การสังเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน : กรณีศึกษาครูภูมิปัญญาไทยในภาคกลาง
Synthesis and Exchange of Ideas on Debt Solution of
Folk Wisdom’s Teachers in Central Region
  

                การวิจัยเรื่องนี้เป็นการสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการ ยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ วิธีการวิจัยใช้Triangular Techniques ประกอบด้วย การศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์ในพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยถึงสาเหตุแห่งหนี้สินและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูภูมิปัญญาไทย 5 รายในเขตภาคกลาง ดังนี้

  1. ผศ.เด่นศิริ ทองนพคุณ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ 19/1 ถ.เพชรเกษม อ.หนองแขม กรุงเทพฯ 10160 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 4 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ทำงานร่วมกับคนในชุมชนขับเคลื่อน “ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม” โดยใช้หลักการผนึกกำลังของคนในชุมชน 3 กลุ่ม คือ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร)
    เพื่อทำให้แม่น้ำท่าจีนใสสะอาดเป็นแหล่งพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
  2. นายสรณพงศ์ บัวโรย บ้านเลขที่ 99/13 หมู่ 12 ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 3 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือทำงานร่วมกันของคนในชุมชนด้วยการศึกษาวิถีชีวิตของชุมชน ศึกษาปัญหาและแสวงหาภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา จากนั้นนำความรู้ที่สังเคราะห์ได้มาทดลองปฏิบัติจนมั่นใจว่าสามารถใช้ได้จริงจึงขยายผลสู่ชุมชน เช่น การนำขี้แดดนาเกลือซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือทิ้งจากการทำนาเกลือมาใส่ในไม้ผลเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับไม้ผล การใช้ยางรถยนต์เป็นแนวกั้นคลื่นป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลน  การนำน้ำมะพร้าวที่มีอยู่มากมายในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น วุ้นเห็ด เป็นต้น
  3. นางศรีสมร คงพันธุ์ โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ ตลาดยิ่งเจริญ  สะพานใหม่ ถ.พหลโยธิน อ.บางเขน    กรุงเทพฯ10220 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 2 ด้านโภชนาการจากผลผลิตการเกษตร ผู้ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพด้านอาหารที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ด้วยการ “คิดให้เป็น” หมายถึง การคิดวางแผนล่วงหน้าว่าวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารสามารถนำมาทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การคำนวณค่าใช้จ่ายเพื่อหาต้นทุนการผลิต การตั้งราคาขาย รวมทั้งการหาตลาด โดยเริ่มจากกิจการเล็กๆ แล้วค่อยขยายกิจการหากได้รับการตอบรับดี เป็นต้น
  4. นายอุดม กลีบมาลัย บ้านเลขที่ 78/4 หมู่ 1 ต.บ้านหลวง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 13110 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 3 ด้านเกษตรกรรม ผู้ริเริ่มวิจัยพันธุ์ข้าวเจ้านาปีเพื่อคัดพันธุ์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักพุทธศาสนามาใช้ในการดำรงชีวิตด้วยการรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน และรู้บุคคล
  5. นายสำรวย มีสมชัย บ้านเลขที่ 70/2 หมู่ 6 ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา 13230 ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ผู้ร่วมสร้างโครงการที่ดินทำกินของเกษตรกรบนพื้นที่ 37 ไร่ โดยให้เกษตรกรวางแผนการผลิตอย่างครบวงจร ปลูกพืชตามที่ตลาดต้องการ และรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ผลการศึกษาเพื่อตอบโจทย์งานวิจัย พบว่า
สาเหตุแห่งหนี้สิน ได้แก่

  1. การชอบความสนุก สะดวก สบาย ไม่สนใจรากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน การมีหนี้สินจึงเปรียบเสมือนเป็น “กรรมสายใย” ซึ่งเกิดจากการกระทำของบุคคลนั้นเอง การมีทิฐิในตัวเองจึงมืดบอด ทำให้มองไม่เห็นปัญหาของตนเอง
  2. การไม่รู้จักตัวเอง การโอ้อวด การขาดความสมดุล การหลงตัวเอง หลงติดในลาภ ยศ สรรเสริญ การไม่รู้จักพอ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเพื่อให้ทัดเทียมกับผู้อื่น
  3. การใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะการเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต เพราะกู้ง่าย ใช้คืนยาก ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ง่าย
  4. การจนความคิด การคิดไม่เป็น วางแผนไม่เป็น รอให้คนอื่นคิดให้ รอให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ ส่วนตัวเองกลับประพฤติปฏิบัติตัวแบบคำพูดที่ว่า “มีเงินเท่ากับกินน้ำธรรมดา แต่กินไวน์ รายได้จึงไม่พอ”
  5. การไม่มีองค์ความรู้ และไม่รู้จักการนำองค์ความรู้ที่ตนเองมีอยู่ มาใช้จัดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน มีดังนี้

  1. การประหยัดด้วยการใช้อย่างรู้คุณค่าและรู้กาลเทศะ จึงเป็นการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด การทำบัญชีครัวเรือน บัญชีฟาร์มเพื่อให้รู้จักตนเอง รายจ่ายใดที่ไม่จำเป็นควรตัดทิ้งไป อย่าใช้จ่ายเกินตัว และหารายได้พิเศษ ให้มีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปีด้วยการประกอบอาชีพอย่างสุจริต
  2. การเห็นคุณค่าของตนเอง การค้นหาตัวเองให้เจอ การเรียนรู้เพื่อให้มีความรู้จริงในสิ่งที่ทำและเพียรพยายามพัฒนางานอาชีพของตนเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
  3. การคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ด้วยการคิดอย่างมีเหตุผล มองทุกอย่างให้รอบด้าน อย่างรอบคอบและ    ครบวงจร เช่น วางแผนการผลิตโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า และสามารถทดแทนการซื้อหาจากภายนอกด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย การใช้สารจากธรรมชาติ อาทิ ตะไคร้หอม สะเดา มูลค้างคาว น้ำหมักชีวภาพ แทนการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี เป็นต้น
  4. การนำหลักคิดและการปฏิบัติในศาสนาคริสต์มาใช้ คือ การ “รัก” และ การ “ให้” การมอบความรักเป็นการยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นการฝึกให้ทำความดีเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนและคำนึงถึงตนเองเป็นลำดับสุดท้าย
  5. การประพฤติปฏิบัติตนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังคำกล่าวที่ว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นยารักษาโรคความจน แท้จริงลงไปคือ การพึ่งตนเอง คือ ให้มีกิน  มีใช้  มีหลักประกันชีวิต และมีการดำรงชาติพันธุ์ชนเผ่าไว้ได้ ที่สำคัญอย่าลืมวัฒนธรรมของตนเอง"

“....การแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ต้องเน้นหลักคิด วิธีคิด การจัดการความคิด และใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือ
ให้นำไปคิดต่อยอดหาทางแก้ไขปัญหา แล้วลงมือกระทำหรือปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ด้วยการระเบิดจากข้างใน โดยนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเน้นการพึ่งตนเอง
เพื่อลดการพึ่งพิงคนอื่น จากนั้นก็พึ่งพากันเองในชุมชน เพื่อลดการพึ่งพิงจากภายนอก
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมกำกับเป็นสำคัญ...”

 

   


คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.สาวิตรี รังสิภัทร์ 1 รศ.ดร.ศุภพร ไทยภักดี 2 ผศ.ชัชชัย แก้วสนธิ2 น.ส.นันทกา แสงจันทร์3 และนายกฤษณะ ภานุวาส4
1ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
2ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  
3ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4นักสื่อสารมวลชนอิสระ
โทร. 0-2579-1025 ,1371หรือ 1374 (สายใน)