ผ้าย้อมสีย้อมใจ ชุมชนนาเพียงใหม่ยั่งยืน
Dyed Cotton Fabric Development for Sustainable Economy of Bann Na-piang-mai
             

          ทีม KUWIN67 ตัดสินใจทำโครงการ ผ้าย้อมสี ย้อมใจ ชุมชนนาเพียงใหม่ยั่งยืน เพื่อเข้าประกวดภายใต้โครงการต้นกล้าสีขาวซึ่งจัดโดย บมจ. ธนาคารกรุงไทย เนื่องจากทางกลุ่มเรามีความสนใจผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ และจากการสำรวจตามหมู่บ้านต่างๆ แล้ว  พบว่าชาวชุมชนนาเพียงใหม่มีความรู้ในเรื่องการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติเป็นอย่างดี ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว   เมื่อเราได้เข้าไปศึกษาอย่างละเอียดกับกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านนาเพียงใหม่ พบว่าทางกลุ่มมีการทอผ้าผืนแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งผ้าผืนที่ทอได้จะส่งให้กับกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านขาไก่ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้ชื่อร้าน “ภูฟ้า” โดยทางกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเพียงใหม่จะทอผ้าผืนตาม คำสั่งชื้อของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านขาไก่ ซึ่งปกติขายได้เพียงเมตรละ 150 บาท

          หลังจากที่ทางกลุ่ม KU WIN67 ได้เข้าไปศึกษาในพื้นที่ ก็กลับมาปรึกษากันว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยได้รับ และทางกลุ่ม KU WIN67 มีความเห็นตรงกันก็คือ ควรนำผ้าย้อมสีธรรมชาติที่มีในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กระเป๋า ปอกหมอน ผ้าห่ม ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้านเป็นต้น โดยอาศัยความร่วมมือจากวิทยากรกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านขาไก่ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยสอน และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กลุ่มแม่บ้านนาเพียงใหม่ ส่วนเศษผ้าที่เหลือจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ควรนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด

          โดยจะนำผ้าเหล่านั้นตัดเป็นชุดตุ๊กตาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และเป็นการชักจูงให้เยาวชนในชุมชนบ้านนาเพียงใหม่ให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการ ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะการตัดเย็บชุดตุ๊กตา เยาวชนจะให้สนใจมากกว่าที่จะทำปลอกหมอน หรือกระเป๋า และเพื่อไม่ให้การย้อมผ้าสีธรรมชาติหายไป จึงควรมีโครงการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น  และควรมีการปลูกต้นไม้ให้สีทดแทนเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต่างๆ ที่กลุ่มได้มีแนวคิดดำเนินการเพื่อปิดช่องโหว่ของชุมชน บ้านนาเพียงใหม่

          ซึ่งโครงการผ้าย้อมสีย้อมใจ ชุมชนนาเพียงใหม่นั้น มีโครงการย่อย 3 โครงการ คือ (1) โครงการความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่ม (2) โครงการสอนน้องสร้างสีสัน เสริมสร้างภูมิปัญญา และ (3) โครงการธนาคารต้นกล้า (แม่สีธรรมชาติ) รายละเอียดดังนี้

        1.โครงการความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่ม
          ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นอีกทางหนึ่งที่จะนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะผ้าย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ด้านสีสันเฉพาะอย่างของชุมชนนาเพียงใหม่ที่มีชื่อเสียง เพื่อนำผ้าเหล่านั้นมาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าจากผืนผ้าหรือเศษผ้าที่ธรรมดา มาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนาเพียงใหม่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ HAND MADE ทำด้วยมือ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่สายตาผู้คนให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และเป็นการมอบคุณค่าให้กับผู้บริโภคที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามนั้นกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเพียงใหม่ ยังขาดความรู้ในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ คือมีแต่การทอเป็นผืนเพื่อจำหน่ายเป็นเมตรเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างความหลากหลาย และยังไม่สามารถแข่งขันได้
          ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดโครงการความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเพียงใหม่นำผลิตภัณฑ์เดิมในชุมชนมาเพิ่มมูลค่า โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผลที่ได้รับจากการดำเนินงาน

