การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม เพื่อการบริโภคและการส่งออก
 
ชลอ ลิ้มสุวรรณ
ภาควิชาชีววิทยาประมง  คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2940-5695

    การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันนี้ เนื่องจากกุ้งกุลาดำในหลายพื้นที่ ยังมีปัญหาการโตช้า และผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย แนวโน้มการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกพื้นที่

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งขาว
    - สายพันธุ์ที่ดี โตเร็ว ขนาดเท่าๆ กัน ผลผลิตสูง
    - ปล่อยลูกกุ้งในความหนาแน่นที่เหมาะสมกับความพร้อมของแต่ละฟาร์ม
    - มีเครื่องให้อากาศพอเพียง
    - มีน้ำเปลี่ยนถ่ายพอเพียง
    - มีบ่อพักน้ำ

อัตราการปล่อยลูกกุ้ง
    - ความเค็มต่ำ 2-3 พีพีที ไร่ละ 60,000-70,000 ตัว
    - ความเค็ม 3-5 พีพีที มีน้ำเปลี่ยนถ่ายพอเพียงและเครื่องให้อากาศดี ไร่ละ 100,000 ตัว
    - ความเค็มมากกว่า 5 พีพีที มีน้ำเปลี่ยนถ่ายพอเพียง และเครื่องให้อากาศดี ไร่ละ 120,000 ตัว

การปล่อยลูกกุ้ง
    - ความเค็มต่ำ 2-3 พีพีที ปล่อยในคอกที่มีความเค็ม 8-10 พีพีที อนุบาลในคอก 2-3 วัน
    - ความเค็มมากกว่า 3 พีพีที ควรปล่อยตรง อัตรารอดจะดีกว่าอนุบาลในคอก

การให้อาหาร
    ลูกกุ้ง 100,000 ตัวให้อาหาร 2 กก./วัน ให้อาหารวันละ 3-5 มื้อ เพิ่มอาหารไปเรื่อยๆที่อายุ 30 วัน กุ้ง 100,000 ตัว ควรจะกินอาหาร 8-12 กก./วัน มีน้ำหนัก 2.5-3.0 กรัมขึ้นกับอัตรารอด

การปรับอาหาร
    เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของกุ้ง การปรับอาหารโดยใช้ยอ มีโอกาสผิดพลาดได้ เพราะกุ้งชนิดนี้ บางครั้งไม่ค่อยเข้าไปกินอาหารในยอ ให้สังเกตจากลำไส้ ถ้ามีสีดำหรือสีเข้มจัด ซึ่งไม่ใช่สีของอาหารแสดงว่าอาหารที่ให้ในบ่อไม่เหลือ ถ้าถึงเวลาให้อาหารมื้อถัดไป แต่ในลำไส้ยังมีสีที่เป็นอาหารเม็ด แสดงว่าให้อาหารมากเกินไป

การจัดการระหว่างการเลี้ยง
    - พีเอชเหมาะสมตอนเช้าไม่ต่ำกว่า 7.5 ตอนบ่ายไม่เกิน 8.5
    - อัลคาไลน์ ไม่ควรต่ำกว่า 70 มก./ลิตร ค่าความกระด้างไม่ต่ำกว่า 1,000 มก./ลิตร
    - ถ่ายน้ำเป็นระยะๆ ไม่ให้น้ำเข้มจัด
    - มีเครื่องให้อากาศอย่างพอเพียง

ปัญหาระหว่างการเลี้ยง
    กุ้งตัวขาวขุ่น
       สาเหตุ - พบบ่อยเมื่อสุ่มกุ้ง
       การแก้ไข - หลีกเลี่ยงการสุ่มกุ้งในช่วงอากาศร้อน
    กุ้งเป็นตะคริว
       สาเหตุ - เมื่อดึงยอขึ้นเหนือน้ำหรือสุ่มกุ้ง
       การแก้ไข - หลีกเลี่ยงการสุ่มกุ้งในช่วงที่อากาศร้อนหรือใช้น้ำแข็ง ลดอุณหภูมิของน้ำจะลดการเป็นตะคริวได้บ้าง
    กุ้งเหงือกดำ
       สาเหตุ - เกิดจากพื้นบ่อไม่ดีหรือออกซิเจนต่ำ หรือสีน้ำเข้มจัดเป็นเวลานาน
       การแก้ไข - ถ่ายน้ำเพิ่มขึ้นและเพิ่มเครื่องให้อากาศ
    กุ้งแตกไซส์
       สาเหตุ - อาจจะมาจากให้อาหารไม่เพียงพอ (ถ้ามาจากสายพันธุ์ที่ดี)
       การแก้ไข - เพิ่มปริมาณอาหาร กุ้งควรจะโตขึ้นและขนาดใกล้เคียงกัน
    กุ้งกรีกุดตัวคดงอ
       สาเหตุ - เกิดจากไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตัวพิการ ( Infectious hypodermal and hematopoietic necrosis virus หรือ IHHNV)
       การแก้ไข - ควรเลือกซื้อลูกกุ้งจากโรงเพาะฟักที่มีพ่อแม่พันธุ์คุณภาพในการเลี้ยงครั้งต่อไป
    กุ้งมีจุดขาว
       สาเหตุ - เกิดจากไวรัสดวงขาว (White spot syndrome virus หรือ WSSV)
       การแก้ไข - ในพื้นที่และฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคควรทรีตน้ำก่อนปล่อยลูกกุ้งและมีระบบการเลี้ยงที่ป้องกันโรคไวรัสดวงขาวด้วย
    กุ้งตัวแดง
       สาเหตุ - เกิดจากไวรัส (Taura syndrome virus หรือ TSV) กุ้งจะเกิดโรคนี้ตั้งแต่อายุประมาณ 20 วันขึ้นไป กุ้งที่มีสีแดงหรือสีชมพูเข้มจะตายมากในขณะที่ลอกคราบ ส่วนที่เหลือรอดตายจะเกิดแผลสีดำตามลำตัว
       การแก้ไข - เก็บกุ้งที่อ่อนแอและตายออกจากบ่อไปทำลาย ห้ามถ่ายน้ำ เพราะจะเป็นการแพร่เชื้อไวรัส ลดอาหารครึ่งหนึ่ง เพิ่มเครื่องให้อากาศ เก็บกุ้งที่อ่อนแอและตายออก ถ้าสภาพในบ่อดีขึ้น หลังจากการลอกคราบอีก 2-3 ครั้งกุ้งที่มีแผลบนเปลือกจะกลับคืนเป็นปกติ แต่ถ้าสภาพต่างๆ ในบ่อไม่ดีการลอกคราบทุกครั้งจะมีกุ้งตายมาก

    ในสถานการณ์ที่ราคากุ้งตกลงมามาก ควรเลี้ยงกุ้งให้ได้ขนาด 50-40 ตัว/ กก. คือมีน้ำหนัก 20-25 กรัม ระยะเวลาการเลี้ยงอาจจะนาน 110-120 วัน