ปลาการ์ตูนดำพระราชทานและปลากัด ปลาสวยงามของไทย

  ปลาการ์ตูนดำพระราชทาน

                ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในการเปิดงาน "มหกรรมเกษตรรวมใจ ครั้งที่ 1" เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2552 ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ในโอกาสนี้ นายปราโมทย์ สังข์สุขศิริกุล ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 34 และเป็นผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงาม ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “ปลาการ์ตูนดำ” จำนวน 2 คู่ หลังจากนั้น ได้พระราชทานปลาการ์ตูนดังกล่าวให้กับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำมาเลี้ยงดูภายใต้การดูแลของ นายสหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำประดับ

                ปัจจุบันปลาการ์ตูนที่ได้รับพระราชทานดังกล่าวได้รับการเลี้ยงดูและเจริญพันธุ์ ตลอดจนวางไข่ ทั้งสิ้น 10 ครั้ง ทางศูนย์วิจัยฯได้อนุบาลและเลี้ยงลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนดำ โดยมีอัตรารอดของลูกปลาอายุ 1 เดือน เท่ากับ 28.57 ถึง 88.10 เปอร์เซ็นต์ ลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนดังกล่าว เจริญเติบโต เพื่อพัฒนาการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ และการคัดพันธุ์ ของศูนย์วิจัยฯ ต่อไป

ภาพนายปราโมทย์ สังข์สุขศิริกุล ผู้ถวายปลาการ์ตูนดำ
เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดปลาการ์ตูน
ในงานประมงน้อมเกล้า ประจำปี 2551

ภาพปลาการ์ตูนดำพระราชทาน โดยปัจจุบันปลาการ์ตูนดังกล่าวเป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับการศึกษาวิจัย
ของศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำประดับ คณะประมง

ลูกปลาการ์ตูนดำที่ได้จากการเพาะพันธุ์

 

ปลากัด ปลาสวยงามของไทย

           ชาวไทยรู้จักการกัดปลาเป็นกีฬาตั้งแต่ยุคสุโขทัย โดยแรกๆ จะนำปลากัดจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการแข่งขัน ปลากัดป่า หรือปลากัดลูกทุ่งที่พบในธรรมชาติตามท้องนา หนองบึง เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ไม่มีลักษณะเด่นสะดุดตา ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร อาศัยหลบซ่อนตัว อยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้น ความสามารถพิเศษของปลากัดอยู่ที่ความเป็นนักสู้โดยธรรมชาติ เมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันที ปลากัดตัวผู้สามารถเปลี่ยนสีให้งดงามเมื่อถูกกระตุ้นในสภาวะตื่นตัว ครีบทุกครีบจะแผ่กางออกเต็มที่ แผ่นเยื่อหุ้มเหงือกขยายพองตัวออก พร้อมกับสีน้ำเงินแดงที่ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน ทำให้ดูสง่า สวยงาม

           ต่อมามีการคัดเลือกพันธุ์ปลากัดไว้สำหรับแข่งขัน ซึ่งเป็นปลากัดครีบสั้นที่กัดเก่ง  อดทน ที่เรียกว่า ปลากัดหม้อ หรือปลาลูกหม้อ  ต่อมาได้มีการพัฒนาการคัดพันธุ์จนได้สายพันธุ์ที่มีครีบใหญ่ยาว สวยงาม และในปัจจุบันมีการพัฒนาจนได้สายพันธุ์ปลากัดอีกมากมาย เช่น ปลากัดหางสามเหลี่ยม (เดลต้า) ปลากัดหางมงกุฏ (คราวเทล) ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก (ฮาล์ฟมูน) ปลากัดยักษ์

           คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาฟื้นฟูสายพันธุ์ปลากัดในประเทศไทย โดยเริ่มจากการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานปลากัดในระดับสากล และการปรับปรุงสายพันธุ์โดยได้เริ่มการจัดงานประกวดปลาขึ้นเป็นครั้งแรกในงานวันเกษตรแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งต่อมาได้มีการจัดประกวดต่อเนื่องกันมาทุกปี จากนั้นทางกรมประมงได้จัดประกวดปลากัดในงานวันประมงน้อมเกล้าที่จัดขึ้นทุกปี และมีการจัดประกวดกันอย่างต่อเนื่อง โดยชมรมและองค์กรต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วงนี้เองที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาลูกหม้อเพื่อเป็นปลาสวยงามกันอย่างเต็มที่ ทำให้ได้ปลากัดลูกหม้อที่มีสีสันสวยงามทั้งสีเดี่ยว สีผสม และลวดลายต่างๆ จนถึงปัจจุบันรูปแบบสีสันของปลากัดลูกหม้อได้พัฒนาอย่างมากมายในทุกโทนสี และกลายเป็นปลาสวยงามอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการปรับปรุงสายพันธุ์ปลากัดครีบยาวในประเทศไทย จนเข้าสู่ระดับมาตรฐาน จนเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากลด้วย
(อ้างอิงจาก ยนต์ มุสิกและคณะ 2547. ปลากัด อควาคอลเล็คชั่น. กรุงเทพฯ. 48 หน้า.)

ศาสตราจารย์ ดร. อุทัยรัตน์ ณ นคร ทูลเกล้าฯ ถวาย ปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ
แด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารวลัยลักษณ์  และทรงบรรยายพิเศษ ที่คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่  15 มิถุนายน2548 และ 12 ธันวาคม 2549 ตามลำดับ

 

คณะผู้วิจัย
นายสหภพ ดอกแก้ว
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำประดับ
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8365