การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Research and Development of Baby Corn Variety of Kasetsart University
................................................................................................................................................
โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1 ชไมพร เอกทัศนาวรรณ2 นพพงศ์ จุลจอหอ1
ฉัตรพงศ์ บาลลา1 ทศพล ทองลาภ1 และ ปราโมทย์ สฤษดิ์นิรันดร์3
1 ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านพืชศาสตร์
2 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี และ 3 ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมข้าวโพดฝักอ่อนเริ่มต้นในไต้หวันและย้ายมาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2512 และอุตสาหกรรมข้าวโพดฝักอ่อนมาประสบความสำเร็จในประเทศไทย ข้าวโพดฝักอ่อนจัดเป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ โดยเริ่มส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2514 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ส่งออกได้ 378 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.9 ล้านบาท ข้าวโพดฝักอ่อน จัดเป็นพืชผักอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเริ่มส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2514 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ส่งออกได้ 378 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.9 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2544 ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 61,461 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,784.2 ล้านบาท โดยส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฯลฯ และยังได้ส่งข้าวโพดฝักอ่อนสดไปยังประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ฯลฯ จำนวน 4,544 ตัน คิดเป็นมูลค่า 184.9 ล้านบาท โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นเวลาร่วม 20 ปี นอกจากนี้ ยังมีการบริโภคข้าวโพดฝักอ่อนสดในประเทศ ไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ในปีเพาะปลูก 2544/2545 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูก 231,865 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,307 กก./ไร่ และมีปริมาณผลผลิต 286,885 ตัน การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนให้ผลพลอยได้จากส่วนที่เหลือของข้าวโพดฝักอ่อน เช่น เปลือก ไหม และต้น นำมาใช้เป็นอาหารหยาบเลี้ยงโคเนื้อและโคนมได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยเริ่มผลิตข้าวโพดฝักอ่อนโดยใช้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เช่น พันธุ์กัวเตมาลา) ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเทียน แต่พันธุ์เหล่านี้ไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานมีราคาสูง เกษตรกรจึงหันมาใช้ข้าวโพดไร่พันธุ์สุวรรณ 2 ซึ่งเมล็ดพันธุ์มีราคาถูกกว่าและต้านทานโรคราน้ำค้าง แต่ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เทคโนโลยีในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่แนะนำให้ใช้ คือ วิธีการถอดยอด
ข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์ผสมเปิด
ข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์ผสมเปิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผลพลอยได้จากการปรับปรุงพันธุ์ผสมเปิดของข้าวโพดไร่ คือ พันธุ์สุวรรณ 2 และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานพันธุ์ไทยซูเปอร์สวีทคอมพอสิต 1 ดีเอ็มอาร์ มาทดลองผลิตเป็นข้าวโพดฝักอ่อนโดยใช้วิธีการถอดยอด และพบว่า มีลักษณะฝักอ่อนและสีตรงตามความต้องการของโรงงาน นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดใช้ทำพันธุ์ต่อได้ 2-3 ชั่ว พันธุ์ผสมเปิดทั้งสองพันธุ์ได้นำมาใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมในการสกัดสายพันธุ์แท้ เพื่อใช้ในการสร้างข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสม พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แนะนำสู่เกษตรกร มีดังนี้
