การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าผ้าฝ้ายย้อมคราม จังหวัดสกลนคร
Value-added on Indigo Cotton Fabric Products of Sakon Nakon Province
          สีครามธรรมชาติ ได้มาจากต้นครามที่มีการปลูกทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทยและประเทศลาว  ครามเป็นพืชล้มลุก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหว่านในพื้นที่เหมาะสมในการทำไร่ใกล้ทุ่งนาและต้องเป็นพื้นที่ดอนไม่มีน้ำขัง ต้นครามลักษณะเป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ  1-1.20 เมตร เมื่อโตเต็มที่ (ประมาณ  4  เดือน)  ใบบนเล็กสีเขียวเข้มผิวหม่นจึงพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อนำมาทำเป็นน้ำครามสำหรับการย้อมเส้นฝ้าย

           ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าฝ้ายสีน้ำเงินหรือสีครามที่ทอจากเส้นฝ้ายซึ่งผ่านกระบวนการย้อมในน้ำย้อมที่ได้จากต้นคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนสกลนคร การออกแบบลวดลายตามจินตนาการของผู้ทอ ซึ่งบางลวดลายจะเป็นลายดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันผ้าฝ้ายย้อมครามถือว่าเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดสกลนครที่ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ

          ที่มาของการวิจัย ผลจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการเพื่อจำหน่ายสู่ตลาดในวงกว้างยังมีข้อจำกัดที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งมาจากปัจจัยต่างๆ หลายประการ เช่น ขาดการออกแบบลายผ้าที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มลูกค้า ทำให้การผลิตสินค้าไม่ตรงตามความต้องการของตลาดจริงๆ ขาดการสร้างเอกลักษณ์เพื่อมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ลักษณะของผลิตภัณฑ์จะผลิตเป็นผ้าผืนเท่านั้น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและเพิ่มมูลค่าสินค้าผ้าฝ้ายย้อมคราม จึงต้องดำเนินการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาด้านการตลาด และการผลิตเพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าฝ้ายย้อมครามของจังหวัดสกลนคร

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
           1. เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสกลนคร
           2. เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสกลนคร
           3. เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสกลนคร

วิธีดำเนินการวิจัย
         1. แบบของการวิจัย การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Participation Action Research) โดยให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนและผู้เกี่ยวข้องในการผลิตและการจำหน่ายผ้าฝ้ายย้อมครามในเขตจังหวัดสกลนคร มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
         2. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แบ่งประชากรในการศึกษาครั้งนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายผ้าฝ้ายย้อมครามในเขตจังหวัดสกลนครที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย พ.ศ. 2552 จังหวัดสกลนคร ระดับ 3-5 ดาว รวม 27 กลุ่ม และ (2) ผู้บริโภคที่ซื้อผ้าฝ้ายย้อมคราม โดยแบ่งเป็น (ก) ผู้ซื้อที่มีภูมิลำเนานอกเขตจังหวัดสกลนคร และ (ข) ผู้ซื้อที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดสกลนคร
         3. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ส่วนคือ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
         4. การเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมจากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูล โดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าผ้าฝ้ายย้อมครามเพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดสกลนคร

ผลการวิจัย
         สถานการณ์ปัจจุบันของวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายผ้าฝ้ายย้อมคราม พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่จะปลูกครามไว้ใช้เอง หากเนื้อครามไม่เพียงพอจะขอซื้อจากกลุ่มอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดสกลนคร โดยขั้นตอนการย้อมฝ้าย การมัดหมี่ การทอผ้าจะเหมือนกันทุกกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะทอลายที่คิดค้นขึ้นเองและทอตามลายที่นิยมทั่วไป มุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายเป็นผ้าเมตรและผ้าคลุมไหล่ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดคล้ายคลึงกัน ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของลูกค้าที่ว่าลูกค้าต้องการให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนออก แบบลายผ้าให้มีความทันสมัย และต้องการให้พัฒนาผ้าฝ้ายย้อมครามให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย นอกเหนือจากการทอเป็นผ้าผืน

          การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าฝ้ายย้อมครามด้วยเครื่องมือทางการตลาด เป็นการกำหนดกลยุทธ์ส่วนประสมการตลาด ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการตลาด เพื่อบูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมของวิสาหกิจชุมชน การบริหารจัดการตลาด การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมคราม อาทิ การนำเส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติสีอื่นๆ มาทอผสมกับเส้นฝ้ายย้อมคราม การแปรรูปผ้าฝ้ายย้อมครามให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งบูทแสดงสินค้า เป็นต้น

สรุปผลการวิจัย
          
การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าผ้าฝ้ายย้อมครามโดยผ่านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตั้งแต่การสำรวจความต้องการของลูกค้า การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การจัดจำหน่าย รวมถึงการให้สมาชิกกลุ่มใช้เทคนิคการขาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับลูกค้าส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมียอดขายที่สูงขึ้น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังสามารถจดลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยในครั้งนี้ได้อีกด้วย

               

คณะผู้วิจัย
อ.กันยารัตน์ สุขะวัธนกุล อ.จาริตา หินเธาว์ และอ.เปรมฤดี จิตรเกื้อกูล
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
โทร.042-725-039