การแปรรูปข้าวเป็นการเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายให้กับข้าว
โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทเส้น เช่น ก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่อบแห้ง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท
แต่ยังมีมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกในรูปข้าวสาร
การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเส้นจากข้าวพร้อมบริโภคในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว
(retort pouch) เป็นทางเลือกที่จะเพิ่มความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย
รวมทั้งให้มีศักยภาพในการส่งออก เพราะนอกจากก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่จะเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศแล้ว
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้อยู่ในรูปพร้อมบริโภคก็สอดรับกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย
Retort
Pouch : บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย
แต่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยวัสดุ เช่น พลาสติก
อลูมิเนียม วัสดุเชื่อมประสาน ตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป มีน้ำหนักเบา ใช้สำหรับบรรจุอาหาร
สามารถทนความร้อน และความดันในระหว่างการฆ่าเชื้อได้ ภาชนะบรรจุสามารถเปิดรับประทานได้ง่าย
โดยอุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือจุ่มบรรจุภัณฑ์ในน้ำเดือดนาน 3-5 นาที ผลิตภัณฑ์อาหารใน
retort pouch สามารถเก็บรักษาได้นานตั้งแต่ 6 เดือน - 2 ปี ที่อุณหภูมิห้อง
ในงานวิจัยนี้
ได้ทดลองผลิตก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก และเส้นหมี่พร้อมบริโภคในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว
พบว่าสามารถทำได้โดยปรับสภาพเส้นแต่ละชนิดให้เหมาะสมก่อนการบรรจุ และเลือกสภาวะอุณหภูมิ
เวลาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อให้เหมาะสมเพื่อให้ลักษณะของเส้นไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก
นอกจากนี้ได้ทดลองผลิตผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภค
ได้แก่ เส้นเล็กต้มยำ เส้นเล็กผัดไทย
เส้นหมี่ราดหน้า และ เส้นหมี่ผัดซีอิ๊ว
|