การผสมเทียมพันธุ์ปลา
FISH ARTIFICIAL PROPAGATION
................................................................................................................................................
วิทย์ ธารชลานุกิจ
ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      การเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย มีการเลี้ยงมานาน
ไม่น้อยกว่า 80 ปี โดยในระยะแรกเป็นการเลี้ยงปลาร่วม
กับการเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ แหล่งของพันธุ์ปลา
ได้มาจากการรวบรวมลูกปลาในธรรมชาตินำมาเลี้ยงใน
บ่อหรือในนาข้าวรวมทั้งคูร่องสวน ชนิดของสัตว์น้ำได้แก่
ปลาดุก ปลาสวาย และ ปลาตะเพียน เป็นต้น พันธุ์ปลา
หลายชนิดนำเข้ามาจากประเทศจีนเพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำ
ที่มีราคา ได้แก่ ปลาหลี (ปลาไน) common carp Cyprinus
carpio
ปลาเล่ง หรือปลาลิ่น ( silver carp Hypophthalmicthys
molitrix
) ปลาซ่ง ( big head carp Aristichthys nobilis) และ
ปลาเฉา ( grass carp Ctenopharyngodon idellus) ส่วนปลา
ที่มีราคาถูกแต่ได้ทำให้สุขภาพคนไทยดีขึ้น นำเข้ามาจาก
ต่างประเทศเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปลาหมอเทศ Afican หรือ
Malayan tilapia, Oreochromis massambica ปลาหมอเทศ
ข้างลาย Oreochromis melanopleura และปลานิล Nile tilapia,
Oreochromis nilotica
      ในปี พ.ศ 2500 การเพาะขยายพันธุ์ปลาดุกด้านโดยวิธีการ
เพาะแบบเลียนแบบธรรมชาติภายใต้สภาวะควบคุม ได้ประสบ
ความสำเร็จ ต่อมาได้เพาะพันธุ์ ปลาสลิด ปลาตะเพียน ปลาสวาย
ปลาช่อน ปลาบู่ทราย และปลากดเหลือง รวมทั้งปลาสวยงามหลาย
ชนิด เป็นต้น พันธุ์ปลาหลายชนิดตามธรรมชาติอาศัยอยู่ในแหล่ง
น้ำไหล ไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้ในที่กักขัง เช่นในบ่อเลี้ยง
โดยที่ปลาทั้งสองเพศสามารถเจริญพันธุ์ได้ น้ำเชื้อและมีไข่แก่
แต่ไม่ผสมพันธุ์วางไข่ เช่น ปลาจีน เป็นต้น จึงได้มีการศึกษา
วิจัยการเพาะพันธุ์ปลาจีนด้วยกรรมวิธีผสมเทียม โดยการใช้
ฮอร์โมนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา

 
     ความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในการเพาะ
ขยายพันธุ์ปลาจีนโดยใช้ฮอร์โมนเร่งให้ไข่แก่และน้ำเชื้อ
ดีพร้อมจะผสมเทียมได้ ดำเนินการโดย ศาสตราจารย์ เมฆ
บุญพราหมณ์ และศาสตราจารย์วิทย์ ธารชลานุกิจ โดยการ
ใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลาไนในปี 2507 ณ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวิธีการคำนวณปริมาณฮอร์โมน
เพื่อใช้ฉีดแก่พ่อแม่พันธุ์ปลาใช้หลักการเทียบเป็นอัตรส่วน
ของน้ำหนักของปลาที่ใช้เก็บต่อมใต้สมองต่อน้ำหนักของปลา
ที่จะฉีด ต่อมใต้สมองที่ใช้สามารถเก็บรักษาไว้ในน้ำยาอะซีโตน
หรือในเอทธิลแอลกอฮอลล์บริสุทธิ์ และสามารถนำมาใช้ได้ตาม
เวลาที่ต้องการ
      การพัฒนาเทคนิคของการใช้ฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการ
วางไข่ จากการเลี้ยงที่ถูกต้องและเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อม
ได้นำมาสู่การผสมเทียมปลาโดยวิธีการต่างๆ เรียกกันว่า
วิธีการผสมเปียก การผสมแห้ง และวิธีการแบบประยุกต์
วิธีการต่างๆนำไปสู่ความสำเร็จในการใช้เพื่อเพาะขยาย
พันธุ์ปลาไทยที่สำคัญทางเศรษฐกิจในระยะต่อมา ได้แก่
ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาดุกอุย ปลาบู่ทราย ปลาแก้มช้ำ
ปลาทรงเครื่อง และปลากาแดง ซึ่งในปัจจุบัน พันธุ์ปลาแทบ
ทุกชนิด หากได้ถูกนำมาเลี้ยงจนสามารถเจริญพันธุ์ หรือ
สามารถได้พ่อแม่ที่สมบูรณ์พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ย่อม
สามารถใช้เทคนิคการผสมเทียมพันธุ์ปลาได้เป็นผลสำเร็จ
ทั้งสิ้น ในปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์หลายชนิดมา
ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการเพาะพันธุ์ปลาโดยอิงหลักการ
เดียวกัน