          ได้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบกระเป๋า, หมอน เป็นต้น และชุดตุ๊กตาผ้าย้อมสีธรรมชาติที่เย็บเสร็จ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และชุดตุ๊กตาที่ทางกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมได้เลือกแบบจากทางกลุ่มที่ได้จัดเตรียมไว้ซึ่งมีหลากหลายแบบด้วยกันและได้ทำการเย็บประกอบชุดเข้าด้วยกันพร้อมกับตกแต่งชุดตุ๊กตาตามแนวความคิดของแต่ละกลุ่ม

          2.โครงการสอนน้องสร้างสีสัน เสริมสร้างภูมิปัญญา
         
ภูมิปัญญาชาวบ้านของบ้านนาเพียงใหม่ก็คือ การย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่มีสีสันที่ไม่เหมือนใครเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การที่จะได้ผ้าย้อมสีธรรมชาติจะต้องมีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการเลือกวัตถุดิบที่มาสร้างแม่สี อาทิเช่น เปลือกไม้ ใบไม้ รากไม้ ดิน โคลนต่างๆ รวมถึงกรรมวิธีในการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ  ถ้าไม่มีการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ก็จะค่อยๆเลือนหายไปในภายภาคหน้า ดังนั้นทางกลุ่ม KU WIN67 จึงคิดโครงการสอนน้องสร้างสีสัน เสริมสร้างภูมิปัญญา เพื่อจะถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการย้อมและการทอผ้าจากสีธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น กล่าวคือ สืบทอดจากปู่ย่าตายายสู่รุ่นพ่อรุ่นแม่ และมีการสืบทอดไปยังลูกหลาน เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตและให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์สามารถสร้างรายได้พิเศษ และยังปลูกฝังให้เยาวชนบ้านนาเพียงใหม่รักและหวงแหนในภูมิปัญญาชาวบ้านในนาเพียงใหม่ของตน  เยาวชนในชุมชนนาเพียงใหม่จะเกิดความภาคภูมิใจที่ตนสามารถหารายได้ได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องรบกวนเงินพ่อแม่ และสามารถถ่ายทอดให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไปในอนาคตได้             
          โครงการสอนน้องสร้างสีสัน เสริมสร้างภูมิปัญญา โดยมีกิจกรรมย่อยๆ ดังนี้ กิจกรรมแรก คือ กิจกรรมแต้มแต่งสีสัน เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการย้อมผ้าสีธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น โดยในวิทยากรที่อยู่ในชุมชนมาถ่ายทอดการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติและสาธิตแก่เยาวชนบ้านนาเพียงใหม่เกี่ยวกับการให้สีธรรมชาติ  กิจกรรมที่สอง คือ ทอฝันเป็นกิจกรรมที่ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

          ผลที่ได้รับจากการดำเนินงาน
          1. เยาวชนชุมชนบ้านนาเพียงใหม่มีความรู้และเข้าใจกระบวนการในการทำน้ำสีที่จะนำไปย้อมผ้าสีธรรมชาติ
          2. เยาวชนบ้านนาเพียงใหม่มีรู้และทักษะในการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติอย่างชำนาญและสามารถออกแบบลายผ้าใหม่ๆ เองได้
          3. เยาวชนในชุมชนนาเพียงใหม่มีส่วนร่วนในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ
          4. เยาวชนในชุมชนนาเพียงใหม่สร้างรายได้พิเศษ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด

         3.โครงการธนาคารต้นกล้า(แม่สีธรรมชาติ)
          
