ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2539 สาขาเกษตรศาสตร์ และชีววิทยา
จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2538 สาขาสัตวบาล
จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
................................................................................................................................................

คำประกาศเกียรติคุณ

คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ จรัญ จันทลักขณา แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนให้กับงานวิจัยด้านโคและกระบืออย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 30 ปี เป็นผู้ที่มีบทบาทผลักดันและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคและกระบือให้ได้พันธุ์ดีมีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประเทศ ได้ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ประโยชน์จากแรงงานของโคและกระบือมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ศาสตราจารย์ จรัญ จันทลักขณา เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการอย่างกว้างขวาง สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ จึงมีมติประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ จรัญ จันทลักขณา เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2539 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา




ประวัติส่วนตัว
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2479 ที่ อ.เมือง จ.สงขลา จบชั้นประถมจากโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดชายน้ำ) ชั้นมัธยมจากโรงเรียนวชิรานุกูล และเตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สองปีก่อนได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาสัตวศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีเมื่อ ค.ศ. 1959 และได้รับ Gamma Sigma Delta Membership Award (Honor Society in Agriculture) จบปริญญาโทและเอก โดยได้รับรางวัล Centenial Scholar Award for Outstanding Foreign Graduate Student
ประวัติการทำงาน
เข้ารับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีวิจัย มก. (ทับกวาง) เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งสถานีวิจัยกำแพงแสน (ม.ก.) เป็นหัวหน้าภาควิชาสัตวบาลสองสมัย เป็นผู้ช่วยคณบดีคณะเกษตร เป็นคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ (ม.อ.) เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผนพัฒนา (ม.ก.) เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นคณะกรรมการระดับชาติและระดับนานาชาติในสาขาต่างๆมากมาย เป็นกรรมการ TAC (Technical Advisory Committee)/CGIAR (ค.ศ. 1986-1990) เป็นกรรมการก่อตั้งสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติ (ILRI, International Livestock Research Institute) และเป็น Vice-chairman ของ Board of Trustee ของ ILRI (1994-2000)
ได้ทำการสอนและวิจัยอย่างต่อเนื่องมากว่า 35 ปี ในสาขาสัตวศาสตร์และสถิติ จากผลงานวิจัยค้นคว้าและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตกระบือ ทำให้ได้รับรางวัลต่างๆทั้งระดับชาติและนานาชาติมากมาย รวมทั้งรางวัลนักสัตวศาสตร์ดีเด่นแห่งเอเชีย และออสเตรเลีย เมื่อ ค.ศ. 2000 ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ระดับ 11 ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 รวมทั้งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก University of Melbourne (Australia) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์




ผลงานวิจัยโดยสรุป
ได้เริ่มต้นงานวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โดยการผสมข้ามพันธุ์ที่สถานีวิจัยทับกวาง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 โดยทดลองผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์เฮอร์ฟอร์ด จากสหรัฐอเมริกากับโคพันธุ์พื้นเมือง และโคอินเดียพันธุ์เรดซินดิ ทำให้ได้ข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโคพื้นเมือง เป็นโคเนื้อคุณภาพดีโดยใช้เชื้อพันธุ์จากอเมริกาและอินเดีย
ต่อมาได้ย้ายงานวิจัยมาดำเนินการต่อที่สถานีวิจัยกำแพงแสน เนื่องจากต้องมาร่วมทำงานบุกเบิกวิทยาเขตกำแพงแสนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 และเริ่มวางแนวทางการวิจัยและพัฒนาโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน โดยอาศัยข้อมูลเดิมและโคทดลองเดิมที่ย้ายมาจากสถานีทับกวางได้วางพื้นฐานแผนปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อโดยใช้โคพื้นเมืองผสมข้ามกัยพันธุ์บราห์มัน คัดเลือกโคพันธุ์ผสม (ไทย-บราห์มัน) แล้วผสมข้ามกับโคพันธุ์ชาโรเลส์ (จากสหรัฐอเมริกา) จนได้โคพื้นฐานพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเรียกว่า โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน และได้ก่อให้เกิดกลุ่มนักวิจัย และพัฒนาพันธุ์โคเนื้อในประเทศไทยขึ้นเป็นจำนวนมาก และใน พ.ศ. 2537 จึงได้รับโล่รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการโคเนื้อในงานวันโคเนื้อแห่งชาติ โดยได้รับโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เมื่อ พ.ศ. 2514 โดยที่เล็งเห็นความสำคัญของกระบือต่อเศรษฐกิจและสังคมในชนบทไทยและปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการเลี้ยงกระบือ คือ กระบือมีขนาดเล็กลงเนื่องจากขาดการวิจัยและพัฒนา และจำนวนกระบือลดน้อยลงเนื่องจากการฆ่าเพื่อบริโภคในอัตราสูง จึงได้เริ่มงานวิจัยและพัฒนากระบือร่วมกับกรมปศุสัตว์ และจัดทำโครงการร่วมมือในการปรับปรุงพันธุ์กระบือที่สถานีปรับปรุงพันธุ์สัตว์ จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา โดยมีการก่อตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือแห่งชาติที่กรมปศุสัตว์ และจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากระบือและโคขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ซึ่งก่อนนั้นก็ได้ดำเนินงานเป็นโครงการวิจัยร่วม (กับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานอื่นๆ ) อยู่แล้ว จากการริเริ่มดังกล่าวแล้วทำให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่และงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องกระบือขึ้นมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาจึงได้ร่วมกับสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งศูนย์สนเทศกระบือนานาชาติขึ้น (International Buffalo Information Center, IBIC) ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงและมีความเป็นผู้นำในสาขาวิจัยเรื่องกระบืออย่างเด่นชัด
ใน พ.ศ. 2528 จึงได้รับรางวัล Science Pioneer Prize จาก World Buffalo Federation
พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์เกษตรดีเด่น จากสมาคมวิทยาศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการปศุสัตว์ไทย จากสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยและรางวัลอื่นๆในระดับนานาชาติ
เนื่องด้วยผลงานวิจัยในสาขาปศุสัตว์ ในช่วง พ.ศ. 2529-2533 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ TAC (Technical Advisory Committee) ของ CGIAR (Consultative Group on International Agricultural Research) พ.ศ. 2537 เป็นกรรมการ Implementing Advisory Committee ของ CGIAR ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติ และใน พ.ศ. 2538-2543 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการบริหาร (Board of Trustee) ของสถาบัน ILRI (International Livestock Research Institute) นอกจากนั้น ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาของหน่วยงานนานาชาติอื่นๆ อีกหลายแห่ง