ดาวเรือง
(MARIGOLDS)
................................................................................................................................................
สมเพียร เกษมทรัพย์ และ คณะ
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           ดาวเรือง มีชื่อสามัญว่า Marigolds ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tagetes spp. อยู่ในวงศ์ Compositae มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก

           ดาวเรือง ที่พบเห็นและปลูกในปัจจุบันมี 5 ชนิด คือ :
           1. Tagetes erecta หรือ ดาวเรืองอเมริกัน เป็นดาวเรืองชนิดต้นสูง ดอกใหญ่ ปลูกได้
ตลอดปี ถ้าปลูกในช่วงฤดูหนาวจะใช้เวลาเพียง 60 - 65 วัน แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูร้อนจะออกดอกช้าลง 10 - 15 วัน
           2. Tagetes patula หรือ ดาวเรืองฝรั่งเศส เป็นดาวเรือง ชนิดต้นเตี้ย ดอกเล็ก ปลูกได้เฉพาะฤดูหนาว และออกดอกดกมาก แต่ถ้าปลูกในฤดูร้อนจะเฝือใบ ไม่ออกดอก
           3. Triploid Marigold หรือ ดาวเรืองนักเก็ต (Nugget Marigolds) เป็นดาวเรืองลูกผสม ที่เกิดจากดาวเรืองอเมริกัน กับดาวเรืองฝรั่งเศส ลูกผสมที่ได้มีโครโมโซม 3 ชุด ออกดอกเร็ว และดอกบานทน ทั้งนี้เพราะดอกเป็นหมัน
           4. Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila หรือ ดาวเรืองซิกเน็ต (Signet Marigold) เป็นดาวเรืองชนิดต้นเตี้ย ดอกจิ๋ว นิยมปลูกมากในยุโรป มีพุ่มใหญ่ ออกดอกดก ขนาดดอกเล็กมาก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 นิ้ว กลีบดอกชั้นเดียว
           5. Tagetes filifolia หรือ ดาวเรืองใบ (Foliage Marigold) เป็นดาวเรืองที่มีใบสวยงามมาก ใบสวยเด่นกว่าดอก พุ่มต้นแน่น เหมาะสำหรับปลูกตามขอบแปลง


            สืบเนื่องจากโครงการวิจัยเรื่อง "Research on Cultivated Crops and Wild Plant for Dye
Production in the Highlands of Northern Thailand" ระหว่างปี พ.ศ. 2519 - 2522 ซึ่งได้รับทุนจาก ARS, USAID ผ่านโครงการเกษตรที่สูง ได้ศึกษาทั้งพืชป่าและพืชปลูกหลายชนิดเพื่อนำมาใช้เป็นสีผสมอาหาร ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์
         
          
จากการวิเคราะห์ปริมาณแซนโตฟิล และแคโรทีน ในกลีบดอกดาวเรืองสดและแห้งหลายสิบพันธุ์ 4 กลุ่มคือ กลุ่มดอกสีเหลือง สีเหลืองอมส้ม สีส้มและสีแดง พบว่ากลุ่มดอกสีส้มเหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชสีมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์ทอรีดอร์, ออเรนจ์เลดี้, ปั้มกิ้นครัช และอะพอลโล โดยมีปริมาณแซนโตฟิล 15,249.54, 13,751.34, 13,376.79 และ 13,323.32 ppm. ตามลำดับ           นอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์เป็นสีผสมอาหารสำหรับมนุษย์แล้ว ผลงานวิจัยนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารไก่ เพื่อเพิ่มความเข้มสีของไข่แดง และผิวหนังไก่ ขณะนี้มีการปลูกดาวเรืองเพื่อผลิตดอกดาวเรืองแห้ง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารไก่อย่างกว้างขวาง มีพื้นที่ปลูกโดยเฉลี่ยประมาณปีละหนึ่งถึงสองหมื่นไร่ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดจนทรัพยากรนานัปการครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถปลูกดาวเรืองได้ตลอดทั้งปีทั่วทั้งประเทศ ที่สำคัญคือผลพลอยได้จากธุรกิจนี้ กล่าวคือ หลังจากเก็บเกี่ยวดอกดาวเรืองหมดต้นแล้ว เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากต้นและรากของดาวเรืองซึ่งสามารถผลิตสารแอลฟ่าเทอรีอีนิล (a - terthienyl) ได้จำนวนหนึ่ง สามารถป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในดิน โดยการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาจากไส้เดือนฝอยในดิน อาทิ ยาสูบ มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ และเยอบีร่า เป็นต้น

         

           นอกจากได้พันธุ์สำหรับปลูกเป็นพืชสีและพันธุ์ที่สามารถผลิตสารแอลฟ่าเทอรีอีนิลในปริมาณสูง เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจแล้ว ยังคัดเลือกได้พันธุ์ที่มีหน่วยก้านดี มีคุณลักษณะเหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ดอกประดับอาคารสถานที่ และสวนสาธารณะได้อีกจำนวนหนึ่ง

           หลังจากได้ศึกษาวิจัยในรายละเอียดตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตดาวเรืองเพื่อประโยชน์การประดับในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนจัดทำโปรแกรมการผลิตเชิงธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ในปี พ.ศ. 2524 ได้ทะยอยเผยแพร่งานวิจัยสู่เกษตรกรและประชาชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเผยแพร่เต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2525 โดยจัดโปรแกรมการผลิตดาวเรืองในรูปแบบของ "ไม้ตัดดอก" ให้เกษตรกรสามารถตัดดอกจำหน่าย ตรงตามกำหนดเวลาที่ต้องการในเทศกาลต่าง ๆ ในรอบปีได้อย่างแม่นยำที่สุด อีกทั้งได้จัดพิมพ์คู่มือการผลิตแจกจ่ายพร้อมทำแปลงสาธิตให้เกษตรกรเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเองในงานวันเกษตรแห่งชาติที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2526 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก จึงเริ่มมีการปลูกดาวเรืองตัดดอกการค้าอย่างจริงจัง นับแต่บัดนั้นตราบจนทุกวันนี้

             เนื่องจากดอกดาวเรืองที่ได้จากการปลูกตามคู่มือที่ได้รับแจก ออกดอกตรงตามเวลาที่เกษตรกรกำหนดและตรงกับความต้องการของตลาด มีดอกขนาดใหญ่ ก้านดอกยาว คุณภาพดีเยี่ยม สม่ำเสมอกันทุกต้นทุกดอก จำหน่ายได้ราคาดีมาก ผลตอบแทนสูงกว่าพืชอื่น ๆ เกษตรกรจึงขนานนามว่า "ดาวเรืองเกษตร" นับว่าเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างยิ่ง

           ปัจจุบันนี้ มีการปลูกดาวเรืองเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ประดับแปลง ในโอกาสต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะสีเหลืองทองของดอกดาวเรืองพันธุ์ส่งเสริมเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และทุกสมัยที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง เกษตรกรจะมีรายได้งดงามมาก เพราะผู้สมัครทุกคนนิยมพวงมาลัยดอกดาวเรือง ทั้งนี้เพราะสีเหลืองทองเป็นสีแห่งชัยชนะ

           จึงกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดศักราชการผลิตและการบริโภคดาวเรือง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนับพันล้านบาทต่อปี