เนื่องจากกลุ่มทอผ้าบ้านนาเพียงใหม่ ได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือการนำสีจากธรรมชาติมาใช้ในการย้อมผ้า การนำเปลือกไม้ ผลหรือเมล็ดพืชต่างๆ มาย้อมผ้า เช่น เปลือกของต้นสมอ จะให้สีดำ  แก่นขนุนจะให้สีเหลือง  ลูกหว้าจะให้สีม่วงอ่อนในการย้อมผ้าแต่ละครั้ง จำเป็นอย่างมากที่ต้องนำเปลือกไม้หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ให้สีมาใช้  การนำเปลือกไม้มานั้นก็จะมีวิธีนำออกมาจากต้น หรือถากเอาเปลือกไม้ออกมา เพื่อที่จะนำมาทำตามขั้นตอนตามกระบวนการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ ถ้าถากต้นไม้ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้ต้นไม้ตายได้ และถ้ามีการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ต้นไม้นั้นหมดไป ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้คิดโครงการย่อยที่จะสามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาทางด้านทรัพยากร ธรรมชาติ คือ การปลูกต้นไม้ทดแทนส่วนที่เสียไป จึงจัดทำโครงการดังนี้  (1) กิจกรรมปลูกจิต ปลูกใจ ปลูกต้นไม้ให้สี (2) กิจกรรมธนาคารแม่สี และ (3) กิจกรรม กินดี อยู่ดี อยู่พอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปลูกฝังให้เยาวชนในหมู่บ้านนาเพียงใหม่รู้สึกรักและหวงแหนสิ่งที่มีค่าที่สุดในชุมชนและสามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในเรื่องของต้นไม้ให้สี จากแม่สู่พี่ จากพี่สู่น้อง เพื่อให้เกิดความรักและความรู้อย่างยั่งยืนตลอดไป

          ผลลัพธ์ของการดำเนินงาน

          ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโครงการ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเพียงใหม่เมื่อได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาสามารถใช้ภูมิปัญญาที่มีนำมาสร้างเป็นรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านในชุมชน  จากการดำเนินงานของกลุ่ม ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีงานทำ  มีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สามารถที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดได้

          ผลกระทบด้านสังคมและชุมชน จากการที่ทางกลุ่มได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและทำกิจกรรมของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเพียงใหม่ ทำให้ชาวในชุมชนมีความรักสามัคคีมากยิ่งขึ้นจากการที่ร่วมมือกันทำกิจกกรม ทำให้ชาวชุมชนรู้จักการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชุน โดยไม่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัดและทำให้ชาวชุมชนเกิดความรักความหวงแหนในชุมชนของตนเอง อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ยังทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน   อยู่กันอย่างเป็นครอบครัวที่เป็นอุ่นซึ่งจะทำให้สังคมในชุมชนอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

          ผลกระทบด้านประสบการณ์การเรียนรู้จากเรื่องจริง จากการที่ทางกลุ่มได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและทำกิจกรรมของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านนาเพียงใหม่ ทำให้ทางกลุ่มของเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ การทำงานทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่ดีรู้จักกันมากขึ้น รู้จักการประสานงานและรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ได้รับรู้ถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และตัดเย็บชุดตุ๊กตาเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดให้กับชาวชุมชน ได้รับรู้ถึงกระบวนการย้อมสีธรรมชาติและการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ และได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของคนชุมชนนาเพียงใหม่ในการเรียนรู้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนถึงความเข้าใจและความต้องการของชาวชุมชนนาเพียงใหม่ซึ่งจากการได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ทำให้ทีม KUWIN67 สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันตลอดจนในการทำงานในอนาคตได้

คณะผู้วิจัย
อาจารย์วรสิทธิ์ วงศ์อดิศัย, นายพิชัย ขันตีพันธ์วงค์, นางสาวนิภาวรรณ เมธี, นางสาวฐิวาทิพย์ บุตรพรม, นางสาวนันทกา พิมพ์ล และนางสาวพรรัตน์ สุวรรณไตรย์
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
โทร. 042-725-040