นับตั้งแต่สังคมไทยมีนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นมาตรการและกลไกสำคัญยิ่งในกระบวนการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนไทยมีสุขภาวะอนามัยดีขึ้น มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น ลดภาวะเจ็บป่วย พิการ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และประการสำคัญ คือ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนที่เจ็บป่วยและเสียชีวิต ซึ่งสูงถึงปีละ 2-2.5 แสนล้านบาท (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , 2550) โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง และขาดการออกกำลังกาย โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ หน่วยงานมิใช่ภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดแผนงาน โครงการ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่มีนัยยะสำคัญกับกลุ่มเป้าหมาย และจัดสรรงบประมาณลงในโครงการขนาดเล็กและโครงการขนาดใหญ่ จำนวนนับหลายล้านบาท เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เกื้อหนุนให้คนไทยมีการออกกำลังกาย และกีฬาเป็นวิถีชีวิต เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนสร้างทุนทางสังคม วัฒนธรรมในด้านการกีฬาและออกกำลังกาย ครอบคลุมในพื้นที่สังคมเมือง และชนบท จนถึงพื้นที่ในภูมิภาคที่ห่างไกล ด้วยประเด็นตรรกะดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดคำถามที่ควรแสวงหาคำตอบว่าสังคมไทยมีการลงทุนด้านกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเป็นจำนวนเงินเท่าไร และแนวโน้มของการลงทุนอยู่ในรูปแบบโครงการลักษณะใดบ้าง เพื่อจะได้ฐานข้อมูลในการตัดสินใจในการวางแผนและจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
- เพื่อศึกษางบประมาณการลงทุนด้านการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
- เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยประชากรของการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
- เพื่อศึกษาประเภทของโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
วิธีดำเนินการวิจัย
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาพรรณาแบบย้อนหลัง (Retrospective descriptive study) ทำการเก็บข้อมูลการลงทุนในช่วงปีงบประมาณ 2548-2552 จากพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครปฐม ราชบุรี นครนายก ชลบุรี นครราชสีมา นครพนม นครศรีธรรมราช สงขลา และ สุราษฎร์ธานี โดยเก็บข้อมูลงบประมาณการลงทุนในโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจากหน่วยงาน 5 แห่ง คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลนคร/เทศบาลเมือง และนำมาวิเคราะห์เชิงพรรณนา จำนวน ร้อยละ อัตราส่วน และต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost)
ผลการศึกษา
1. งบประมาณการลงทุนด้านการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
การจัดสรรงบประมาณการลงทุนด้านการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของภาครัฐดำเนินการผ่านหน่วยงานหลัก 3 หน่วย คือ 1) หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งการดำเนินงานของหน่วยงานทั้ง 3 จะมีลักษณะการบริหารจัดการงบประมาณและวิธีการจัดสรรไปยังกลุ่มเป้หมายแตกต่างกัน ผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทุกปี และอัตราการลงทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 เท่าต่อปี ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 แสดงแนวโน้มจำนวนงบลงทุนระดับจังหวัด ช่วงระหว่างปี 2548-2552
นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบการลงทุนของหน่วยลงทุนระดับจังหวัดทั้ง 5 หน่วยงาน แสดงให้เห็นว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยงานที่มีการลงทุนมากที่สุด เท่ากับ 260,047,684 บาท ถัดมา คือ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด และเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง จำนวนเงินลงทุนเท่ากับ 229,489,513 และ 149,758,674 บาท ตามลำดับ ส่วนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการลงทุนน้อยที่สุด เท่ากับ 35,717,750 บาท ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบการลงทุนรายหน่วยงาน
