สุวรรณ 1: พันธุ์ข้าวโพดจากประเทศไทยสู่ระดับโลก
Suwan 1: Maize from Thailand to the World
................................................................................................................................................
สุจินต์ จินายน สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ และ คณะ
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านพืชศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           เมื่อเริ่มโครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้จัดส่ง Dr. C. L. Moore ซึ่งเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืช และ Dr. S. K. Vasal ซึ่งเป็น Postdoctoral fellow มาประจำร่วมงานกับโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้น ดร.สุจินต์ จินายน เป็นหัวหน้าโครงการและ และ ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ เป็นผู้ช่วยหัวหน้าโครงการ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังที่สถานีฝึกนิสิตสุวรรณวาจกกสิกิจ เมื่อประมาณปี 2510 พันธุ์ข้าวโพดเป็นจำนวนมากจากทั่วโลก ได้รับการทดสอบเพื่อคัดเลือกไว้ใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ พันธุ์ "สุวรรณ 1" นับเป็นพันธุ์แรกที่ได้จากการใช้ประโยชน์ข้าวโพด เหล่านี้
       
   ในปี พ.ศ.2511 ข้าวโพด 36 พันธุ์ ได้รับการคัดเลือกและปลูกเพื่อผสมรวมเป็นพันธุ์ใหม่ พันธุ์ส่วนใหญ่มีกำเนิดมาจากหมู่เกาะคาริบเบียน 16 พันธุ์ จากประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง 6 พันธุ์ จากอเมริกาใต้ 5 พันธุ์ อินเดีย 5 พันธุ์ และแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา 4 พันธุ์ ข้าวโพด 36 พันธุ์นี้ได้รับการคัดเลือกโดยใช้หลัก 3 ประการ คือ
       
   1. มีลักษณะดีจากการทดสอบซึ่งได้รับรายงานจากประเทศต่าง ๆ
       
   2. เมื่อปลูกทดสอบในประเทศไทยแล้ว สามารถปรับตัวได้ดี
       
   3. มีฐานทางพันธุกรรมกว้างและมีถิ่นกำเนิดแตกต่างกัน
 การสร้างพันธุ์ดำเนินการโดยปลูกพันธุ์ต่าง ๆ ในแต่ละฤดู เมล็ดจำนวนเท่ากันจากแต่ละพันธุ์นำมาคลุกเคล้ารวมกัน และปลูกเป็นแถวตัวผู้สลับกับแถวตัวเมีย ปลูกแต่ละพันธุ์เป็นแถวตัวเมีย โดยให้เบอร์ 1 ถึง 36 แต่ละพันธุ์ปลูก 3 แถว และปลูกต่างวันกัน ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสได้รับการผสมข้ามจากแถวตัวผู้มากที่สุด เมื่อข้าวโพดเริ่มออกดอก ตัดดอกตัวผู้ (detassel) ในแถวตัวเมียออกให้หมด

  เมื่อถึงตอนเก็บเกี่ยวคัดเลือกฝักจากแถวตัวเมีย และจากต้นที่ดีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ นำมากะเทาะรวมกันในแต่ละพันธุ์ ดังนั้น พันธุ์ทั้ง 36 จึงยังคงมีอยู่ ซึ่งในฤดูถัดมาได้ทำการปลูก และดำเนินการเช่นในฤดูแรก เมื่อดำเนินการปลูกครบ 4 ครั้งใน 4 ฤดูแล้ว แต่ละพันธุ์มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก เพราะมีการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ต่าง ๆ มาตลอด เรียกว่าพันธุ์เหล่านี้ถึงจุด สมดุลย์ทางพันธุกรรมแล้วจึงได้เก็บเกี่ยวฝักจากแถวตัวเมีย กะเทาะเมล็ดรวมกันและได้พันธุ์ผสมรวมให้ชื่อว่า "ไทยคอมพอสิต เบอร์ 1" ในปี พ.ศ.2512 แล้วได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีคัดเลือกแบบวงจรที่ผสมตัวเอง 1 ครั้ง จำนวน 3 รอบ
       
   ในระหว่างปี 2514-2516 พบว่าโรคราน้ำค้างซึ่งเกิดจากเชื้อ Peronosclerospora sorghi เริ่มระบาดในประเทศไทยและทำความเสียหายให้แก่ข้าวโพดจำนวนมากโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดจึงเริ่มต้นปรับปรุงพันธุ์ต้านทานอย่างจริงจังขึ้น จากโครงการทดสอบพันธุ์ข้าวโพดร่วมกันในทวีปเอเซีย พบว่า พันธุ์ Phillippine DMR1 และ Phillippine DMR5 มีลักษณะต้านทานโรคราน้ำค้างดีและให้ผลผลิตสูง โครงการจึงใช้พันธุ์ทั้งสองผสมข้ามกับพันธุ์ไทยคอมพอสิตเบอร์ 1 เพื่อถ่ายทอดลักษณะต้านทานโรคนี้และใช้วิธีการผสมกลับ (backcross) จำนวน 3 ครั้ง จนกระทั่งได้พันธุ์ไทยคอมพอสิตเบอร์ 1 ที่ต้านทานโรคราน้ำค้างในระดับดีพอสมควร พันธุ์ ไทยคอมพอสิต เบอร์ 1 ดีเอ็มอาร์ ได้รับการคัดเลือกแบบวงจรที่ผสมตัวเอง 1 ครั้ง อีกจำนวน 2 รอบ ในปี พ. ศ. 2516 และ 2517 ก่อนเสนอเข้ารับรองพันธุ์

         

รูปที่ 1
ข้าวโพดสุวรรณ 1

รูปที่ 2
ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่าง

          ในปี พ.ศ. 2517 คณะกรรมการบริหารโครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาพันธุ์ดีขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่หาข้อมูลลักษณะดีเด่นของข้าวโพดพันธุ์ใหม่ (พันธุ์ ไทยคอมพอสิต เบอร์ 1 ดีเอ็มอาร์) จากการทดสอบในระดับแปลงทดลองและไร่เกษตรกร ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลการทดสอบในต่างประเทศ เมื่อคณะอนุกรรมการได้เสนอข้อมูลต่างๆแล้ว คณะกรรมการบริหารโครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้พิจารณาลงมติรับรองพันธุ์ ไทยคอมพอสิต เบอร์ 1 ดีเอ็มอาร์ ให้เป็นพันธุ์มาตรฐานของประเทศในนามพันธุ์ " สุวรรณ 1 " ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ในช่วงแรกนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยไร่สุวรรณ ได้ร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 ปีละประมาณ 300 ตัน กรมวิชาการเกษตรผลิตปีละประมาณ 100 ตัน และในปี 2524 กรมส่งเสริมการเกษตรผลิตได้ประมาณ 1,850 ตัน เมื่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2522 บริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ได้เริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 ปีละประมาณ 2000 ตันในระยะแรกๆ และเพิ่มเป็นปีละประมาณ 4000-5000 ตันในระยะหลังๆ ซึ่งเป็นผลให้เมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
       
   พันธุ์สุวรรณ 1 นอกจากส่งเสริมในประเทศแล้วได้มีการเผยแพร่พันธุ์สุวรรณ 1 ออกสู่ต่างประเทศ และพบว่าพันธุ์สุวรรณ 1 สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง จากการทดสอบผลผลิตและการทดลองปลูกในหลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชีย อาฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ปรากฏว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ให้ผลผลิตสูงในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กัน ลักษณะการปรับตัวที่ดีรวมทั้งลักษณะเด่นคือ ความต้านทานโรคราน้ำค้างทำให้สุวรรณ 1 เป็นพันธุ์ดีระดับแนวหน้าดังที่ Dr. Takumi lzuno ผู้เชี่ยวชาญโครงการข้าวโพดภาคพื้นเอเชียของศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (CIMMYT) ได้ยกย่องความดีของพันธุ์สุวรรณ 1 ไว้ว่า "ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 เป็นพันธุ์ ที่ใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของหลายประเทศ

  ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้เพราะข้าวโพดพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังเป็นพันธุ์มาตรฐาน ซึ่งให้ผลแน่นอนในการทดลองพันธุ์ขององค์การระหว่างประเทศ ข้าวโพดของไทยติดอันดับ 1 ถึง 6 อยู่เสมอ ดังนั้น คำยกย่องชมเชยโครงการข้าวโพดของไทยซึ่งหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศนั้น จึงไม่ใช่คำยกย่องที่เกินเลยจากความเป็นจริงแต่ประการใด"          การรวบรวมข้อมูลการใช้ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ทำได้สมบูรณ์ยาก เนื่องจากการใช้ได้แพร่หลายไปมากในหลายๆ รูปแบบ เท่าที่รวบรวมมาได้จากนักวิจัยของ CIMMYT เช่น Dr. Bobby L. Renfro, Dr. Shivaji Pandey และ Dr. S. K. Vasal ได้สรุปไว้เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ ประเทศที่นำสุวรรณ 1 ไปใช้ในเอเชีย คือ อินเดีย เนปาล พม่า จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว ศรีลังกา เขมร และมาเลเซีย ในกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และในหมู่เกาะมหาสมุทรอินเดียคือ ฟิจิ รียูเนียน และมอริเซียส ในอาฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย ซาอีร์ และคาเมรูน ในอเมริกาใต้ ได้แก่ โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอควาดอร์ เปรู และเวเนซูเอล่า
       
   ศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ ใช้พันธุ์สุวรรณ 1 ในโครงการปรับปรุงพันธุ์มากมายหลายลักษณะ นอกเหนือจากใช้เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้างแล้ว ยังใช้เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์ดีอีกด้วย จากการศึกษาของ Dr. S.K. Vasal นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดประจำที่ CIMMYT เม็กซิโก พบว่าพันธุ์สุวรรณ 1 มีความสามารถในการรวมตัวได้ดีกับพันธุ์หลายพันธุ์ของ CIMMYT ข้อมูลเหล่านี้กระจายไปในหมู่นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดในหลายประเทศ โครงการ ปรับปรุงพันธุ์ทั้งของรัฐและเอกชนในสหรัฐอเมริกาได้ใช้สุวรรณ 1 เป็นเชื้อพันธุ์กันมากขึ้น Iowa State University Corn Breeding Program ได้นำพันธุ์สุวรรณ 1 ไปคัดเลือกแบบวงจรเพื่อให้พันธุ์ปรับตัวกับสภาพแวดล้อม และวางแผนใช้พันธุ์สุวรรณ 1 ที่ปรับตัวแล้วในโครงการข้าวโพดลูกผสมในอนาคต