พลับที่ปลูกเป็นการค้าอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่
3 สายพันธุ์ คือ Xichu, Fuyu และ Hyakume ปรากฏว่าทุกพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์การร่วงของดอกและผลสูง
คือ 57.9 , 58.3 และ 86 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งการร่วงของผลนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตพลับในญี่ปุ่นมีปัญหา
ดอกถ้าไม่มีแมลงช่วยผสมเกสรจะลดการติดผล และเพิ่มอัตราการร่วงของผล
อย่างรุนแรง เช่นในพันธุ์ Fuyu แต่การผสมโดยลม (wind pollination)
แทบไม่มีผลต่อการติดผลเลย ส่วนการช่วยผสมเกสรด้วยมือ (hand pollination)
จะมีเปอร์เซ็นต์การติดผลดีที่สุด พลับนอกจากจะร่วงมากเมื่อไม่ได้รับการผสมเกสรแล้ว
ผลก็ยังมีขนาดเล็ก แม้ว่าผลพลับจะมีลักษณะเป็น Parthenocarpic แต่ถ้าดอกพลับได้รับการช่วยผสมเกสรจะลดการร่วงของผลตามธรรมชาติ
ตลอดจนทำให้คุณภาพของผลพลับดีขึ้น เช่น รูปทรง และสีผิวจะสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพลับหวาน ถ้ามีคู่ผสมที่เหมาะสม จะทำให้เพิ่มปริมาณผลผลิต
เพราะขนาดของผลจะขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีเมล็ดซึ่งเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนที่มีผลต่อการแบ่งตัวและการขยายขนาดของเซลที่ประกอบขึ้นในเนื้อผล
และคุณภาพของผลจะดีขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์ Hyakume นอกจากคุณภาพจะดีขึ้นแล้ว
เมื่อติดเมล็ดจะทำให้รสชาติของเนื้อหวานกรอบและถ้าสามารถทำให้หวานได้ทั้งต้น
จะทำให้มูลค่าการจำหน่ายผลผลิตสูงขึ้นมาก
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาคู่ผสมที่เหมาะกับพลับพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบัน
โดยทางสถานีวิจัยดอยปุยมีพันธุ์พลับที่สามารถให้เกสรได้ เช่น หงเหม่ย
และฮอด ถ้าได้ตัวที่เหมาะสมในการให้เกสรได้ จะทำให้การผลิตพลับในภาคเหนือตอนบน
สามารถที่จะพัฒนาการผลิตไปได้อีกระดับหนึ่งและประโชยน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทดลองนี้คือ
- ทำให้ทราบคู่ผสมที่เหมาะสมกับพลับแต่ละพันธุ์
- ได้ผลพลับที่มีคุณภาพดี ทั้งขนาด
น้ำหนัก รูปทรงและรสชาติ
- เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้เพิ่มขึ้น
เป็นผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติดีขึ้น
จากการวิจัยพบว่าผลพลับใน
3 สายพันธุ์นี้คือ Xichu, Fuyu และ Hyakume เมื่อได้รับการผสมเกสรแล้ว
จะทำให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้นและน้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยพันธุ์ Xichu , Fuyu
และ Hyakume มีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.99 ,7.7 และ 9.27 เปอร์เซ็นต์
ตามลำดับ นอกจากนี้จะมีเมล็ดจำนวนมากอยู่ภายในเมื่อเทียบกับผลที่ไม่ได้รับการช่วยผสมเกสร
