“จากต้นกำเนิดการย้อมคราม ๕,๐๐๐ ปี สู่พิพิธภัณฑ์ผ้าย้อมครามของชนเผ่าไท”
“From the Origin of Indigo Dyeing 5,000 Years Ago to the Tai Peoples’
Indigo Dye Tradition Museum

หลักฐานการใช้สีครามบนภาชนะดินเผา

          ในสมัยหินใหม่  เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว  พบหลักฐานการใช้สีคราม สีเขียว สีแดง สีดำ สีขาว บนภาชนะดินเผ่าลายเขียนสี ที่ซากโบราณสถานต้าตุนจื่อ  ลวดลายที่พบมีลายจุด ลายเส้น ลายขีดขวาง ลายขีดตั้ง  ลายตาข่าย  ลายดอกและใบพืช  ลายเรขาคณิต ลายคลื่นน้ำ ลายฟันเลื่อย ลายดวงอาทิตย์  เป็นต้น

          จากการเปรียบเทียบลวดลายบนภาชนะดินเผาลายเขียนสี ที่ซากโบราณสถานต้าตุนจื่อ  กับลายผ้าย้อมคราม  พบว่ามีโครงสร้างลวดลาย  โดยเฉพาะลายจุด ลายเส้น  ลายตาข่าย  ลายดอกและใบพืชแบบเดียวกัน  ต่างกันที่การใช้สี  ในภาชนะดินเผาเป็นลายสีแดงสลับขาว  แต่ผ้าพิมพ์ย้อมลายคราม เป็นสีครามสลับขาว

ในสมัยหินใหม่ เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว  มนุษย์รู้จักถักทอด้วยเส้นใยปอมาก่อน  ต่อมาพบหลักฐานว่ามีการย้อมผ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน  เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว  ในขณะที่พบการย้อมผ้าในประเทศอินเดียและยุโรปเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ปี

ต้นกำเนิดการย้อมผ้าครามเป็นภูมิปัญญาไทในประเทศจีน

         หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการย้อมผ้าที่เป็นภูมิปัญญาไทในประเทศจีน ปรากฏในตำนานของชนเผ่าไทในประเทศจีนในสมัยจักรพรรดิเหลือง (อึ่งตี่ หรือหวังตี่) จักรพรรดิไทในยุคปรัมปราที่ยังไม่ใช่พวกฮั่นซึ่งเป็นจีนแท้ พบหลักฐานว่าพระองค์เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าหาว  ซึ่งเป็นต้นตระกูลไท ในตำนานระบุว่า มเหสีของพระองค์คือ มเหสีชีเลงสี (หลัวจู)  เป็นผู้ค้นพบผ้าไหม เมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว พระนางเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงไหม  และการย้อมผ้าโดยนำใยไหมมาทอเป็นแพร  ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ส่วนสีที่ใช้ย้อมผ้าแพรไหมใช้ดอกไม้  มาตำคั้นเป็นน้ำเพื่อย้อมผ้าให้สีสดงดงาม

          ต่อมาในสมัยกษัตริย์เงี้ยว (ไทใหญ่) เมื่อประมาณ ๔,๓๐๐ ปี  พบหลักฐานการพัฒนาผ้าไหมเป็น  ฉลองพระองค์ที่งดงาม  มีสีย้อมถึง ๕ สี  และปักลวดลายต่างๆ ๑๒ ลาย ได้แก่ รูปตะวัน  ดวงเดือน ดวงดาว ภูเขา มังกร เปลวไฟ จุดแป้ง เมล็ดข้าว ดอกไม้ สาหร่าย เครื่องบูชา และลวดลายต่างๆ

          ส่วนหลักฐานทางประเทศอียิปต์ พบการใช้สีเขียนเป็นลวดลายผ้า เป็นลายจุดลายคดกริช บนผนังในหลุมผังศพของ เมนิอัสเสนในพีรามิดอายุประมาณ ๔,๑๗๐ ปี และพบว่าชาวอียิปต์รู้จักการย้อมผ้าด้วยสีสันหลากหลาย เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปี

          เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปีในสมัยราชวงศ์เจ้า ซึ่งยังไม่ใช่พวกฮั่นที่เป็นจีนแท้ ต้นตระกูลเจ้าเป็นเสนาบดีเกษตรของกษัตริย์เงี้ยว (ไทไหญ่) มีการส่งเสริมกรรมวิธีการย้อมผ้า โดยการจัดตั้งองค์การบริหารหัตถกรรมทอย้อม คือ สำนักงานควบคุมไหมและปอในราชสำนัก  มีตำแหน่ง”ช่างย้อมสีด้วยหญ้า” “เจ้าหน้าที่คุมการย้อมไหมด้วยหญ้าชนิดหนึ่ง”  เป็นต้น มีโรงย้อมผ้าด้วย ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์กลอนชื่อว่า ซือจิง  บันทึกเรื่องการย้อมสีไว้ อาที เสื้อผ้าสีคราม เสื้อเขียวเกราะเหลือง เสื้อขาวข้างในสีแดง  สวมสีดำกับสีเหลือง เป็นต้น  ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นจีนแท้ได้พัฒนาเทคโนโลยีกรรมวิธีการย้อมสีไปอีกหลายชนิด เช่น  ย้อมแบบถู ย้อมแบบแช่ ย้อมแบบชั้น ย้อมแบบผ่านสื่อกลาง  ในสมัยสามก๊กถึงราชวงศ์จิ๋น ราชวงศ์เหนือใต้  ราชวงศ์สุ่ย ราชวงศ์ถัง มีเทคโนโลยีการย้อมสีและพิมพ์ลวดลายด้วยวิธีพันมัด หนีบมัด ย้อมเทียน เป็นต้น

           ในสมัยชนชิว ราชวงศ์เจ้าตะวันออก (722-481 ปี ก่อน ค.ศ.) ซึ่งยังไม่ใช่พวกฮั่น ซึ่งเป็นจีนแท้ บรรพชนเผ่าไทได้คันพบการสกัดน้ำครามจากหญ้าคราม และนำไปย้อมผ้าทำให้เกิดการปลูกหญ้าครามกันอย่างแพร่หลาย ในหนังสือเรื่อง ข่าวกงจี้ (บันทึกหัตถกรรม) ได้บันทึกความสำเร็จในการย้อมสี

          ในยุคจ้านกั๋ว (475-221 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นวิธีย้อมสี มีย้อมสามครั้งเป็นสีเทา ย้อมห้าครั้งเป็นสีดำอมแดง ย้อมเจ็ดครั้งเป็นสีดำ  ซึ่งก็คือ ผ้าสีจันทร์ สีน้ำเงินเข้ม และสีครามเข้ม  บทความเรื่อง ชวนเส (ชวนเรียน) ในหนังสือเรื่อง สวินจื่อ มีคำวินิจฉัยทางวิทยาศาสตร์การย้อมครามว่า สีคราม ซึ่งได้มาจาก สีน้ำเงิน แต่เข้มกว่าสีน้ำเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไดเปรียบของสีคราม ต่อมา ในยุคราชวงศ์ถัง จึงเกิดกระเบี้องเคลือบลายคราม  และมีชื่อเสียงมาก ในราชวงศ์หยวน หมิง และชิง ในนิทานสมัยราชวงศ์ฮั่นเรื่อง เทพเหมยกับเทพเก่อ  เล่าว่า  นักวิชาการหนุ่มชื่อเหมยฝู  ล้มตัวลงไปบนดินโคลนตอนฝนตก  ทำให้เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวถูกย้อมเป็นสีเหลือง ดังนั้นเหมยฝู และเก่อหงเพื่อนสนิท ที่เป็นนักทำยาอายุวัฒนะ  ก็เลยนำโคลนดินสีเหลืองกับสีแดงมาย้อมผ้า  ต่อมาได้พบการย้อมผ้าเป็นสีครามโดยบังเอิญ  เมื่อผ้าย้อมสีเหลืองที่ตากบนกิ่งไม้ถูกลมพัดไปตกบนสนามหญ้า  ทำให้ผ้าสีเหลืองมีลายจุดสีคราม  จึงมีการสวมใส่ผ้าครามที่ย้อมจากหญ้าคราม 

          ตั้งแต่นั้นมา  วันหนึ่งอาจารย์เก่อและอาจารย์เหมยดื่มสุรากันริมหม้อย้อมผ้า  และสำลักสุราลงในหม้อย้อม  ทำให้ผ้าที่ย้อมมีสีสดใสและไม่ตก  จึงทำให้มีการผสมสุราเล็กน้อยในหม้อย้อมผ้า  เพื่อรำลึกถึงคุณของทั้งสองอาจารย์ ช่างทางผ้าจึงยกย่องท่านเป็นเทพเจ้าแห่งการย้อมผ้า  และสร้างศาลเจ้าเก่อเหมยขึ้น  ในวันที่ ๑๔ เดือน ๔ และวันที่ ๙ เดือน ๙ ของทุกปีตามจันทรคติ  ช่างย้อมผ้าจะไปรวมตัวกันที่ศาลเจ้า  เพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าเก่อเหมยและดื่มสุราเก่อเหมยด้วยกัน

ภูมิปัญญาวัฒนธรรมผ้าย้อมครามของชนเผ่าไท

           ชนเผ่าไทในอาณาจักรไทเดิม มีวัฒนธรรมการแต่งกาย ของแต่ละเผ่าที่ความประณีต สืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าย้อมคราม ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอด ได้แก่ ไทใหญ่แห่งอาณาจักรมาวหลวง ไทลื้อในอาณาจักรสิบสองปันนา ไท-ยวนแห่งอาณาจักรล้านนา ไทดำแห่งอาณาจักรสิบสองเจ้าไท อพยพมาเป็นลาวโซ่ง และผู้ไทยดำ ไทแดงอพยพมาเป็นไทครั่ง ไทอีสานแห่งอาณาจักรล้านช้าง  ไทพวน และไทถิ่นใต้ แห่งอาณาจักรศรีวิชัย

๑.  ไทไหญ่แห่งอาณาจักรมาวหลวง

         สตรีชาวไทมาว  จะนิยมนุ่งซิ่นดำและสวมเสื้อดำหรือขาว ส่วนเชิงผ้าซิ่นจะบ่งบอกฐานะของผู้ใส่ คือ เด็กจะต่อเชิง ๒ ชั้น เจ้านายจะต่อเชิง ๔ ชั้น ตัวซิ่นเป็นผ้าพื้นสีดำ มีแถบสีแดง สีเขียว นิยมสวมผ้าโพกหัว 

         ชายชาวไทใหญ่  จะสวมชุดสีขาวเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ สวมเสื้อผ้าฝ้าย แขนยาวสีขาว คอกลม ผ่าหน้า ติดกระดุมผ้า นุ่งกางเกง สีขาวขากว้างเช่นเดียวกับชาวไทขึน ไทลื้อ

๒.   ไทลื้อแห่งอาณาจักรสิบสองปันนา

          สตรีไทลื้อ มีหน้าตาคมคาย คล่องแคล่ว ผิวขาวกว่าไทลาว นิยมเกล้ามวยเอียงข้าง ดังปรากฏในภาพฝาผนังที่วัดภูมินทร์จังหวัดน่าน ส่วนใหญ่จะโพกผ้าขาวเคียนรอบศีรษะ หญิงไทลื้อจากเมืองเงินจะโพกผ้าสีดำเป็นเอกลักษณ์ สวมเสื้อปั้ด เป็นเสื้อรัดรูปสีดำคราม เอวลอย แขนยาวตรงสาบหน้าตกแต่งด้วยผ้าแถบสี เฉียงมาผูกติดกันตรงมุมซ้ายทางลำตัว ติดกระดุมเงิน  เสื้อปั๊ดสตรีมี๒ แบบ แบบดั้งเดิมจาก อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและ อ.เชียงของ จ.เชียงราย สาบเสื้อจะขลิบด้วยผ้าแถบสี (นิยมนุ่งซิ่นน้ำไหลลายดอกผักแว่น เทคนิคเกาะหรือล้วง) ส่วนแบบเมืองเงิน จากบ้านหล่ายทุ่ง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน จะแต่งสาบเสื้อด้วยผ้าจกลายขอนาค

          ชายไทลื้อ  นิยมสักร่างกายตั้งแต่ขาถึงคอเป็นสีแดง ชอบไว้หนวดและแต่งหนวดให้โค้งขึ้น เอาขี้ผึ้งมาติด โพกผ้าขาวเคียนรอบศีรษะ สวมเสื้อแขนยาวสีดำครามคล้ายเสื้อหม้อห้อม มี ๒ แบบ แบบดั้งเดิมเป็นเสื้อเอวลอย สายหน้าขลิบด้วยผ้าแถบสี ป้ายมาติดกระดุมที่ใต้รักแร้และเอว อีกแบบเป็นแบบเมืองเงิน เป็นเสื้อคอตั้ง มแถบผ้าจกลายขอนาคตกแต่ง

DSC_0062

๓.  ไท-ยวน  แห่งอาณาจักรล้านนา

          สตรีไท-ยวน  สวมเสื้อฝ้ายสีขาวตุ่น คอกลม แขนกระบอก ผ่าหน้าติดกระดุม จะนิยมนุ่งผ้าซิ่นก่านหรือซิ่นตา มีลักษณะเป็นลายขวางอันเกิดจากฝ้ายเส้นยืน ถ้ามีสีเขียว เรียกว่า ซิ่นซิ่ว สีดำเรียกว่า ซิ่นแหล้ การแต่งกายในงานพิธีกรรม จะห่มสไบเฉียงแบบ “สะหว้ายแล่ง” ประดับเครื่องเงินทอง เชิงของผ้าซิ่นต่อด้วยตีนจก
          ชายไท-ยวน นิยมแต่งกายโดยสวมเสื้อหม้อห้อมย้อมคราม หรือเสื้อใยฝ้ายสีขาวตุ่นเป็นเสื้อคอกลม ผ่าหน้า ผูกเชือก มีกระเป๋า นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง เรียกว่า “เตี่ยวสะดอ” หรือ “เตี่ยวหม้อห้อม” มีผ้าขาวม้าคาดเอวมักเป็นฝ้ายสีแดงสลับดำ การแต่งกายในงานพิธี จะสวมเสื้อคอตั้งแขนยาว พาดบ่าด้วยผ้าเช็ด นุ่งกางเกงขายาว

DSC_0068

 

๔. ไททรงดำ หรือ ลาวโซ่ง

DSC_0001 DSC_0004
 

 

          ชาวลาวโซ่ง จะแต่งกายสีดำเพราะสืบเชื้อสายมาจากชาวไทดำ สตรีลาวโซ่งสวมเสื้อก้อมแขนยาวคอกลมสีดำ ติดกระดุมเงินลายกลีบบัว นุ่งซิ่นลายแตงโมหรือลายชะโด เป็นซิ่นสีครามเข้มขนานลำตัวด้วยริ้วขาว ส่วนสตรีสูงอายุ จะนำผ้าปกหัวที่เรียกว่า ผ้าเปียวมาคาดอก ถ้ามีงานพิธี จะสวมเสื้อฮีประดับแถบไหมสีตรงบ่าด้านหน้า เสื้อคลุมยาวถึงเข่า ปักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายดอกตะเหวน (ตะวัน) และดอกจันทน์

          ชายชาวลาวโซ่ง  จะสวมเสื้อก้อมสีดำ ติดกระดุมเงินลายกลีบบัว นุ่งกางเกงขายาว ย้อมด้วยมะเกลือหรือคราม ส่วนในงานพิธี จะสวมเสื้อฮีสีดำแขนยาว คอกลมประดับด้วยแถบผ้าไหมสี

๕. ชาวผู้ไทย  หรือ ภูไท

            หญิงชาวผู้ไทย  ปกติจะสวมเสื้อแขนกระบอกย้อมด้วยมะเกลือหรือคราม คอตั้ง ผ่าอกติดกระดุม มีสาบเป็นจกลายขอ นุ่งซิ่นมัดหมี่ลายนาค ย้อมด้วยมะเกลือหรือครามเช่นกัน มีขิดที่ตีนซิ่น ในงานพิธีจะมี  ห่มผ้าเบี่ยงแพรวาสีแดง สวมเครื่องประดับเงิน มีผ้าคลุมศีรษะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก เรียกว่า ผ้าแพรมน

DSC_0002

          ชายชาวผู้ไทย  จะสวมเสื้อแขนยาวย้อมมะเกลือหรือคราม คอตั้งผ่าหน้าติดกระดุม ตกแต่งขิดที่สาบเสื้อนุ่งกางเกงขายาวแถบสีดำ ในงานพิธีกรรมจะพาดบ่าด้วยผ้าขิด นุ่งผ้าโสร่งตามะกอก

