รองศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2541 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2545 สาขาเคมี จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

................................................................................................................................................

คำประกาศเกียรติคุณ

คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่า รองศาสตราจารย์ จำรัส ลิ้มตระกูล แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อุทิศตนให้กับงานวิจัยด้านเคมีซีโอไลต์และ การเร่งปฏิกิริยาอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี ในการศึกษาเพื่อให้ได้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มี ประสิทธิภาพสูงและคงทน โดยอาศัยการจำลองแบบและการสังเคราะห์แบบใหม่ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกการเกิดปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการศึกษาและต่อการออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมเคมี รองศาสตราจารย์ จำรัส ลิ้มตระกูล เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรมและคุณธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ จึงมีมติประกาศเกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ จำรัส ลิ้มตระกูล เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2541 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช



ภาพที่ 1. การศึกษาโครงสร้างและปฏิกิริยาเคมีด้วย
Computational Chemistry and De Novo Molecular Design

ภาพที่ 2. ปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการวิจัย

 

ประวัติส่วนตัว
เกิดที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำเร็จการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนหัวหินวิทยาลัยและขั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาเคมีด้วยคะแนนสูงสุดจากคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ (UDC) ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขา Physical Chemistry ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนรัฐบาลศึกษาต่อปริญญาเอกที่ University of Innsbruck ประเทศออสเตรีย ทำวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Training) ที่ Institute of Physical Chemistry and Electrochemistry, University of Karlsruhe ประเทศเยอรมนี ด้วยทุน Humboldt Research Fellowship และที่ Laboratory for Molecular Spectroscopy, University of Bordeaux ด้วยทุนรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลตัวอย่างทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2541 และ
นักวิจัยดีเด่นคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโอกาสครบรอบสถาปนาปีที่ 30 (พ.ศ. 2544) นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี2541 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2545 สาขาเคมี จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สมรสกับนางไพลิน ลิ้มตระกูล (แจ้งเจนกิจ) มีธิดา 1 คน ชื่อ นางสาวสลิล ลิ้มตระกูล
  ประวัติการทำงาน
เข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ นอกจากงานวิจัยและงานสอนแล้ว รศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ยังได้ร่วมปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นๆ อีก ได้แก่ กรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ กรรมการการศึกษาและกรรมการวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการสิทธิบัตรและสิ่งของประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรณาธิการวารสารวิทยาศาสตร์ มก. กองบรรณาธิการวารสารScienceAsia กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กรรมการในคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสาขาเคมีและเภสัช สมาชิกบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ภาพที่ 3. พิธีมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2541


ภาพที่ 4. เข้าพบนายกรัฐมนตรีในโอกาสรับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สาขาเคมี
ประจำปี พ.ศ.2545


ผลงานวิจัยโดยสรุป

ความสำคัญ

ปัจจุบันตัวเร่งปฏิกิริยามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ในแต่ละปีสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณในการวิจัยมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตกว่าสามสิบสองล้านล้านบาท ในแต่ละปี ประเทศไทยนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับปฏิกิริยาเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นมูลค่ามากกว่าพันล้านบาท ดังนั้นการพัฒนาความรู้พื้นฐานอันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาในเชิงอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศโดยองค์รวม
รศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล เป็นนักวิจัยคนแรกๆที่ได้บุกเบิกงานทางด้านการออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาในประเทศไทย โดยเฉพาะการศึกษาโครงสร้าง กลไกและการออกแบบสารประกอบที่มีโครงสร้างในระดับนาโนเมตร เช่น ซีโอไลท์ และอนุภาคโลหะ ซึ่งใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยอาศัยระเบียบวิธีทางเคมีคอมพิวเตอร์ผสมผสานกับการทดลองและวิจัยในห้องทดลอง รศ.จำรัสได้ทำงานวิจัยด้านนี้ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาเทคนิคระเบียบวิธีวิจัย การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนการประยุกต์ใช้วัสดุตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมเคมี รวมถึงได้สร้างห้องปฏิบัติการและกลุ่มนักวิจัยที่มีคุณภาพ...
ห้องปฏิบัติการเคมีคอมพิวเตอร์และเคมีประยุกต์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งโดยรศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล ได้ทำการศึกษาและวิจัยทั้งทางทฤษฎีและการทดลองอันก่อให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่และความเข้าใจในระดับลึกมากขึ้นเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าว และในขณะนี้ทางห้องปฏิบัติการ ได้ทำการพัฒนาและคิดค้นเทคนิคใหม่ "QM/OFF" mixed electronic structure theory และ Our Own Force Fields ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการคำนวณแบบขนาน (Parallel Computing Cluster) เพื่อใช้ศึกษาระบบที่มีขนาดใหญ่ เช่น zeolite catalyst, polymer and biomolecules ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ทีมงานวิจัยได้นำเครื่อง Temporal Analysis of Products (TAP)มาใช้เพื่อศึกษากลไกการเกิดปฏิกิริยาในซีโอไลท์ และนับเป็นครั้งแรกในโลกที่ได้นำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ใช้กับตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนเมตร ภายใต้การสนับสนุนจาก ส.ก.ว.

ผลกระทบของงานวิจัย

1. ผลงานวิจัยที่ผ่านมาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำในระดับนานาชาติ เช่น Chemical Physics Letters, Chemical Physics, Journal of Physical Chemistry, Journal of Catalysis เป็นต้น
2. ผลงานวิจัยได้รับการอ้างอิงและนำไปประยุกต์ใช้ โดยกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ " Cavendish Laboratory มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)
" ภาควิชาเคมี Imperial College of Science Technology and Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน
" Davy Faraday Research Laboratory สถาบัน Royal Institute of Great Britain,
" ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเล่ (University of California, Berkeley),
" Max Planck Institute ในประเทศเยอรมัน
" ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยโตเกียว และ
" Shell Research Laboratory, Amsterdam และ
" Nippon Advanced Technology Co. Ltd.เป็นต้น
3. การขยายความร่วมมือทางการวิจัยไปยังภาคอุตสาหกรรม เช่น ร่วมวิจัยในการออกแบบ วัสดุระดับนาโนเมตรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมีกับบริษัท Dow Chemical, USA

ความร่วมมือกับองค์กรวิจัยในประเทศและระดับนานาชาติ

รศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล และทีมงานวิจัย ได้ร่วมกันบุกเบิกและก่อตั้ง ห้องปฏิบัติการทางเคมี คอมพิวเตอร์ และเคมีประยุกต์จนเป็นห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง และยังมีส่วนสำคัญ ในการสร้าง ศูนย์ความเป็นเลิศ เพื่อการศึกษาและวิจัยขั้นสูงทางด้านเคมีซีโอไลต์และวิศวกรรมตัวเร่งภายใต้ Center of Excellence in Molecular and Engineering Catalysis ของโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยทางปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นโครงการร่วมในประเทศระหว่างภาควิชาเคมีและ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากนี้รศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล และทีมงานวิจัยยังได้มีการร่วมมือในด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชั้นนำอื่นๆ ทั้งในประเทศ เช่น มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัย Karlsruhe ประเทศเยอรมัน, มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน, มหาวิทยาลัย Bordeaux ประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัย Utah ประเทศสหรัฐอเมริกา


ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม

รศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูลร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม คือบริษัท Dow Chemical ในสหรํฐอเมริกา ในการออกแบบวัสดุระดับนาโนเมตรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลการศึกษาโครงสร้าง และหน้าที่สำคัญของสารประกอบที่มีโครงสร้างในระดับนาโนเมตร จึงนำไปสู่การออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาและได้ขยายผลงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ในการออกแบบวัสดุระดับนาโนเมตรในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี