พฤติกรรมและความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนในจังหวัดนครปฐม
Behaviors and Needs for Exercise of Youth in Nakhon Pathom Provice
  

ความสำคัญของปัญหา

                การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน คงต้องอาศัยพื้นฐานจากการพัฒนาคน  ซึ่งคงหนีไม่พ้นการพัฒนาด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สิ่งที่จะทำให้บุคคลมีสุขภาพดีได้นั้น จะต้องเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในทุกด้านของแต่ละบุคคล ซึ่งการออกกำลังกายเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านสุขภาพ พฤติกรรมการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอและถูกต้องจะทำให้ร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงอดทนต่อการปฏิบัติงานและมีภูมิต้านทานโรค ดังนั้นการออกกำลังกายจึงมีความสำคัญกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังพัฒนาในหลายๆด้าน จากการศึกษาแนวโน้มและสถานการณ์การพัฒนาทางด้านคุณภาพ  ในแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติฉบับที่ 4 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยร้อยละ 50 มีสุขภาพต่ำกว่าเกณฑ์และจากข้อมูลการประเมินผลยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ 2548 – 2559 (ระยะครึ่งแผน) พบว่าการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนออกกำลังกายประสบผลสำเร็จในเชิงปริมาณ คือ เด็กและเยาวชน ออกกำลังกายร้อยละ 88.6 แต่เมื่อพิจารณาในเชิงคุณภาพมีเพียงร้อยละ 73.1 ที่ออกกำลังกาย ครั้งละ 30 นาที แล้วยังพบว่าเด็กและเยาวชนมีสุขภาพไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ49.4 (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา,2550:27) ซึ่งปัญหาต่างๆควรมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เด็กและเยาวชนขาดความสนใจในการออกกำลังกายและเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สังคม หรือแม้แต่การแข่งขันด้านวิชาการในการเรียนและมักจะอ้างถึงความไม่พร้อมด้านต่างๆ เช่น สถานที่ อุปกรณ์สถานที่ เวลา หรือสาเหตุ เนื่องมาจากพฤติกรรมของตัวเด็กเอง

                ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่บุคคลสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดี กิจกรรมการออกกำลังกายจึงเป็นประโยชน์อย่างมาก หากกิจกรรมที่จัดสนองตอบความต้องการและความสนใจและอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวเยาวชนเองด้วย จากความสำคัญดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาพฤติกรรมและความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนในจังหวัดนครปฐม  เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับเยาวชน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนชายและเยาวชนหญิงในจังหวัดนครปฐม
  2. เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการออกกำลังกายระหว่างเยาวชนชายกับเยาวชนหญิงในจังหวัดนครปฐม
  3. เพื่อเปรียบเทียบความต้องการการออกกำลังกายระหว่างเยาวชนชายกับเยาวชนหญิง ในจังหวัดนครปฐม

วิธีดำเนินการวิจัย

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 14- 18 ปีและกำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2552 จังหวัดนครปฐม จำนวน 420 คน เป็นเยาวชนชาย 210 คน เยาวชนหญิง 210 คนซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage  Random  Sampling)

              เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจำนวน 1 ชุด แบ่งเป็น 4 ตอน  ซึ่งผ่านการหาคุณภาพความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยการคำนวณหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of  Comitency: IOC)  ตามวิธีของ Roviaclli และ Hambleton และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ความเชื่อถือได้ ตามวิธีของ Cronbach

ตอนที่ 1 แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นแบบตรวจคำตอบ (Check List)  จำนวน 10 ข้อ

ตอนที่ 2 แบบสอบถามพฤติกรรมภายนอกที่ปฏิบัติจริงในการออกกำลังกายเป็นแบบตรวจคำตอบ (Check List)  จำนวน 12 ข้อ

ตอนที่3 แบบสอบถามพฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการออกกำลังกายเป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale)  4 ระดับ จำนวน 30 ข้อ โดยเป็นข้อคำถามเชิงบวก (นิมาน) จำนวน 17 ข้อและเป็นข้อคำถามเชิงลบ (นิเสธ) จำนวน 13 ข้อ

ตอนที่ 4 แบบสอบถามความต้องการออกกำลังกายเป็นแบบมาตราส่วนประเมินค่า(Rating Scale)   4  ระดับ จำนวน 26 ข้อ และแบบตรวจคำตอบ (Check List) 

การวิเคราะห์ข้อมูล

  1. แบบสอบถามตอนที่ 1 และตอนที่2 มาแจกแจงความถี่และคิดเป็นค่าร้อยละ
  2. นำแบบสอบถามตอนที่3 มาหาค่าเฉลี่ย  (X)  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)โดยการกำหนดความหมายของมาตราวัดประเมินค่าระหว่างข้อคำถามเชิงนิมานและข้อคำตอบเชิงนิเสธแล้วนำค่าเฉลี่ยมาเทียบกับเกณฑ์
  3. นำแบบสอบถามตอนที่ 4 มาหาค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานแล้วนำค่าเฉลี่ยมาเทียบกับเกณฑ์
  4. เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย แบบสอบถามตอนที่3และตอนที่4 ระหว่างเยาวชนชายกับเยาวชนหญิงโดยใช้ค่า t – test independent กำหนดความมีนัยสำคัญที่ระดับ .05