พันธุ์สุวรรณ 2 ฝักอ่อนสีเหลืองสีครีม มีขนาดตรงความต้องการของโรงงาน สามารถปลูกถี่ได้จำนวนต้นประมาณ 20,000 ต้น/ไร่ โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 75 ซม.และระหว่างต้น 20 ซม. จำนวน 2 ต้น/หลุม หรือระยะระหว่างแถว 50 ซม. และระหว่างต้น 50 ซม.จำนวน 3 ต้น/หลุม เนื่องจาก มีต้นสูงปานกลางและมีระบบรากแข็งแรง นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว และต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง
ลักษณะประจำพันธุ์สุวรรณ 2 ให้ผลผลิตน้ำหนักฝักทั้งเปลือกประมาณ 743 กก./ไร่ น้ำหนักฝักปอกเปลือก 118 กก./ไร่ น้ำหนักฝักมาตรฐาน 80 กก./ไร่ มีจำนวนฝัก 2-3 ฝัก/ต้น ฝักอ่อนมีความยาว 7-10 ซม. ความกว้างฝัก 1-1.5 ซม. ฝักมีสีเหลืองครีม มีน้ำหนักฝักทั้งเปลือกต่อน้ำหนักฝักปอกเปลือก 7:1 มีอายุเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังจากปลูก 42-45 วัน มีช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 7-10 วัน ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมทั่วไป และต้านทานโรคราน้ำค้าง
พันธุ์ไทยซูเปอร์สวีทคอมพอสิต1 ดีเอ็มอาร์ มีคุณภาพฝักอ่อนดีมากให้รสชาติหวาน ฝักมีสีหลืองเข้ม มีไข่ปลาหรือรังไข่ สวย และแถวเรียงตรง แต่มีต้นสูงใหญ่ ทำให้ล้มง่ายเมื่อปลูกถี่ มีอายุเก็บเกี่ยวช้ากว่าพันธุ์สุวรรณ 2 ต้านทานโรคราน้ำค้างต่ำกว่า และมีราคาเมล็ดพันธุ์สูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 2
ลักษณะประจำพันธุ์ พันธุ์ไทยซูเปอร์สวีทคอมพอสิต1 ดีเอ็มอาร์ ให้ผลผลิตน้ำหนักทั้งเปลือก 1,000-1,200 กก./ไร่ น้ำหนักฝัก 150-180 กก./ไร่ น้ำหนักฝักมาตรฐาน 130-150 กก./ไร่ มีจำนวนฝัก 1-2 ฝัก/ต้น ฝักอ่อนมีความยาว 9-11 ซม. ความกว้างฝัก 1-1.5 ซม. ฝักมีสีเหลืองเข้ม น้ำหนักฝักทั้งเปลือกต่อน้ำหนักปอกเปลือก 7.5 : 1, มีอายุเก็บเกี่ยวครั้งแรก 55-60 วัน มีช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 10 วัน ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างปานกลาง
 

ข้าวโพดฝักอ่อนที่ไม่ต้องถอดยอด
การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนโดยวิธีดั้งเดิม ต้องใช้วิธีการถอดยอดหรือช่อดอกตัวผู้ เพื่อเร่งให้เก็บเกี่ยวฝักอ่อนได้เร็วขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ทีซึ่งจะทำให้ฝักอ่อนที่ได้มีไข่ปลาบวมพองไม่เป็นที่ต้องการของโรงงาน แต่การใช้วิธีการถอดช่อดอกตัวผู้ต้องใช้แรงงานและสิ้นเปลืองเวลามาก และทำให้สูญเสียใบบางส่วน เป็นผลให้ผลผลิตลดลง ค่าแรงงานในการถอดยอดคิดเป็นร้อยละ 3.76 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดและสูงเป็นลำดับที่สองรองจากค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยว (15.61 เปอร์เซ็นต์) ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงงานในประเทศสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหาแรงงานด้านการเกษตรได้ยากขึ้น เป็นผลจากการที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความเป็นผู้นำทางด้านการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนเพื่อการส่งออกให้แก่ประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เช่น ซิมบับเว อินเดีย จีน และเวียดนาม เป็นต้น ดังนั้น พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดจะช่วยให้ประเทศไทยยังคงความเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนอันดับ 1 ของโลก