และจากการมีเมล็ดนี่เอง ทำให้รูปทรงของพลับพันธุ์ Xichu เปลี่ยนแปลงไปคือ
เมื่อไม่ช่วยผสมเกสร จะมีเมล็ดจำนวน 0.47 เมล็ดต่อผล รูปทรงผลก้นจะแบนและบุบเข้าในเล็กน้อย
ดูด้านข้างผลรูปทรงจะออกแบน แต่เมื่อมีการช่วยผสมเกสรจำนวนเมล็ดเพิ่มเป็น
6.43 เมล็ดต่อผล ก้นผลที่เคยแบนและบุบเข้า จะยืดขยายออกมา เมื่อดูด้านข้างผลแล้วรูปทรงจะออกทรงกลม
ทำให้รูปทรงแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากฮอร์โมนที่ได้รับจากเมล็ด
รูปด้านข้างของผลพลับพันธุ์ Xichu ที่มีเมล็ด (ซ้าย)
กับไม่มีเมล็ด(ขวา)
ส่วนในเรื่องของรสชาติในผลพลับทุกสายพันธุ์ในการวิจัยนี้
ในกลุ่มของผลที่ได้รับการช่วยผสมเกสรจะมีรสชาติดีกว่าในกลุ่มของผลที่ไม่ได้รับการช่วยผสมเกสร
โดยเฉพาะในพันธุ์ Hyakume เมื่อมีเมล็ดเนื้อจะเปลี่ยนจากสีเหลือง รสฝาด
เป็นเนื้อสีน้ำตาลแดง รสหวาน อันนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการทำพลับพันธุ์นี้ให้กลายเป็นพลับที่
จำหน่าย แบบพลับหวานได้ โดยไม่ต้องทำการขจัดความฝาด ซึ่งทำให้อายุการเก็บรักษานานขึ้นกว่าพลับที่ผ่านกรรมวิธีขจัดความฝาด
และแนวทางการช่วยผสมเกสร( hand pollination) ก็เป็นไปได้ เนื่องจากค่าแรงของบ้านเมืองเรายังไม่แพง
ในแนวทางการช่วยผสมเกสรในพลับนี้ ทางประเทศออสเตรเลียก็อยากทำ เพื่อให้เปอร์เซ็นต์การติดผลสูงขึ้น
แต่ดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากค่าแรงแพง
ในส่วนการร่วงของดอกและผลพลับ
ในทุกสายพันธุ์ที่ศึกษา ดอกที่ได้รับการช่วยผสมเกสร จะมีเปอร์เซ็นต์การร่วงน้อยกว่า
โดยการร่วงของดอกและผลที่ไม่ได้รับการช่วยผสมเกสร จะร่วงมากในช่วง
2 สัปดาห์หลังจากดอกบาน ยกเว้นพันธุ์ Hyakume ดอกและผลจะร่วงมากในช่วง
1 เดือนแรกหลังจากดอกบาน หลังจากนี้แล้วเปอร์เซ็นต์การร่วงของผลจะลดน้อยลงในทุกสายพันธุ์
จะเห็นว่าการร่วงของดอกและผลในทุกสายพันธุ์ ที่ไม่ได้รับการช่วยผสมเกสรจะมีความแปรปรวนสูง
แต่ในส่วนที่ได้รับการช่วยผสมเกสร การร่วงของดอกและผลจะมีความแปรปรวนต่ำ
ในสภาพตามธรรมชาติพลับพันธุ์
Xichu , Fuyu และ Hyakume จะมีดอกตัวผู้น้อย ฉะนั้นในการช่วยผสมเกสร
ต้องมีต้นที่สามารถให้เกสรตัวผู้ได้ จากการศึกษาครั้งนี้ได้พลับพันธุ์ฮอด
เป็นพันธุ์ที่ให้เกสรได้และเหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเราโดยให้เกสรได้ในปริมาณมากและครอบคลุมตลอดการบานของตัวเมียพันธุ์
Fuyu ส่วนพันธุ์ Xichu และ Hyakume ครอบคลุมได้บางส่วน
ฉะนั้นการทำสวนพลับในอนาคต
ถ้าเป็นพันธุ์ Fuyu ก็สามารถใช้พันธุ์ฮอดเป็นตัวให้เกสรตัวผู้ได้อย่างดี
ส่วนพันธุ์อื่นๆ ก็ต้องหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไป โดยการปลูกสลับกันระหว่างต้นให้เกสรตัวผู้ต่อต้นพันธุ์เป็นอัตราส่วน
1 ต่อ 8 แต่ถ้าเน้นการทำ hand pollination พันธุ์ฮอดก็เหมาะกับพันธุ์
Hyakume ด้วย เช่นกัน
|