2.ประเภทของโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
จากการเก็บข้อมูลโครงการทั้ง 2,095 โครงการ และได้นำมาวิเคราะห์จำแนกประเภทโครงการ พบว่า ประเภทของโครงการที่นิยมดำเนินการมากที่สุด คือ โครงการกีฬามวลชน ร้อยละ 25.16 รองลงมาได้แก่ โครงการกีฬาและนันทนาการของกลุ่มนักเรียน เยาวชน โครงการรณรงค์แก้ปัญหาสุขภาพเฉพาะประเด็น โครงการพัฒนาศักยภาพ ร้อยละ 19.95, 13.56 และ 13.13 ตามลำดับ ส่วนโครงการที่มีการดำเนินการน้อยที่สุด ได้แก่ โครงการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพสำหรับบุคคลด้อยโอกาส และโครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ร้อยละ 1.10 และ 1.29 ตามลำดับ ดังตารางที่ 1 ประกอบกับเมื่อพิจารณางบลงทุนที่ดำเนินในแต่ละโครงการก็มีความสอดคล้องกับจำนวนโครงการ โดยพบว่า โครงการกีฬามวลชนมีงบลงทุนมากที่สุด ร้อยละ 32.30 จากจำนวนงบลงทุนทั้งหมด โดยมีอบจ.เป็นผู้จัดสรรจำนวนสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ งบลงทุนในโครงการกีฬาและนันทนาการของกลุ่มนักเรียน เยาวชน คิดเป็นร้อยละ 27.44 ซึ่งมีสำนักงานกีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดเป็นผู้จัดสรรงบประมาณจำนวนสูงสุด และงบลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นร้อยละ 15.76 โดยมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรรงบประมาณจำนวนสูงที่สุด ส่วนโครงการที่มีการลงทุนน้อยที่สุด ได้แก่ โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของกลุ่มวัยผู้สูงอายุ และโครงการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพสำหรับบุคคลด้อยโอกาส ร้อยละ 0.14 และ 0.23 ตามลำดับ ดังภาพที่ 3
ตารางที่ 1 แสดงจำนวนและร้อยละโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ 13 จังหวัด
จังหวัด |
ประเภทโครงการ |
รณรงค์-สร้างกระแส
สุขภาพ |
พัฒนา
ศักยภาพ |
กีฬา
มวลชน |
พัฒนา
โครงสร้าง
พื้นฐาน |
กีฬา
นักเรียน เยาวชน |
ออกกำลังกาย
กลุ่มวัยผู้สูงอายุ |
ออกกำลังกาย
กลุ่มด้อยโอกาส |
แก้ปัญหาสุขภาพ
เฉพาะประเด็น |
เครือข่าย
ชมรม |
1. เพชรบูรณ์ |
9 (4.79) |
40 (21.28) |
35 (18.62) |
15 (7.98) |
16 (7.98) |
5 (2.66) |
3 (1.6) |
59 (31.38) |
7 (3.72) |
2. ตาก |
5(4.35) |
17(14.78) |
20(17.39) |
14(12.17) |
18(15.65) |
1(0.87) |
0 |
35(30.43) |
5(4.35) |
3. อุตรดิตถ์ |
0 |
4(2.46) |
43(29.66) |
7(4.83) |
29(20.0) |
2(1.38) |
0 |
40(27.59) |
20(13.79) |
4. นครสวรรค์ |
7(4.67) |
13(8.67) |
42(2.67) |
4(2.67) |
51(34.0) |
2(1.33) |
3(2.0) |
16(10.67) |
12(8.00) |
5. นครปฐม |
1(0.95) |
10(9.52) |
26(24.76) |
12(11.43) |
18(17.14) |
3(2.86) |
2(1.9) |
10(9.52) |
23(21.9) |
6. ราชบุรี |
0 |
10(5.85) |
57(33.33) |
18(10.53) |
53(30.99) |
5(2.92) |
0 |
11(6.43) |
17(9.94) |
7. นครพนม |
5(3.05) |
29(17.68) |
11(6.71) |
30(18.29) |
37(22.56) |
0 |
0 |
18(10.98) |
34(20.73) |
8. นครราชสีมา |
0 |
6(5.0) |
69(57.5) |
0 |
21(17.5) |
1(0.83) |
2(1.67) |
11(9.17) |
10(8.33) |
9. นครนายก |
10(9.01) |
8(7.21) |
42(37.84) |
3(2.7) |
25(22.52) |
0 |
0 |
22(19.82) |
1(0.90) |
10. ชลบุรี |
20(10.93) |
23(12.57) |
47(25.68) |
14(7.65) |
42(22.95) |
1(0.55) |
2(1.09) |
22(12.02) |
12(6.56) |
11. สงขลา |
43(13.48) |
52(16.3) |
69(21.63) |
38(11.91) |
54(16.93) |
4(1.25) |
1(0.31) |
34(10.66) |
24(7.52) |
12.นครศรีธรรมราช |
11(7.19) |
37(24.18) |
34(22.22) |
15(9.80) |
29(18.95) |
2(1.31) |
5(3.27) |
2(1.31) |
18(11.76) |
13.สุราษฎร์ธานี |
25(12.89) |
26(13.4) |
32(16.49) |
26(13.4) |
49(25.26) |
1(0.52) |
5(2.58) |
4(2.06) |
26(13.4) |
รวม |
136(6.49) |
275(13.13) |
527(25.16) |
196(9.36) |
418(19.95) |
27(1.29) |
23(1.1) |
284(13.56) |
209(9.98) |
ภาพที่ 3 แสดงร้อยละของงบประมาณจำแนกตามประเภทโครงการด้านการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
