ผลการทดลอง   ยังไม่สามารถบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตได้

 

 

มาต่อกันกับการทดลองที่ 3 น่ะครับ การทดสอบภาชนะปลูกและวัสดุปลูกที่เหมาะสมกับต้นตอยางพารา

 

การศึกษาอิทธิพลของภาชนะปลูกและวัสดุปลูกต่อการเติบโตของต้นตอยางพาราได้ทำการเพาะเมล็ดยางพาราเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 และได้ทำการเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นตอยางพาราทุกเดือน ซึ่งมีผลการทดลองดังต่อไปนี้

 

การเติบโตทางความสูง

 

เมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 1 เดือน ต้นตอยางพารามีความสูงเฉลี่ย  24.80 เซนติเมตร  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวมีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ  26.37 เซนติเมตร

เมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 2 เดือน ต้นตอยางพารามีความสูงเฉลี่ย  36.84 เซนติเมตร  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวมีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ 38.52 เซนติเมตร ครับ

เมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 3 เดือน ต้นตอยางพารามีความสูงเฉลี่ย  41.78 เซนติเมตร  แต่ต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็กมีความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวมีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ  44.04 เซนติเมตรครับ

และเมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 4 เดือน ต้นตอยางพารามีความสูงเฉลี่ย  47.06 เซนติเมตร  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็กมีความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่ และต้นตอ ยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวมีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ 50.46 เซนติเมตร ครับ

จากการทดสอบทางสถิติพบว่าความสูงเฉลี่ยของต้นตอยางพาราอายุ 1 เดือนและ 4  เดือนที่ปลูกในวัสดุปลูกต่างชนิดกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% แต่ความสูงเฉลี่ยต้นตอยางพาราที่ปลูกในภาชนะขนาดต่างกันไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ครับ ช่วงนี้พักกันสักครู่น่ะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

          อัตราการเติบโตทางความสูง

ภายหลังการปลูกต้นตอยางพาราได้ 1 เดือน  พบว่า ต้นตอยางพารามีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ย  24.80 เซนติเมตร/เดือน  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวมีอัตรา การเติบโตทางความสูงเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด คือ  26.37 เซนติเมตร/เดือน

เมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 2 เดือน  ต้นตอยางพารามีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ย  12.06 เซนติเมตร/เดือน โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวผสมขุยมะพร้าวมีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ 12.62 เซนติเมตร/เดือน

เมื่อต้นตอยางพาราอายุ 3 เดือน มีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ย  4.41 เซนติเมตร/เดือน  แต่ต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็กมีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวผสมเชื้อไมคอร์ไรซามีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ  5.12 เซนติเมตร/เดือน

และเมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 4 เดือน ต้นตอยางพารามีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ย  4.48 เซนติเมตร/เดือน  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็กมีความสูงเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวมีอัตราการเติบโตทางความสูงเฉลี่ยมากที่สุด คือ 5.61 เซนติเมตร/เดือน

อัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น

ภายหลังการปลูกต้นตอยางพาราได้ 1 เดือน พบว่า ต้นตอยางพารามีอัตราการเติบโตทางเส้น       ผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย  0.25 เซนติเมตร/เดือน  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวผสมขุยมะพร้าวมีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางมากที่สุด คือ  0.26 เซนติเมตร/เดือน

เมื่อต้นตอยางพาราอายุได้ 2 เดือน  ต้นตอยางพารามีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย  0.04 เซนติเมตร/เดือน  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวผสมเชื้อไมคอร์ไรซา, ดินเหนียวผสมขี้เลื้อย และ ดินเหนียวผสมขี้เลื้อยและเชื้อไมคอร์ไรซามีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากที่สุด คือ 0.05 เซนติเมตร/เดือน

เมื่อต้นตอยางพาราอายุ 3 เดือน ต้นตอยางพารามีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย  0.06 เซนติเมตร/เดือน โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก  และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวผสมขุยมะพร้าวมีอัตราการเติบโตทางเส้น ผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากที่สุด คือ  0.08 เซนติเมตร/เดือน

เมื่อต้นตอยางพาราอายุ 4 เดือน ต้นตอมีอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 0.05 เซนติเมตร /เดือน  โดยต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากกว่าต้นตอยางพาราที่ปลูกในถุงขนาดเล็ก และต้นตอยางพาราที่ปลูกด้วยดินเหนียวและดินเหนียวผสมเชื้อไมคอร์ไรซามีอัตราการเติบโต ทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากที่สุด คือ 0.06 เซนติเมตร/เดือน

จากการทดสอบทางสถิติพบว่าอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยต้นตอยางพาราที่อายุ 1, 2, 3 และ 4 เดือนที่ปลูกในภาชนะขนาดต่างกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95%  และอัตราการเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของต้นตอยางพาราที่อายุ 1 เดือนที่ปลูกในวัสดุปลูกต่างชนิดกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ครับคุณผู้ฟัง

มาฟังสรุปและข้อเสนอแนะกันครับ

ในเบื้องต้นสามารถสรุปได้ว่า การลดลงของความชื้นในเมล็ดหลังจากเก็บเกี่ยว มีผลต่อการสูญเสีย  การเจริญเติบโตของเมล็ดยางพารา  ขนาดของภาชนะปลูกและวัสดุปลูกชนิดต่าง ๆ น่าจะมีผลต่อการเจริญ เติบโตของต้นตอยางพาราครับคุณผู้ฟัง

สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