โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจาพระราชดำริ
The King’s Royally Initiated Laem Phak Bia Environmental Research and Development Project

ความเป็นมาโครงการ

              โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2533 ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมชลประทาน เทศบาลเมืองเพชรบุรี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามแนวพระราชดำริดังกล่าว โดยเลือกพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาวิจัย มีที่ตั้งโครงการฯ ที่บริเวณแหลมผักเบี้ย ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
 
ผลการดำเนินงานโครงการ

             1. งานวิจัย ประกอบด้วย การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์   งานวิจัยระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย งานวิจัยพืชบำบัดน้ำเสีย  การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางฟิสิกส์-เคมีโดยใช้วัสดุธรรมชาติ  งานวิจัยการติดตามตรวจสอบคุณภาพแม่น้ำเพชรบุรี  การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทางกายภาพ เคมี และชีวภาพเส้นทางคลองส่งน้ำชลประทานเขื่อนเพชร-หัวหิน   การใช้ประโยชน์จากน้ำเสียและตะกอน  การศึกษาค่าโลหิตวิทยาของปลานิล (Oreochromis niloticus) ที่เลี้ยงในระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย  การบำบัดน้ำเสียด้วยบัวหลวงในน้ำทิ้งจาก               โรงฆ่าสัตว์ เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี  การศึกษาทรัพยากรปูแสมเรื่องความดกไข่ อัตราการฟัก การเจริญเติบโตและอัตรารอดของปูแสมก้ามขาว (Episesarma versicolor Tweedie) บริเวณพื้นที่โครงการฯ การมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากหาดเลนบริเวณโครงการฯ   การสำรวจเครื่องมือประมงและสัตว์น้ำที่จับได้บริเวณชายฝั่งพื้นที่โครงการฯ 

             2. นวัตกรรมจากงานวิจัย  

                      2.1 ถังดักไขมันชัยพัฒนา เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นระบบบำบัดน้ำเสียขั้นต้นสำหรับครัวเรือน ประกอบไปด้วยถังดักไขมัน ถังกรองทราย และการใช้พืชกรองน้ำเสีย โดยในขั้นต้นจะเป็นการบำบัดน้ำมันและไขมัน เศษอาหาร และสารอินทรีย์ จากนั้นน้ำที่ผ่านการบำบัดขั้นต้นจะไปยังถังกรองทรายซึ่งใช้หลักการกรองน้ำอย่างง่าย ด้วยการปล่อยน้ำให้ไหลผ่านชั้นทรายหยาบ ชั้นถ่านไม้ และชั้นอิฐหัก จากนั้นน้ำที่ผ่านการกรองจะไหลผ่านท่อด้านล่างของถังกรองทรายออกสู่แปลงพืชบำบัดน้ำเสีย หรืออาจนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ได้ ผลจากการศึกษาคุณภาพน้ำที่ผ่านการใช้ถังบำบัดน้ำเสียขั้นต้น พบว่า มีประสิทธิภาพการบำบัดไขมัน ร้อยละ 93.8 และสามารถลดความสกปรกในรูปบีโอดีได้ ร้อยละ 92.6 ซึ่งการนำถังดักไขมันมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียขั้นต้นจากครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะสามารถช่วยลดภาระในการบำบัดน้ำเสียและช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะให้ดีขึ้นได้



ภาพที่ 1 ถังดักไขมันชัยพัฒนา

                      2.2 โปสเตอร์ปลาเศรษฐกิจบริเวณชายฝั่งแหลมผักเบี้ย และโปสเตอร์กุ้ง ปู หอยเศรษฐกิจบริเวณชายฝั่งแหลมผักเบี้ย 

                      2.3 หนังสือนกแหลมผักเบี้ย จากผลงานวิจัยการศึกษาความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกในพื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา จึงได้มีการจัดพิมพ์หนังสือนกแหลมผักเบี้ย ฉบับปกอ่อน ครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 และจัดพิมพ์ครั้งที่สอง ทั้งฉบับปกอ่อนและปกแข็งในเดือนสิงหาคม 2553 โดยหนังสือนกแหลมผักเบี้ยได้รวบรวมข้อมูลนกที่พบในโครงการแหลมผักเบี้ยฯ และพื้นที่ ใกล้เคียงจำนวน 242 ชนิด พร้อมภาพถ่ายประกอบมากกว่า 500 ภาพ เพื่อมุ่งหวังให้เป็นหนังสือที่ใช้ได้กับนักวิชาการทุกสาขา นักดูนก นักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และบุคคลทั่วไป 

                      2.4 ชุดทดสอบซีโอดี (Chemical Oxygen Demand; COD) เพื่อให้สามารถตรวจวัดค่าซีโอดี และประเมินคุณภาพน้ำเบื้องต้นได้ ประกอบด้วย 2 ชุดด้วยกัน คือ ชุดที่ 1 ตรวจวัดระดับความเข้มข้นซีโอดีระดับ 0-180 มิลลิกรัม/ลิตร เหมาะกับน้ำผิวดินทั่วไปถึงน้ำเสียชุมชน และชุดที่ 2 ตรวจวัดระดับความเข้มข้นซีโอดีระดับ 200-1,000 มิลลิกรัม/ลิตร เหมาะกับน้ำเสียจากชุมชนถึงน้ำเสียระดับจากอุตสาหกรรม 

ภาพที่ 2 ชุดทดสอบซีโอดีภาคสนาม

 

 

คณะผู้วิจัย
ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว และคณะ
วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-579-2116, 02-579-3473