3. ต้นทุนต่อประชากรในโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ผลของการคำนวณงบลงทุนต่อหัวประชากร (Unit cost) 5 ปี ย้อนหลัง พบว่า งบประมาณต่อประชากร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยรายปีเท่ากับ 10.36, 12.29, 12.27, 13.64 และ 20.93 บาท/คน/ปี ตามลำดับ โดยเฉลี่ยทั้ง 5 ปี เท่ากับ 13.90 บาท/คน/ปี ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 แสดงค่าเฉลี่ยงบลงทุนต่อหัวประชากร (Unit cost)
สรุปและอภิปรายผล
งบประมาณการลงทุนด้านการส่งเสริมออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพของประเทศไทยในระยะ 5 ปี ที่ผ่าน เป็นจำนวนเงินสูงถึง 679,854,402 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จังหวัดสงขลามีการลงทุนสูงสุด รองลงมา คือ สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา ตามลำดับโดยที่สัดส่วนเงินลงทุนในโครงการกีฬามวลชนมากที่สุด แต่ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่าโครงการประเภทส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและกลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพมีการลงทุนในสัดส่วนน้อยที่สุด ซึ่งสภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มวัยทั้งสองกลุ่มที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสุขภาพ (Risk groups) ซึ่งข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2550) พบว่าประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย สะท้อนถึงในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาการลงทุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ ยังไม่สามารถจัดการปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีสาเหตุมาจากการขาดการออกกำลังกาย หรือการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (Physical inactivity) ซึ่งนับวันจะเป็นปัญหาสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต (WHO, 2003) อาจเป็นไปได้ว่ารูปแบบโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายที่ดำเนินการอยู่ยังไม่สนองตอบกับสภาพของปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน ฉะนั้นทิศทางนโยบายการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในอนาคต ควรต้องทำการทบทวนใหม่เพื่อแก้ไขและจัดการปัญหาสุขภาพดังกล่าว
ข้อเสนอแนะเชิงโยบาย
1) ควรสนับสนุนการลงทุนด้านการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเร่งแก้ไขปัญหาโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ((NCDs) อันเป็นภาระสาธารณสุขของประเทศที่สำคัญ ซึ่งในระยะสั้นและระยะยาวการลงทุนในโครงการส่งเสริมกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ต้องมุ่งเจาะจงกลุ่มเป้าหมายตามกลุ่มวัย กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเฉพาะมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ตรงตามเป้าหมาย และสนับสนุนกิจกรรมทางกาย (Physical activity) ในทุกกลุ่มวัย
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับควรเพิ่มนโยบายสาธารณะสุขภาพและเพิ่มการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพกาย เช่น ถนนขี่จักรยาน การเดินทางเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
3) หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ควรเพิ่มการลงทุนด้านการผลิตผู้นำออกกำลังกายรุ่นใหม่ พร้อมกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้กับผู้นำการออกกำลังกายในท้องถิ่น จะช่วยให้พัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกายในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ
ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
1) ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านมิติความประหยัดเชิงเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเต้นแอโรบิค การรำไม้พลอง การขี่จักรยาน หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีการวิจัยด้านนี้ให้มากขึ้น
2) การศึกษาครั้งต่อไปควรจะทำการศึกษาต้นทุนและประสิทธิผล ของโครงการประเภทต่าง ๆ เพื่อจะได้ทราบถึงความคุ้มค่าของการลงทุนของแต่ละประเภทโครงการ ซึ่งตัวชี้วัดผลลัพธ์สุขภาพอาจพิจารณาตามภาวะเสี่ยงและปัญหาสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ
|