มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับการวิจัยและพัฒนาองุ่นในประเทศไทย
Kasetsart University Research and Development of Viticulture in Thailand
................................................................................................................................................
สุรศักดิ์ นิลนนท์1 และ จรัล เห็นพิทักษ์2
1ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2สถาบันค้นคว้า
และพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

รูปที่ 1 ช่อองุ่นสีแดง

รูปที่ 2 ช่อองุ่นสีดำ


         มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้นำด้านวิชาการทางการเกษตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศาสตร์แห่งแผ่นดินหลายอย่างถือกำเนิดจากที่นี่ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท อุตสาหะของบูรพาจารย์หลาย ๆ ท่าน ก่อให้กิดประโยชน์ต่อเกษตรกร สังคม และประเทศชาติอย่างมหาศาลในปัจจุบัน เช่น การเลี้ยงไก่ การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ การปลูกองุ่น เป็นต้น องุ่นเป็นไม้ผลซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าไม่สามารถปลูกได้เพราะเป็นไม้เมืองหนาว มีปลูกกันบ้างไม่มากในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (กสิกร, 2493) จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2497 - 2498 ศาสตราจารย์ คุณหลวงสมานวนกิจ และ ดร.พิศ ปัณยาลักษณ ได้นำต้นพันธุ์กิ่งปักชำ และต้นพันธุ์ใหม่ ๆ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย เช่น พันธุ์ Christmas ผลสีแดง, Golden Muscat ซึ่งมีสีเหลืองมาทดลองปลูก แต่ปรากฎว่ารสชาติไม่ดีเปรี้ยว เมล็ดใหญ่ เปลือกเหนียวไม่เหมาะสมกับการรับประทานสด ปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นปีแรกที่ท่าน ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี เข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้รับมอบหมายจาก คุณหลวงสมานวนกิจ คณบดีคณะเกษตรในขณะนั้น ให้รับผิดชอบงานพัฒนาการปลูกองุ่นตั้งแต่นั้นมา โดยในช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2504 ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี ได้สั่งพันธุ์องุ่นจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทใช้รับประ-
ทานสดที่ตลาดโลกยอมรับ โดยส่วนมากจะเป็นสายพันธุ์ยุโรป (Vinifera hybrids) เข้ามาปลูกทดลอง เช่น พันธุ์ Beauty Seedless, Black Hamburg, Black Rose, Canner, Flame Tokay, Gold, Gros Colman, July Muscat, Kandahar, Ohanez, Perlette, Purple Cornichon, Queen, Red Malaga, Ribier, Royal Ascot, Thompson Seedless, White Malaga, Cardinal, Zante Currant เป็นต้น

         ปี พ.ศ.2502-2503 ชาวสวน อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่วนหนึ่งซึ่งรุ่งเรืองในการปลูกพุทราได้ประสบปัญหาขาดทุนจากราคาตกต่ำเริ่มสนใจพืชใหม่คือองุ่น จึงร่วมทำการทดลองกับ ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี และเริ่มพัฒนาการปลูกองุ่นปลูกอย่างเป็นการค้าได้เป็นแห่งแรกก่อนที่จะขยายตัวสู่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม อันเป็นแหล่งผลิตองุ่นเป็นการค้าที่สำคัญของประเทศไทย และที่สำคัญที่สุดก็คือประเทศไทยเป็นแห่งเดียวในโลกที่สามารถพัฒนาการปลูกองุ่นได้ในสภาพพื้นที่ดินนาซึ่งเป็นดินเหนียว มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน โดยการยกร่องแปลงปลูกเพื่อการระบายน้ำ โดยพันธุ์ที่สามารถปลูกเป็นการค้าได้สำเร็จคือ White Malaga และ Cardinal ทั้งนี้การวิจัยศึกษาต่าง ๆ ในช่วงนี้เน้นในเรื่อง การศึกษาด้านการตัดแต่งกิ่ง การทดลองเพื่อหาจำนวนตาบนกิ่งแก่ที่เหมาะสมในการบังคับให้ต้นองุ่นติดดอกติดผลตามต้องการ ซึ่งงานศึกษาต่าง ๆ ได้นำไปสู่ความสำเร็จจนสามารถปลูกองุ่นเป็นการค้าและสามารถบังคับให้องุ่นออกผลตลอดปีได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา

         การขยายพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทำให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก แต่ปรากฏว่าคุณภาพขององุ่นสดกลับตกต่ำลง จากงานวิจัยในปี พ.ศ.2512 พบว่า ชาวสวนยังไม่รู้จักวิธีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องในการปรับปรุงคุณภาพของผล งานวิจัยและพัฒนาองุ่นโดยทีมงานของอาจารย์ไม้ผล ภาควิชาพืชศาสตร์ ในขณะนั้น ซึ่งมี ศาสตราจารย์ชูพงษ์ สุกุมลนันทน์ ร่วมอยู่ด้วยทำให้ชาวสวนได้รู้จักและทราบเป็นครั้งแรกว่า ปุ๋ยโปแตสเซียมซัลเฟต (0-0-50) เป็นประโยชน์แก่การปลูกองุ่นอย่างไร ทำให้งานวิจัยและพัฒนาเรื่ององุ่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้มแข็งยิ่งขึ้น จากผลงานการทดลองปุ๋ยดังกล่าวเมื่อมีการประกวดองุ่นที่วัดบางช้างใต้ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนเมษายน 2516 ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.แอล เอ. ไลเดอร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส สหรัฐอเมริกา ร่วมเป็นกรรมการตัดสินพร้อมกับ ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี ผลปรากฏว่าตัวอย่างองุ่นที่ชนะเลิศได้มาจากแปลงทดลองปุ๋ย และได้รับคำชมด้านคุณภาพผลองุ่นสดพันธุ์ White Malaga จากศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศท่านดังกล่าว ด้วยเหตุการณ์อันสืบเนื่องครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติอย่างยิ่ง ในการพิมพ์ตำราองุ่นเล่มใหม่ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1974 ชื่อหนังสือ General Viticulture, Revised and enlarged edition หน้า 55-56 โดยได้กล่าวถึงการปลูกองุ่นในเมืองไทยนับเป็นครั้งแรกของตำราองุ่นที่เป็นมาตราฐานของสหรัฐอเมริกา
 

         ปี พ.ศ.2522 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ติดต่อบริษัทซีแกรม จากสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุนโครงการทำเหล้าองุ่นในประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทดลองปลูกพบว่า มีองุ่นบางพันธุ์เหมาะสมสามารถปลูกและใช้ทำเหล้าองุ่นได้ดี

         ปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ นิลนนท์ ได้เริ่มทดลองศึกษาพันธุ์องุ่นที่ใช้รับประทานสดทั้งชนิดมีเมล็ดและไม่มีเมล็ด และพันธุ์องุ่นที่ใช้ทำเหล้าองุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธีโครงการหลวงทำงานวิจัยที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ดอยอ่างข่างและห้วยลึก จังหวัดเชียงใหม่ และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า องุ่นรับประทานสดหลายสายพันธุ์สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าได้ เช่น พันธุ์ไม่มีเมล็ด ได้แก่ Beauty Seedless, Ruby Seedless, Loose Perlette สำหรับพันธุ์มีเมล็ด ได้แก่ Early Muscat เป็นต้น

         จากการค้นคว้าวิจัยและการพัฒนาการปลูกองุ่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันดังกล่าว ทำให้มีผลงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์และปัญหาพิเศษของนิสิตปริญญาตรี และปริญญาโทมากกว่า 90 เรื่อง และก่อให้เกิดเหตุการณ์และผลต่อเนื่องที่สำคัญหลายประการ เช่น ประเทศไทยสามารถตัดแต่งกิ่งองุ่นให้ออกผลได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล สามารถส่งผลองุ่นสดไปขายต่างประเทศได้ หลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามพัฒนาการปลูกองุ่นเองแต่ยังไม่พบความสำเร็จในระดับเท่าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้จัดทำบทความ Sought - After Grapes in Thailand พร้อมภาพลงในวารสาร THAILAND ILLUSTRATED ของกระทรวงการต่างประเทศ ปีที่ 2 เล่มที่ 1 เดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ และประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการพัฒนาองุ่นรับประทานสดพันธุ์ไม่มีเมล็ดให้แก่งานโครงการหลวง

         ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขยายงานพัฒนาองุ่นพันธุ์รับประทานสดพันธุ์ทำไวน์ และต้นตอ ไปสู่เขตภาคตะวันตกของประเทศไทย เพื่อพัฒนาพันธุ์ที่มีศักยภาพในด้านการตลาด อันจะเป็นการทดแทนการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออกต่อไปในอนาคต

รูปที่ 3 ช่อองุ่นสีเขียว

 

รูปที่ 4 แปลงองุ่นยกร่อง

รูปที่ 5 แปลงองุ่นแบบไร่