โครงการเกลือสินเธาว์หมู่เฮายั่งยืน
Development of Rock Salt Product for Sustainable Economy
             โครงการเกลือสินเธาว์หมู่เฮายั่งยืน เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการต้นกล้าสีขาวซึ่งจัดโดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย ที่เปิดโอกาสให้นิสิต  นักศึกษาทั่วประเทศได้ใช้ความรู้ความสามารถในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยมาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการ

             ในการแข่งขันโครงการต้นกล้าสีขาว ปี 2553 นี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 486 ทีมทั่วประเทศ จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือกให้เหลือ 109 ทีม ในระดับภาค จากนั้นทำการคัดเลือกให้เหลือ 42 ทีมในระดับประเทศ และเหลือเพียง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ซึ่งผลการแข่งขันในครั้งนี้ “โครงการเกลือสินเธาว์หมู่เฮายั่งยืน” ทีม The Best 1 Season 2 ซึ่งเป็นผลงานของนิสิต คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดสกลนคร ได้รับรางวัลดังนี้
             1) รางวัลโครงการดีเด่นรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง
             2) รางวัลโครงการดีเด่นอันดับหนึ่งระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
             3) รางวัลชมเชยนำเสนอดีเด่น

            โครงการเกลือสินเธาว์หมู่เฮายั่งยืน เป็นโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความพอเพียงและยั่งยืนตลอดไป โครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) การเพิ่มมูลค่ากับผลิตภัณฑ์และ (2) สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน รายละเอียดดังนี้

           ส่วนที่ 1 โครงการเกลือสินเธาว์หมู่เฮายั่งยืน เป็นโครงการต่อเนื่อง คือการนำเสื่อกกมาพัฒนาเป็นมู่ลี่โมเดิร์น แต่สำหรับปี 2553 เราพบว่าในชุมชนป่าหว้านมีเกลือสินเธาว์ที่ดีที่สุดในภาคอีสาน ทีมของเราจึงได้ทำการพัฒนาเกลือสินเธาว์โดยการเติมสารไอโอดีน เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองและยังป้องกันโรคคอพอกได้อีกด้วย ไม่เพียงแค่นี้เรายังพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากกระทอ เป็น ชะลอม รวมไปถึงการสร้างตราผลิตภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “เกลือสินเธาว์

บ้านป่าหว้าน” เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเกลือสินเธาว์ นอกจากนี้เรายังนำเกลือสินเธาว์ดังกล่าวมาวิจัยเพื่อพัฒนาเกลือสินเธาว์ให้เป็นเกลือสปาขัดผิว ซึ่งในปัจจุบันเกลือสปาขัดผิวกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในขณะนี้เกลือสปาขัดผิวได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาได้มากกว่า 80% แล้ว และได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพผิวกายด้วยการขัดผิว

           ส่วนที่ 2 เป็นการพัฒนาชุมชนที่ช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนอยู่อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจของคนในชุมชนโดยการออกกำลังกาย สวดมนต์ไหว้พระ การคัดแยกขยะ และการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ท้ายที่สุดเมื่อชุมชนมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประกอบกับคนในชุมชนมีสุขภาพกายและใจที่เข้มแข็ง ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

 

 





คณะผู้วิจัย
อาจารย์มนทิรา จิตต์วิบูลย์ นายธีรพงศ์ ไชยงค์ นายอนุรักษ์ มีม้วน นายยงยุทธ ไชยงค์ นายอิศราวุฒิ ประกอบสุข และนางสาวพรทิพย์ พรหมอารักษ์
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
โทร. 042-725-039