โครงการวิจัยทบทวนการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสม
โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
ตามประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด (ส่วนกฎหมาย)
Review and Analysis of Feasibility Study of Si Rat
– Bangkok Metropolis Outer Ring Road Expressway Project
On Issues Designated by the National Economic and Social Development Board (Legal Section)

             โครงการวิจัยนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานเพื่อทบทวนการศึกษาและ วิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด (ส่วนกฎหมาย) ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯ ได้ขอความร่วมมือให้ อาจารย์สรียา กาฬสินธ์ และอาจารย์ชีวิน มัลลิกะมาลย์ ภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมศึกษาในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการนี้

             จากการศึกษาพบว่า ในการจัดทำโครงการทางพิเศษฯ มีประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น คือ (1) ความพร้อมของหน่วยงานด้านกฎระเบียบของหน่วยงานของรัฐที่จะเข้าร่วมกับเอกชน (2) การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับอื่นๆ (3) การคุ้มครองจากรัฐ

             ในประเด็นเรื่องความพร้อมของหน่วยงานด้านกฎระเบียบของหน่วยงานที่จะเข้าร่วมกับเอกชน ผู้วิจัยพบว่า มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ

             (1) พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่จัดตั้ง และรับรองอำนาจในการกระทำการต่างๆ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

             (2) พระราชบัญญัติบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ของ หน่วยงานของรัฐในการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ

             (3) ข้อบังคับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยฉบับที่ 186ว่าด้วยการพัสดุ ซึ่งเป็นระเบียบที่กำหนดคุณสมบัติของเอกชนที่จะเข้ามาร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานของรัฐ

             ในประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบและข้อบังคับอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่ามี กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 8 ฉบับดังนี้

             (1) พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
             ในกรณีที่ทางการพิเศษจะดำเนินการจัดทางพิเศษ การทางพิเศษอาจมีความจำเป็นในการเวนคืนอสังหาริมทรพย์ของเอกชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการทางพิเศษมาตรา 34 ได้กำหนดว่า ในกรณีที่การทางพิเศษไม่ได้ตกลงกับเอกชนเป็นอย่างอื่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530

             (2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
             ในกรณีที่ทางการพิเศษจะดำเนินการจัดทางพิเศษ การทางพิเศษอาจมีความจำเป็นต้องสร้างหรือขยายทางพิเศษผ่านแดนกรรมสิทธิ์บน เหนือ หรือ ใต้พื้นดิน หรือ พื้นน้ำของบุคคล โดยจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกรณีนี้ มาตรา 34 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่การทางพิเศษไม่ได้ตกลงกับเอกชนเป็นอย่างอื่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540

             (3) พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย
             ในกรณีที่ทางการพิเศษจะดำเนินการจัดทางพิเศษ การทางพิเศษอาจมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องพิจารณา ความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นกับการรถไฟแห่งประเทศ ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการรถไฟเพื่อการบริการประชาชนด้านการขนส่งและ เดินทางโดยมีอำนาจ ตั้งแต่การก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซมพื้นที่ที่ให้บริการรวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ดังนั้น การก่อสร้างทางด่วนผ่านพื้นที่ที่เป็นของการรถไฟ แห่งประเทศไทย ย่อมต้องขออนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464

             (4) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
             การจัดทำทางพิเศษ ถือเป็นโครงการที่ต้องพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วในปี พ.ศ. 2549

             (5) พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
             ในกรณีที่การจัดทำทางพิเศษ มีการขุดพบโบราณวัตถุ หรือ ศิลปวัตถุ ผู้ค้นพบมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งกำหนดว่า “หากพบโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ซ่อน หรือฝัง หรือทอดทิ้งอยู่ในที่ใดๆ โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของ ผู้เก็บได้ต้อง ส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะ อยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือความครอบครองของบุคคลใดหรือไม่”

             (6) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมวลรัษฎากร
             ตามประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้รับบริการเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ในการเก็บค่าผ่านทาง การทางพิเศษจะต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่มในค่าผ่านทางด้วย

             (7) พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
             ในกระบวนการจัดทำทางพิเศษ หรือ ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตราย หรือ แก้ไขความเสียหายที่ร้ายแรงในทางพิเศษ อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้เกี่ยวข้อง ในกรณีเช่นนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายจากการทางพิเศษได้ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ 2550
             ในประเด็นนี้ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ดำเนินการตามหน้าที่ว่าไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำโดยจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

             (8) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
             ในกระบวนการจัดทำทางพิเศษซึ่งมีการเวนคืออสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ให้สิทธิแก่บุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อุทธรณ์การพิจารณาค่าตอบแทนไปยังศาลปกครองได้

             ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองทางกฎหมายให้กับเอกชน ผู้วิจัยพบว่า การสร้างหรือบริหารจัดการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก อาจจะมีความคาบเกี่ยวกับ ที่ดินของหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้

             พื้นที่ที่ก่อสร้างอาจมีบุคคลอื่นได้รับอนุญาต ในการใช้พื้นที่ทับซ้อนนั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น อาจ ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว โดยต่างอ้าง สิทธิตามข้อสัญญาหรือข้อตกลงของตน กับหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนี้              

    1) การดูแลพื้นที่บริเวณก่อสร้าง ในกรณีที่การทางพิเศษต้องดำเนินการสร้างทางพิเศษผ่านพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย อาจใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าควบคุมพื้นที่ หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทับซ้อนเข้าควบคุมพื้นที่ เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อตกลงหรือตามสัญญา ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการก่อสร้าง หรือการบริหารจัดการของการก่อสร้างทางด่วนได้

    2) การส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต้องพิจารณาการเข้าใช้พื้นที่ของผู้ได้รับสัมปทาน ในการดำเนินการขั้นต่อไปว่า ผู้ได้รับสัมปทานมีสิทธิและหน้าที่เพียงใด ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย

             ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกิดการทับซ้อนของอำนาจหน่วยงานรัฐ ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า การทางพิเศษควรที่จะทำความตกลงกับหน่วยงานอื่นของรัฐให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน

คณะผู้วิจัย
อ.ชีวิน มัลลิกะมาลย์
ภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 081-5167537