ข้าวโพดฝักอ่อนที่ไม่ต้องถอดยอด : พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 การสร้างพันธุ์ทำในปี พ.ศ. 2531-2534 โดยใช้ลักษณะเพศผู้เป็นหมันอันเนื่องมาจากไซโตพลาสซึม (cytoplasmic male sterility) ชนิด C จาก IITA ประเทศไนจีเรีย จำนวน 4 สายพันธุ์ และจากประเทศกัวเตมาลา 1 สายพันธุ์ เป็นแม่ ผสมกับพันธุ์สุวรรณ 2 (Suwan 2(S)C7) และผสมกลับ โดยใช้พันธุ์สุวรรณ 2 เป็นพ่อ จำนวน 5 ครั้ง สำหรับสายพันธุ์จากไนจีเรีย และ 2 ครั้ง สำหรับสายพันธุ์จากกัวเตมาลา ในปี พ.ศ. 2535-2537 พัฒนาพันธุ์พ่อ (maintainer) และพันธุ์แม่ เพื่อใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่มีเพศผู้เป็นหมัน (พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1) ผลการทดสอบพันธุ์ในสถานีทดลองต่าง ๆ รวม 12 แห่ง ในฤดูฝนปี พ.ศ. 2536 พบว่า พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 ให้ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก (925 กก./ไร่) น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก (175 กก./ไร่) น้ำหนักฝักสดมาตรฐาน (121 กก./ไร่) จำนวนฝักสดมาตรฐาน (64%) อัตราแลกเนื้อ (5.29) และจำนวนฝัก (2.24 ฝัก/ต้น) มากกว่าพันธุ์สุวรรณ 2 และใกล้เคียงกับพันธุ์เชียงใหม่ 90 นอกจากนี้ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 ยังมีลักษณะฝักสดและสีเหมือนพันธุ์สุวรรณ 2 มีอายุเก็บเกี่ยวเท่ากับพันธุ์สุวรรณ 2 (44 วัน) มีความสูงต้นและฝัก (187 และ 106 ซม.) สูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 2 เล็กน้อย มีระบบราก ความต้านทานโรคราน้ำค้าง และโรคทางใบใกล้เคียงกับพันธุ์สุวรรณ 2 และมีน้ำหนักต้นสด (5,032 กก./ไร่) มากกว่าพันธุ์สุวรรณ 2 (4,389 กก./ไร่) ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้แนะนำพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 สู่เกษตรกรในปี พ.ศ. 2538
ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ได้มาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ข้าวโพดฝักอ่อน (Kasetsart 1 x Ki 28)BC8 ที่เพศผู้เป็นหมันอันเนื่องมาจากไซโตพลาสซึม (cytoplasmic male sterility, cms) กับสายพันธุ์แท้ KSei 14004 หรือ [(sh2 Syn 29 x KS1) x Suwan 3(S)C4]-F4-S8-24-2-4-2-2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อของข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยวพันธุ์อินทรี 2 ผลการทดสอบพันธุ์ที่ไร่สุวรรณ ในต้นฤดูฝน ปี 2541 และฤดูแล้ง และปลายฤดูฝนของปี 2542 พบว่า พันธุ์ลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอด เกษตรศาสตร์ 2 ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก 1,280 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดปอกเปลือก 235 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดที่ดี 195 กก./ไร่ และเปอร์เซ็นต์ฝักมาตรฐาน 83% สูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 (48, 62, 105 และ 27% ตามลำดับ), พันธุ์ PACB 421 (12, 26, 40 และ 11% ตามลำดับ) และพันธุ์ G-5414 (30, 13, 35 และ 19% ตามลำดับ) นอกจากนี้ ยังให้อัตราแลกเนื้อ 5.47 สูงกว่าพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 1, PACB 421 และ G-5414 ซึ่งให้อัตราแลกเนื้อ 6.05, 5.59 และ 6.80 ตามลำดับ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 มีอายุเก็บเกี่ยววันแรก 54 วัน, ให้จำนวน 1.30 ฝัก/ต้น, ลักษณะฝักสีเหลือง ปลายมน ไข่ปลาเรียงตัวสม่ำเสมอ, ความสูงต้น 200 ซม., ความสูงฝัก 112 ซม., ต้านทานโรคทางใบและการหักล้ม และให้น้ำหนักต้นสด 7,032 กก./ไร่
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ "พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2" เผยแพร่สู่ภาครัฐและเอกชนในปี พ.ศ. 2542



พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ได้รับรางวัลชมเชย สาขาพืช เรื่อง "การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวที่ไม่ต้องถอดยอดพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2" ในการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 39 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545