สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน
Strawberry Cultivars

................................................................................................................................................
ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

       ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้น ปัจจุบันใช้ชื่อว่ามูลนิธิโครงการหลวง โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานมูลนิธิฯซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ หยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาโดยการหาพืชชนิดอื่นมาทดแทน และช่วยยกระดับการครองชีพตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยและพัฒนาสตรอเบอรี่จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งโดยเริ่มดำเนินการในระหว่างปี พ.ศ. 2517-2522 ซึ่งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยและได้รับทุนวิจัยจากทางฝ่ายงานวิจัยกระทรวงเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา (Agricultural Research Service ของ USDA) และยังคงมีงานวิจัยที่ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในระหว่างการวิจัยนี้ได้มีการนำเข้าสตรอเบอรี่หลากหลายสายพันธุ์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ทดลองปลูกทดสอบตามสถานีวิจัยในระดับความสูงจากน้ำทะเลต่างๆ กัน โดยศึกษาถึงความเป็นไปได้สำหรับการปลูกให้เป็นการค้า
          รวมทั้งศึกษาในเรื่องของโรคแมลงที่เข้าทำลาย การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ ตลอดจนการตลาดทั้งในรูปของรับประทานผลสดและการแปรรูปทางอุตสาหกรรม  สตรอเบอรี่บางพันธุ์นั้นสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยจึงใช้ในการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรปลูกเป็นการค้าได้แก่
- พันธุ์พระราชทาน 13 (ปัจจุบันเลิกปลูกแล้ว)
- พันธุ์พระราชทาน 16 (ยังมีการปลูกอยู่บ้างในบางพื้นที่เพื่อการแปรรูป)
- พันธุ์พระราชทาน 20 (ปัจจุบันเลิกปลูกแล้ว)
- พันธุ์พระราชทาน 50 (ใช้ในการปลูกเพื่อรับประทานผลสดและแปรรูปเป็นส่วนใหญ่)
- พันธุ์พระราชทาน 70 (ใช้ในการปลูกเพื่อรับประทานผลสดและแปรรูปบ้างเล็กน้อย)
- พันธุ์พระราชทาน 72 (ใช้ในการปลูกเพื่อรับประทานผลสด)

 

 

 

        ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงงานวิจัยและพัฒนาสตรอเบอรี่ในปัจจุบันนี้ ผลของความสำเร็จและข้อมูลต่างๆที่ได้สามารถนำไปใช้ในงานส่งเสริมให้แก่ชาวไทยภูเขารวมทั้งเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และกำลังขยายไปยังแหล่งอื่นๆที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการปลูกสตรอเบอรี่ ทำให้ชุมชนเหล่านั้นมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตและต้นไหลอีกด้วย ดังนั้นสตรอเบอรี่จึงได้ถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ทำรายได้และให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วแก่เกษตรกรผู้ปลูก เพื่อใช้บริโภคภายในและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทของทุกปี