โครงการบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ ตามแนวพระราชดำริ
Waste Disposal and Utilization from Royal Initiated Project

 

1. ความเป็นมาของโครงการ

              ปีพุทธศักราช 2538  ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้มีโอกาสถวายรายงานเกี่ยวกับการนำก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ มาผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ในวโรกาสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอุทยานวิจัยในงานวันเกษตรแห่งชาติประจำปี 2538 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนเมษายน 2538 เกี่ยวกับการกำจัดขยะครบวงจร โดยให้แบ่งพื้นที่ฝังกลบออกเป็น 2 ส่วน ความว่า

               ส่วนแรก  ให้ใช้แก๊สจากขยะให้หมดก่อน ต่อจากนั้นก็นำขยะไปร่อนแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ส่วนที่เป็นสารปรับปรุงดินก็ให้นำไปปลูกพืช สวนที่เหลือที่ยังสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ให้นำไปเผาเพื่อที่จะนำเอาพลังงานความร้อนไปใช้ประโยชน์ เมื่อเกิดเถ้าถ่านขึ้นก็นำไปผสมกับวัสดุที่เหมาะสมเพื่ออัดเป็นแท่ง ซึ่งอาจนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างต่อไปได้ เมื่อพื้นที่ส่วนแรกว่างลง ก็สามารถนำขยะมาฝังกลบได้ใหม่

               ส่วนที่สอง  ขณะที่ดำเนินการร่อนแยกขยะในพื้นที่ส่วนแรกก็ใช้ประโยชน์จากแก๊สควบคู่กันไปก่อน เมื่อแก๊สหมดแล้ว จึงดำเนินการลักษณะเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ส่วนแรก ซึ่งถ้ากระทำได้อย่างต่อเนื่องโดยจัดเวลาให้เหมาะสม ก็จะนำให้มีพื้นที่ฝังกลบหมุนเวียนตลอดไป
นอกจากพระราชทานพระราชดำริแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวที่คณะฯ ทำงานได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติแล้ว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2538  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสให้ นายสุเมธ  ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนานำเงินที่มูลนิธินายห้างโรงปูนหนึ่งทูลเกล้าถวายเงินสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 1 ล้านบาท จัดตั้งเป็น “กองทุนบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ” ในมูลนิธิชัยพัฒนา

2. ผลการดำเนินการโครงการบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 2538 จนถึงปัจจุบัน ปี 2552  เป็นระยะเวลาประมาณ 14 ปี

               2.1 เทคโนโลยีที่นำมาใช้  ประกอบด้วย

                     ขั้นตอนที่ 1 พัฒนาองค์ความรู้ในการออกแบบระบบฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานสากล

                     ขั้นตอนที่ 2 คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการนำก๊าซจากขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าไห้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพตามศักยภาพของพื้นที่ฝังกลบ

                     ขั้นตอนที่ 3 คิดค้นและพัฒนาวิธีการรื้อบ่อขยะเก่ามาแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดิน วัสดุก่อสร้างและพลังงานรูปแบบต่างๆ ให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพตามหลักสถิติ
                     โดยมีหลักการ ตามรูปที่ 1

 

รูปที่ 1 ผังสรุปการบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ ตามแนวพระราชดำริ

 

               2.2 ผลการดำเนินงาน
                     การดำเนินงานโครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2538 มีผลดำเนินงานดังนี้

                     ขั้นตอนที่ 1 ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาออกแบบระบบฝังกลบขยะอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ให้กับหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 10 แห่ง ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ของบริษัท กลุ่ม 79 จำกัด ได้เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการออกแบบขยะขนาด 2,000 ตันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้รับมาตรฐานสากลด้านการฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ (ISO 14001, 2004)

                     ขั้นตอนที่ 2 พัฒนากระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซขยะ โดยศูนย์ฯ ร่วมมือกับบริษัทกลุ่ม 79 จำกัดและบริษัทมินเซนแมชชีนเนอรี่ จำกัด และหน่วยงานราชการต่างๆ รวบรวมแก๊สขยะเป็นหลุมดูดแก๊สแบบแนวนอน อัตราการดูดแก๊ส 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องยนต์ผลิตกระแสฟ้าขนาด 230 กิโลวัตต์  ซึ่งในปี 2552 ผลิตไฟฟ้าได้ 480,000 ยูนิต

 


รูปที่
2 ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สขยะ

 

                      ขั้นตอนที่ 3 ศูนย์ฯ ร่วมกับบริษัทเมืองสะอาด จำกัด ทำการพัฒนากระบวนการวางแผนการใช้เครื่องจักรขุดรื้อขยะเก่ามาแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดินวัสดุก่อสร้างและผลิตน้ำมันโดยใช้หลักการทางสถิติ นอกจากนี้ ได้พัฒนาเครื่องจักรด้านการแปรรูปวัสดุเหลือใช้เป็นพลังงานและสารปรับปรุงดินในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบผลิตน้ำมันจากพลาสติก (Plastic Oil)  ระบบผลิตวัสดุก่อสร้างไม้พลาสติก (Wood Plastic) ตามรูปที่ 3 เพื่อเป็นต้นแบบการขยายผลในอนาคต

รูปที่ 3 ระบบขุดรื้อขยะเก่ามาใช้ประโยชน์

 

3. การคิดค้นระบบการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงพลังงานและปุ๋ย

               องค์ประกอบของขยะชุมชนสามารถแบ่งแยกประเภทได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ขยะนำกลับมาใช้ใหม่ ขยะประเภทสารอินทรีย์ และขยะคัดทิ้ง ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถส่งให้กับโรงงาน ขยะคัดทิ้งจะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ ส่วนขยะอินทรีย์สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือก ปุ๋ยอินทรีย์หมัก ทั้งระบบการใช้อากาศ ไม่ใช้อากาศ รวมทั้งใช้ระบบเครื่องจักรที่ผลิตก๊าซร้อน รูปที่ 4, 5, 6 เป็นตัวอย่างผลการดำเนินการที่สามารถใช้เป็นต้นแบบใช้งานในชุมชนได้

 

รูปที่ 4 อุปกรณ์ผลิตถ่านอัดแท่ง

 

 

รูปที่ 5 ระบบผลิตก๊าซร้อนจากแก๊สซิฟายเออร์

 

 

รูปที่ 6 ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร

 

4. สรุปผลการดำเนินงาน

               การบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะเป็นเทคโนโลยีที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ในการจัดการขยะอย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยการหมุนเวียนพื้นที่  ด้วยเทคโนโลยี 3 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 นำขยะมาฝังกลบอย่างถูกลักษณะ ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมแก๊สขยะผลิตกระแสไฟฟ้า ขั้นตอนที่ 3 เมื่อดูดแก๊สหมด นำขยะที่ผ่านการย่อยสลายแล้วมาแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดิน วัสดุก่อสร้าง และพลังงานในรูปแบบต่างๆ  เมื่อพื้นที่ว่างลง สามารถนำขยะมาฝังกลบต่อไปได้ และเข้าสู่ระบบหมุนเวียนพื้นที่แบบยั้งยืน โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน ในลักษณะการเรียนรู้แบบปฏิบัติงานจริง (Learning by doing) นำอุปสรรคและปัญหาข้อขัดข้องมาแก้ไข ปรับปรุงจนเป็นนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการจัดการขยะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป

คณะผู้วิจัย
ผศ.บุญมา ป้านประดิษฐ์  และคณะ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน 
ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม     
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร.034-281101