ปัญหา
การใช้ที่ดินจะสะท้อนกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดการทรัพยากรของชุมชนในแต่ละพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินย่อมส่งผลต่อสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่นั้นด้วย จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเมืองในมิติการพัฒนา และเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลง พบว่าความเป็นเมืองทางกายภาพหรือเชิงพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งปรับตัวไม่ทัน ทำให้การวางแผนพัฒนาเมืองเป็นลักษณะแผนรับมากกว่าแผนรุก เนื่องจากขาดระบบการจัดการข้อมูลและแบบจำลองการติดตามการพัฒนาเมือง นอกจากนี้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนา เช่น ภัยน้ำท่วม การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง การลื่นไหลของดิน ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในทางที่เสื่อมลงเร็วขึ้น จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนาแบบจำลองในการติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการเตรียมแผนรุกเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ
วัตถุประสงค์ ในระดับเป้าหมาย
- เพื่อสำรวจโครงสร้างของเมืองของทุกจังหวัดในประเทศไทย
- เพื่อพัฒนาแบบจำลองการติดตามการเติบโตของเมืองในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ ในระดับปฏิบัติ
- จัดกลุ่มจังหวัดตามโครงสร้างเมืองในมิติพื้นที่ ประชากร และระดับความเป็นเมือง
- หาปัจจัยที่สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีการเพิ่มและลดลงของอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเมืองระหว่าง 2543/2544-2549/2550 ต่อการใช้ที่ดินเมืองในปี 2550
วิธีการวิจัย
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย จำนวนจังหวัดทั้งหมดในประเทศไทย 76 จังหวัด โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้ทั้งประชากร
หน่วยในการวิจัย คือ จังหวัด
เครื่องมือในการวิเคราะห์
- วิธีการจัดกลุ่มจังหวัดใช้ K-means Cluster และ สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
- วิธีการหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ใช้วิธีการจำแนกประเภท (Discriminant function)
ตัวแปรและแหล่งข้อมูล
- ตัวแปรที่ใช้ในการวิเคราะห์การจัดกลุ่มจังหวัด
- ตัวแปรที่ใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเมือง
ผลการวิจัย
- การจัดกลุ่มจังหวัดตามโครงสร้างเมืองในมิติพื้นที่ ประชากร และระดับความเป็นเมอง รวม 24 ตัวแปร ด้วยวิธี K-means cluster พบว่าถ้าแบ่งเป็น 6 กลุ่ม (รูปที่ 1) สามารถอธิบายกลุ่มจังหวัดตามลักษณะเมืองได้ดีที่สุด คือ
กลุ่มที่ 1 เมืองธุรกิจเด่นด้วยย่านตัวเมืองและการค้า การคมนาคม มีจังหวัดเดียวคือกรุงเทพมหานคร
กลุ่มที่ 2 เมืองอุตสาหกรรมเด่นด้วยย่านอุตสาหกรรม ตัวเมืองและย่านการค้าเกาะกลุ่มใกล้ศาลากลางจังหวัด มีจังหวัดเดียวคือ ชลบุรี
กลุ่มที่ 3 เมืองราชการเด่นด้วยสถานที่ราชการ หมู่บ้าน มีจังหวัดเดียวคือ นครราชสีมา
กลุ่มที่ 4 เมืองกึ่งชนบทเด่นด้วยสถานที่ราชการ พื้นที่ทิ้งร้าง มี 26 จังหวัด แยกตามภาคได้ดังนี้ ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี และปราจีนบุรี ภาคเหนือ 7 จังหวัดได้แก่ ลำปาง นครสวรรค์ เชียงใหม่ พิษณุโลก เชียงราย เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย สกลนคร ศรีษะเกษ ชัยภูมิ สุรินทร์และร้อยเอ็ด ภาคใต้มีเพียงจังหวัดเดียวคือ สงขลา
กลุ่มที่ 5 เมืองที่มีความหลากหลายประกอบด้วยย่านการค้า อุตสาหกรรม คมนาคม หมู่บ้าน มี 9 จังหวัด แยกตามภาคได้ดังนี้ ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี ชัยนาท และลพบุรี ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีภาคละจังหวัดคือ ตากและบุรีรัมย์เรียงตามลำดับ ภาคใต้ 2 จังหวัดได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
กลุ่มที่ 6 เมืองเด่นด้วยย่านตัวเมืองและการค้า เกาะกลุ่มใกล้ศาลากลางจังหวัด มี 38 จังหวัดแยกตามภาคได้ดังนี้ ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สมุทรสงคราม จันทบุรี สิงห์บุรี นครนายก ตราด อ่างทอง ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย อุทัยธานี น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ มหาสารคาม หนองบัวลำพู ยโสธร กาฬสินธุ์ และเลย ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา ตรัง นราธิวาส ชุมพร ระนอง สตูล พัทลุง พังงา ปัตตานี และกระบี่
- การวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ ดินเมืองเพิ่มสูงขึ้นและกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเมืองลดลงในช่วงแผนฯ 9 พบว่าปัจจัยทั้ง 9 ประการ สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเมืองในช่วงแผนฯ 9 ได้ 31.25% ของความผันแปรทั้งหมด และเมื่อนำตัวแปรดังกล่าวมาสร้างสมการ จำแนกประเภท (discriminant function) มีสามารถทำนายกลุ่มจังหวัดเดิมได้ถูกต้องประมาณ 90.8% รูปที่ 2 และ รูปที่ 3
สรุป
การจัดกลุ่มจังหวัดตามโครงสร้างเมืองในมิติเชิงพื้นที่ ประชากร และระดับการกลายเป็นเมือง สามารถใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการกำหนดลักษณะเด่นของเมืองในแต่ละจังหวัด เพื่อการติดตามการวางแผนพัฒนาและการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองได้ สำหรับผลการพัฒนาโมเดลการจำแนกประเภทที่มีเป้าหมายเพื่อใช้ในการติดตามการเติบโตของเมืองและทำนายการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของจังหวัดในอนาคตที่ได้จากการวิจัยนี้ ยังไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ในการทำนายเนื่องจากมีความ สามารถในการอธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มได้เพียง 31.25 % ของความแตกต่างทั้งหมด จึงควรมีการศึกษาต่อเพื่อหาตัวแปรอื่นเพิ่มเติมที่สามารถทำให้สมการจำแนกประเภทมีความสามารถในการอธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มจังหวัดได้มากกว่านี้
|