หมู่บ้านจัดสรรชีววิถีในการบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดภาวะโลกร้อนตามปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง
Waste water treatment in Biological Housing to reduce Global Warming through
the Sufficiency Economy Philosophy

       โครงการวิจัย “หมู่บ้านจัดสรรชีววิถีในการบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดภาวะโลกร้อนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มีแนวความคิดหลักที่ว่า การบำบัดน้ำเสียในหมู่บ้านจัดสรรโดยการใช้เทคโนโลยี EM ซึ่งอาศัยปัจจัยหลักด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิกลูกบ้าน  จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางในการบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม  อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนโดยภาคประชาชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และช่วยบรรเทาผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

          คณะวิจัยนำเสนอแนวคิดหมู่บ้านจัดสรรชีววิถี ซึ่งสนับสนุนแนวทางวิถีทางธรรมชาติ และชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Biological way of life for Sustainable Development) ของหมู่บ้านจัดสรร หรือหมู่บ้านรักษ์นิเวศ หมายถึง การใช้ชีวภาพในวิถีชีวิต หรือการดำเนินชีวิตโดยใช้ระบบนิเวศธรรมชาติของผู้พักอาศัยเพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านจัดสรร ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงเลือกศึกษาหมู่บ้านจัดสรรโครงการหมู่บ้านสถาพร ซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางค่อนข้างสูง  เนื่องจากผู้อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือมากกว่าผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านระดับราคาสูงและระดับราคาต่ำ อีกทั้งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีการรวมตัวทำกิจกรรมมากในด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับหนึ่ง

คณะวิจัยได้สรุป อภิปรายผลและเสนอแนะการศึกษาไว้ทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้

    1. วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
    2. ขั้นตอนการวิจัย
    3. อภิปรายผลการวิจัยและข้อค้นพบ

    ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

      วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

      1. ศึกษารูปแบบเทคโนโลยี EMโดยการใช้จุลินทรีย์EM  บำบัดน้ำเสียที่ระบายจากบ้านพักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
      2. ศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย
      3. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบและเทคโนโลยี EMโดยการใช้จุลินทรีย์ EM  บำบัดน้ำเสียกับระดับการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย
      4. สนอแนะแนวทางชีววิถีโดยการใช้จุลินทรีย์ EM  บำบัดน้ำเสียที่ระบายจากบ้านพักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร

      ขั้นตอนการวิจัย

                คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาระบบและกระบวนการชีววิถีโดยการใช้เทคโนโลยี EM บำบัดน้ำเสียที่ระบายจากบ้านพักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรรสถาพร และกำหนดขั้นตอนการวิจัยแบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้
      ส่วนที่ 1  ศึกษาระดับความพร้อม ด้านจิตสำนึกและพฤติกรรมระดับบุคคลของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ศึกษา  ด้วยแนวคิดบูรณาการตามทฤษฎีเกลียวพลวัฒน์ (Spiral Dynamics)
      ส่วนที่ 2  กำหนดระดับการมีส่วนร่วมและรูปแบบการบำบัดน้ำเสียในซอยตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัคร
      ส่วนที่ 3  จัดกิจกรรม “น้ำดีไล่น้ำเสีย” เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้และขั้นตอนของเทคโนโลยี EM ในการบำบัดน้ำเสีย

      ภาพที่ 1
      ภาพที่ 2

      ภาพที่ 1 ถึง 4   จัดกิจกรรม “น้ำดีไล่น้ำเสีย” โดยการจัดกิจกรรม “กระบวนการกลุ่ม” และการใช้จดหมายข่าวเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมที่ดำเนินการต่าง ๆ

                     ส่วนที่ 4  ทดสอบคุณภาพน้ำทิ้งจากการดำเนินการบำบัดน้ำเสียด้วยรูปแบบเทคโนโลยี EM กับระดับการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบเทคโนโลยี EMโดยการใช้จุลินทรีย์ EM ในการบำบัดน้ำเสียกับระดับการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย

                     ส่วนที่ 5  สำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นการมีส่วนร่วมและรูปแบบการบำบัดน้ำเสียของโครงการ จากกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครที่เข้าร่วมกิจกรรม


      อภิปรายผลการวิจัยและข้อค้นพบ

      1.   กลุ่มตัวอย่างมีระดับความพร้อม ด้านจิตสำนึกและพฤติกรรมระดับบุคคลที่มีกระบวนทัศน์ของวิสัยทัศน์ในเชิงบูรณาการ ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมองเห็นความจำเป็นที่ตนเองจะต้องทำงานอุทิศให้แก่สังคม เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยของระดับจิต ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวและสีเหลือง ข้อค้นพบดังกล่าว จึงยืนยันทฤษฎีเกลียวพลวัตรบูรณาการ (แผนภูมิภาพ ที่ 1)
      2.   ความคิดเห็นต่อการใช้จุลินทรีย์ EM และการใช้น้ำยาเอนกประสงค์ชีวภาพในครัวเรือน พบว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครมีความพึงพอใจต่อการใช้จุลินทรีย์ EM ในการบำบัดน้ำเสียของครัวเรือน ในเรื่องของ กลิ่น สี และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์  และวิธีการปฏิบัติในการใช้จุลินทรีย์ EM อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก ส่วนรูปแบบวิธีการรับ-ส่งจุลินทรีย์ EM โดยใช้ถุงผ้าแขวนไว้หน้าบ้าน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
      3.   ความคิดเห็นต่อรูปแบบ  วิธีการให้ความรู้ การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของสมาชิกในหมู่บ้านและการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เกิดความรู้สึกถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าช่วงก่อนเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการพบว่ากลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครทั้ง 2 รูปแบบ เห็นว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
      4.   ความคิดเห็นต่อระดับการมีส่วนร่วมของสมาชิกลูกบ้านในการบำบัดน้ำเสีย ด้วยจุลินทรีย์ EM   พบว่า กลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครเห็นควรว่าให้ลูกบ้านดำเนินการ 50% และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ 50 % จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
      5.   กลุ่มตัวอย่างอาสาสมัคร ที่มีรูปแบบการบำบัดน้ำเสียทั้ง 2 รูปแบบ เห็นว่า ควรมีการสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้น ในพื้นที่อยู่ในระดับมากที่สุด

                          ข้อค้นพบข้างต้นยืนยันว่า แนวทางหมู่บ้านจัดสรรชีววิถีในการบำบัดน้ำเสียโดยเทคโนโลยี EM สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการให้ความสำคัญที่ “คน” เป็นหัวใจหลัก และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่มีส่วนสัมพันธ์กับการดำเนินวิถีชีวิตในการอยู่อาศัยมาเป็นกลยุทธ์ในการยกระดับจิตของมนุษย์ให้สามารถเห็นภาพรวมของแนวทางชีววิถีได้อย่างชัดเจน

      แผนภูมิภาพที่ 1 ทฤษฎีเกลียวพลวัตรและพุทธธรรมในการอธิบายลักษณะจิตที่สัมพันธ์กับความคิดและพฤติกรรม
      ที่มา: ธนภณ พันธเสน (2549)

       

       


คณะผู้วิจัย
ผศ.อารยา ศานติสรร และ อ.ดร.ธนภณ พันธเสน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-942-8960 ต่อ 302