สรุปผลการวิจัย

            จากการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนชายและเยาวชนหญิง ในจังหวัดนครปฐม โดยใช้แบบสอบถาม มีข้อสรุปดังนี้

  1. เยาวชนชายและเยาวชนหญิงมีพฤติกรรรมภายนอกที่ปฏิบัติจริงในการออกกำลังกาย ในภาพรวมมีแนวโน้มไปทิศทางเดียวกันในหลายพฤติกรรมดังจะเห็นได้จากการตอบข้อคำถาม ซึ่งพบว่า บุคคลที่เยาวชนชายและเยาวชนหญิงไปออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาด้วยประจำได้แก่เพื่อน ความถี่ (ความบ่อย) ในการออกกำลังกายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จำนวนวันในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์จำนวน 1 – 2 วัน  ช่วงเวลาในแต่ละวันที่ใช้ออกกำลังกายอยู่ในช่วงเวลา 15.00 – 18.00 น. ในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องของน้ำดื่มทุกครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ในการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาจะมีอุปกรณ์เป็นของส่วนตัว ส่วนพฤติกรรมภายนอกที่ปฏิบัติจริงในการออกกำลังกายของเยาวชนชายและหญิงที่ต่างกันคือ สถานที่ที่ไปออกกำลังกายสำหรับเยาวชนชายนิยมไปออกกำลังกายที่สนามกีฬาทั่วไป ส่วนเยาวชนหญิงนิยมไปออกกำลังกายที่โรงเรียน  ประเภทของ                            การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาของเยาวชนชายจะชอบออกกำลังกายทั้งประเภทบุคคลและทีม ส่วนเยาวชนหญิงชอบออกกำลังกายประเภทบุคคล ในการออกกำลังกายของเยาวชนชายจะใช้เวลา 30 – 60 นาที/ ครั้ง ส่วนเยาวชนหญิงจะใช้เวลาน้อยกว่าคือใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที/ครั้ง  ในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเยาวชนชายส่วนใหญ่เคยได้รับการบาดเจ็บ เยาวชนหญิงส่วนใหญ่ไม่เคยบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

  2. พฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการออกกำลังกายของเยาวชนชายและเยาวชนหญิงในจังหวัดนครปฐม พบว่า
    1. พฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการออกกำลังกายจากข้อคำถามเชิงบวก (นิมาน) จำนวน 17 ข้อ  พบว่าเยาวชนชาย มีค่าเฉลี่ยรวม 3.36 อยู่ในเกณฑ์เห็นด้วยมาก เยาวชนหญิงมีค่าเฉลี่ยรวม 3.32  อยู่ในเกณฑ์เห็นด้วยมากเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าทั้งเยาวชนชายและเยาวชนหญิงมีความรู้ มีความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายในทางที่ถูกต้องเหมาะสม
    2. พฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการออกกำลังกายจากข้อคำถามเชิงลบ (นิเสธ) จำนวน13 ข้อ  เยาวชนชายมีค่าเฉลี่ยรวม 2.38 อยู่ในเกณฑ์เห็นด้วยน้อย เยาวชนหญิงมีค่าเฉลี่ยรวม 2.48 อยู่ในเกณฑ์เห็นด้วยน้อยเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าเยาวชนชายและเยาวชนหญิงมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายในทางที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดียวกัน
  3. ความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนชายและเยาวชนหญิง ในจังหวัดนครปฐม พบว่า
    1. ความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนชายค่าเฉลี่ยรวม 3.29 อยู่ในเกณฑ์ต้องการมากและเยาวชนหญิงค่าเฉลี่ยรวม 3.28 อยู่ในเกณฑ์ต้องการมากเช่นเดียวกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าเยาวชนชายและเยาวชนหญิงต่างให้ความสำคัญและมีความต้องการออกกำลังกายมาก
    2. ความต้องการชนิดของกิจกรรมการออกกำลังกาย 4 อันดับแรกของเยาวชนชาย พบว่า มีความต้องการออกกำลังกายด้วยกิจกรรมเดิน–วิ่ง ฟุตบอล/ฟุตซอล ขี่จักรยาน และเล่นตะกร้อ/เซปักตะกร้อ ส่วนเยาวชนหญิงมีความชอบกิจกรรมเดิน–วิ่ง ขี่จักรยาน แบดมินตัน และกระโดดเชือก ตามลำดับ
  4. พฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการออกกำลังกายระหว่างเยาวชนชายและเยาวชนหญิงมี                ความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ใน 9 หัวข้อ จำแนกข้อคำถามที่เป็นเชิงนิมาน แตกต่างกัน                         2  ข้อคำถาม คือ การออกกำลังกายทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น  ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยของการตอบคำถามข้อนี้เยาวชนชายมีค่าเฉลี่ย 3.04 สูงกว่าเยาวชนหญิงที่มีค่าเฉลี่ย 2.76  นั่นแสดงให้เห็นว่าเยาวชนชายมีความเชื่อหรือความเห็นว่าการออกกำลังกายจะช่วยทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้นสูงกว่าเยาวชนหญิง ส่วนในประเด็น การออกกำลังกายเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เยาวชนหญิงมีค่าเฉลี่ย 3.68 สูงกว่าเยาวชนชายที่มีค่าเฉลี่ย  3.54  นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าเยาวชนหญิงมีความรู้หรือความเชื่อว่าการออกกำลังกายนั้นถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากกว่าเยาวชนชาย  ส่วนข้อคำถามที่เป็นนิเสธพบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างเยาวชนชายและเยาวชนหญิง จำนวน 6 ข้อ ได้แก่ คนที่ร่างกายแข็งแรงเท่านั้นที่ควรออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเฉพาะกลางแจ้งเท่านั้น การออกกำลังกายที่ดีต้องใช้อุปกรณ์ช่วยทุกครั้ง                การออกกำลังกายที่ดีควรใช้กิจกรรมกีฬาเป็นสื่อ การออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์และสถานที่ที่ทันสมัยจะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการออกกำลังกายทำให้เมื่อยล้าและอาจได้รับบาดเจ็บ พบว่าเยาวชนชายมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าเยาวชนหญิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเยาวชนชาย มีความคิดเห็นใน 6 ข้อที่กล่าวมานั้นในทางบวกหรือมองในแง่ที่ดีมากกว่าเยาวชนหญิง ส่วนอีก 1 ข้อคำถามที่   เป็นนิเสธ ได้แก่ การออกกำลังกายจะทำให้เป็นคนมีชื่อเสียง พบว่าเยาวชนหญิง                มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าเยาวชนชาย  นั่นแสดงให้เห็นว่าเยาวชนหญิงมีความเข้าใจในประเด็นการออกกำลังกายจะทำให้เป็นคนมีชื่อเสียงถูกต้องมากกว่าเยาวชนชาย
  5. ความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนในจังหวัดนครปฐม  ระหว่างเยาวชนชายและเยาวชนหญิงพบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกข้อคำถาม นั่นแสดงให้เห็นว่าเยาวชนชายและเยาวชนหญิงมีความต้องการการออกกำลังกายที่เหมือนกันในทุกข้อคำถาม

ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย

  1. จากผลการศึกษาพบว่าพฤติกรรมการออกกำลังกายของเยาวชนในจังหวัดนครปฐมจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมภายนอกที่ปฏิบัติจริงกับพฤติกรรมภายในที่เกี่ยวกับความคิดเห็นไม่ค่อยจะสัมพันธ์กันโดยเฉพาะเยาวชนหญิงจะเห็นความแตกต่างชัดเจนโดยเยาวชนหญิงมีความคิดเห็นในทางที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ทราบถึงประโยชน์และโทษของการขาดการออกกำลังกาย แต่ในการปฏิบัติจริงเยาวชนไม่ได้นำมาปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องหาวิธีการหรือจัดกิจกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเข้าร่วมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
  2. จากผลการศึกษาความต้องการการออกกำลังกายของเยาวชนผู้ที่เกี่ยวข้องควรจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของเยาวชนดังนี้
    1. ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงรวมถึงขั้นตอนต่างๆ ของการออกกำลังกาย
    2. จัดผู้นำในการออกกำลังกายที่มีความรู้ ความสามารถ มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญสามารถกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย
    3. จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ สถานที่ที่เหมาะสำหรับการออกกำลังกายให้กับเยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องน้ำดื่

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

  1. ควรศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมภายนอกที่ปฏิบัติจริงในการออกกำลังกายของเยาวชน
  2. ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับความต้องการการออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กันหรือไม่

เอกสารอ้างอิง

กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข. 2550. รายงานสรุปการเฝ้าระวังพฤติกรรมการออกกำลังกายในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 6–19 ปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชศรีมา สงขลา และสมุทรปราการ ปี 2547 (online).  www.thaihed.com/htm/Show2.php? SID = 64

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. 2550. โครงการประเมินผลยุทธศาสตร์  4 ปี สร้างกีฬาชาติ พ.ศ.2548-2551 (ระยะครึ่งแผน). กรุงเทพมหานคร: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์จำกัด.

Bloom, Benjamin S. 1957. Taxonomy of Education Objective.  Hand Book 1 : CognitiveDomain . New York: David Mc.kay.

Bucher, C.A. 1983. Methods and Materials for Secondary School Physical Education. St.Louis:  The C.V. Mosby Co.

 

 

คณะผู้วิจัย
ผศ.คมกริช เชาว์พานิช และ ว่าที่ร้อยตรีศิริชัย ศรีพรหม
ภาควิชาพลศึกษาและกีฬา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 081 – 941-3158