๖. ไทครั่ง

          สตรีชาวไทครั่ง  จะนุ่งเครื่องนุ่งห่มสีแดง เพราะสืบเชื้อสายมาจากชาวไทแดงแห่งอาณาจักรสิบสองเจ้าไท สวมเสื้อย้อมครามหรือมะเกลือ คอตั้ง แขนยาว ตรงสาบหน้าและคอตกแต่งด้วยแถบผ้าจก นุ่งผ้าซิ่นต่อด้วยตีนจก ถ้าตีนจกสีแดงสำหรับหญิงสาว ตีนจกสีดำสำหรับผู้สูงอายุ ตัวซิ่นมี ๔ ประเภท คือ ซิ่นหมี่ตา (เทคนิคมัดหมี่สลับจกหรือขิด) ซิ่นก่าน (จกหรือขิดทั้งผืน) ซิ่นหมี่ลวด (มัดหมี่ทั้งผืน) และซิ่นหมี่น้อย (หรือหมี่คั่น)

DSC_0006

          ชายชาวไทครั่ง  จะสวมเสื้อย้อมครามหรือมะเกลือ คอตั้ง แขนยาว ตกแต่งแถบผ้าจกที่สาบหน้าและคอ นุ่งกางเกงขาใหญ่ย้อมด้วยครามหรือมะเกลือ หรือผ้าโสร่งตามะกอกใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าในงานเทศกาลจะนุ่งผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ หรือผ้าม่วง

๗. ไทอีสาน

         สตรีชาวไทอีสาน  จะใส่เสื้อแขนกระบอก ผ่าหน้า ติดกระดุมเงิน นุ่งซิ่นป้ายมัดหมี่สีคราม ในงานพิธีจะห่มผ้าเบี่ยงหรือสไบ นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ เขตอีสานเหนือ นุ่งไหมมัดหมี่เส้นพุ่งเป็นลายทางตั้งต่อตีนซิ่นด้วยฝ้ายหรือไหมสามตะกอ เขตอีสานใต้ จะนุ่งผ้าเอกลักษณ์ คือ หมี่โฮล ของจังหวัดสุรินทร์ หรือนุ่งไหมมัดหมี่เส้นพุ่งทอสามตะกอ

         ชายชาวไทอีสาน  จะสวมเสื้อแขนยาว ผ่าหน้า ติดกระดุม นุ่งกางเกงขายาว มีผ้าขาวม้าคาดเอว ถ้าเป็นงานพิธีจะใช้ผ้าขิดพาดบ่า นุ่งผ้าโสร่งตามะกอก หรือผ้าไหมหางกะรอก

DSC_0046
DSC_0011

๘. ไทพวน

         สตรีชาวไทพวน  จะนุ่งซิ่นเทคนิคยกมุก เป็นเส้นยืนพิเศษ ต่อตีนซิ่นด้วยจก แต่เดิมจะเคร่งครัดเรื่องแต่งกาย คือ หญิงสาวโสดจะนุ่งซิ่นตีนแดง คือ ตีนจกพื้นแดงเคียนอก (เรียกว่า แฮงตู้) ด้วยผ้ามีสีสันงดงาม หญิงแต่งงานแล้วจะนุ่งซิ่นตีนดำ คือ ซิ่นตีนจกพื้นดำ เคียนอกด้วยผ้าย้อมมะเกลือหรือคราม

๑๐. ไทถิ่นใต้ แห่งอาณาจักรศรีวิชัย

         หญิงชาวไทใต้ จะห่มผ้าซีก (ผ้าแถบ) “ฉ้อคอ” อย่างห่มตะแบงมาน ชายผ้าซีกทั้งสองข้างผูกไว้ที่ต้นคอ ชายหางผ้าซีกยาวพาดบ่าอย่างสไบเฉียง หรือใช้ผ้าห่มรัดอกผืนหนึ่ง และห่มสไบเฉียงซ้อนอีกผืนหนึ่ง นุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าพื้น ถ้าเป็นงานพิธีบุญจะนุ่งผ้ายกฝ้าย ผู้มีฐานะจะนุ่งยกดิ้นเงินทอง    ชายชาวไทใต้ จะนุ่งผ้าพื้นเลื้อยชาย หรือนุ่งผ้าโสร่ง  ถ้ามีงานพิธีจะนุ่งผ้าโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อ ใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าห่มพาดบ่า ถ้ามีฐานะจะใช้ผ้าซักอาบ (ผ้าขาวม้า) ทอด้วยไหม ห่มสะพายเฉียง

 

คณะผู้ร่วมวิจัย
อาจารย์อรไท ผลดี
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร
โทร. ๐๘๙-๑๔๘-๗๓๐๓, ๐๒-๙๔๒-๘๗๑๑-๓