พระผู้ทรงเอื้ออาทรต่อสรรพชีวิต

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชา-ราษฏร์ ด้วยพระปรีชาสามารถมีพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศในศาสตร์ต่าง ๆ ถึงพร้อมด้วยพระเมตตาคุณ และพระปัญญาคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการสัตวแพทย์ ทรงส่งเสริมและสนับสนุนวิชาชีพและการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์ การเลี้ยงโคนมอย่างครบวงจร การปศุสัตว์ การสัตวแพทย-สาธารณสุข การเลี้ยงสัตว์และการเตรียมพื้นที่ป่าและสัตว์ป่ารองรับสัตว์ป่าคืนถิ่นตามพระราชดำริ เป็นอาทิ เพื่อให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความร่มเย็นผาสุกถ้วนหน้า ในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์ทรงวางรากฐานการศึกษาด้วยการพระราชทานทุนการศึกษามูลนิธิอานันทมหิดลแก่อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ไปศึกษาต่อ เพื่อเป็นกำลังสำคัญมาพัฒนาบุคลากรด้านสัตวแพทย์ให้กว้างไกล และเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาต่อไป

          ในด้านการเลี้ยงสัตว์นั้น ได้มีพระราชดำริและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลากหลาย ทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกแห่ง ในแผ่นดินไทยเพื่อทรงเยี่ยมเยียน ศึกษาปัญหาที่ราษฏรประสบอยู่ และมีพระบรมราชวินิจฉัยในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับสนองพระราชดำริ อาทิ การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างครบวงจร ได้เริ่มต้นอย่างจริงจังและมีแบบแผน หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเดนมาร์ก เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2503 และหลังจากนั้น รัฐบาลเดนมาร์กได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม “ฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ก” ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2505 มีพระราชดำริขณะนั้นว่า เด็กไทยควรจะดื่มนมเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง และส่วนสูงเพิ่มขึ้น และควรผลิตนมได้ในประเทศไม่ต้องนำเข้า และเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคนมจะมีรายได้สูงกว่าอาชีพเกษตรอื่น ๆ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างโรงโคนมสวนจิตรลดาขึ้นภายในบริเวณเขตพระราชฐานสวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2505 ทรงใช้หลักวิชาการดูแลสุขภาพสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิตจากสัตว์ที่โรงโคนมส่วนพระองค์ ทำให้กิจการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากโคนมที่เลี้ยง 6 ตัว ในระยะแรก จนมีถึง 100 ตัวในปัจจุบัน ทำให้ได้ผลผลิตน้ำนมจำนวนมากที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารบริโภคที่มีคุณค่า ไม่เฉพาะจำหน่ายแก่ข้าราชการบริพารเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถบริโภคได้ และขยายตัวจนมีทั้งโรงโคนมส่วนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา โรงนมเม็ด โรงเนยแข็ง เป็นต้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กิจการทั้งหลายดังกล่าวเป็นแหล่งตัวอย่างเพื่อการศึกษาของนักวิชาการและประชาชน พระปรีชาสามารถในการตระหนักถึงหลักการสุขาภิบาลอาหารที่ปลอดภัยเพื่อการบริโภค กล่าวได้ว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของวิชาชีพสัตวแพทย์ที่มีจุดมุ่งหมาย ไม่แต่เฉพาะด้านการรักษาสัตว์เท่านั้น สัตวแพทย์ยังมีหน้าที่พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ การดูแลสัตว์ให้มีสุขภาพดี และดูแลผลผลิตจากสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าต่อคนในประเทศด้วย พระราชกรณียกิจในด้านนี้เป็นแบบอย่างของงานด้านสัตวแพทยสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพสัตว์ที่มีค่ายิ่ง

          ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรเช่าโค-กระบือ ไปใช้แรงงานในฤดูกาลเพาะปลูกในราคาถูกหรือให้ยืมไปเลี้ยงเพื่อผลิตลูกโคและกระบือสุดแต่ความประสงค์ของชาวนา ผลของโครงการทำให้ชาวนามีโค-กระบือใช้เป็นแรงงานประกอบอาชีพโดยมีพระราชดำริว่า เมื่อน้ำมันแพงขึ้น การใช้เครื่องจักรกลและเครื่องทุนแรงทางการเกษตรจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์เลี้ยงที่เคยใช้มาก่อน แต่ก็ประสบปัญหาการขาดแคลนโค-กระบือ ทรงเริ่มโครงการที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยกรมปศุสัตว์รับสนองพระราชดำริ และต่อมาได้ขยายโครงการไปดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ปัจจุบันธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ สามารถให้เกษตรกรเช่าซื้อโดยผ่อน ระยะยาว เช่าเพื่อใช้งาน ให้ยืมใช้งานหรือให้ยืมเพื่อทำการขยายพันธุ์ได้

พระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์เลี้ยง

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตาและกรุณาต่อสัตว์ ทรงมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่ทรงเลี้ยงไว้ เช่น ลิง นก แมวและสุนัข เป็นต้น โดยเฉพาะสุนัข ทรงมีความใกล้ชิดเป็นอย่างมาก และทรงโปรดสุนัขพันธุ์ผสมทั่วไป สุนัขที่ทรงเลี้ยงไว้บางตัวก็เคยเป็นสุนัขจรจัดมาก่อน และทรงเลี้ยงไว้ด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาและวิเคราะห์นิสัยต่าง ๆ ของสุนัขแต่ละตัวที่ทรงเลี้ยงไว้ และทรงโปรดที่จะยกตัวอย่างเปรียบเทียบนิสัยของสุนัขทั้งที่ดีและไม่ดี เพื่อเป็นคติสอนใจให้กับพสกนิกรของพระองค์ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา      เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2543

             พระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาต่อสัตว์ที่ทรงเลี้ยงไว้ พระอัจฉริยภาพในการเก็บข้อมูลประวัติสัตว์อย่างละเอียด และพระจริยาวัตรในการศึกษานิสัยและพฤติกรรม ตลอดจนในการสังเกตความผิดปกติ แสดงถึงพระปรีชาญาณประดุจนักวิชาการสัตวแพทย์ผู้ชำนาญการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ยังแผ่กว้างถึงสัตว์ที่ไร้ผู้อุปการะและสัตว์พิการ


พระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์ที่ไร้ผู้อุปการะสัตว์ป่วยที่ยากไร้
       
              สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับอุปการะสุนัขไม่มีเจ้าของมาเลี้ยงเป็นสุนัขเลี้ยงส่วนพระองค์ และทรงทราบถึงปัญหาสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครจัดทำโครงการหาบ้านใหม่ให้ “หมาเทศฯ” ตามที่ทรงเรียกขานสุนัขจรจัดว่า “หมาเทศฯ” ซึ่งหมายถึง “สุนัขเทศบาล” นั่นเอง

              กรุงเทพมหานครได้รับสนองพระราชดำริ และดำเนินการตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการจัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้น โดยกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มสุนัขไม่มีเจ้าของที่รวบรวมจากที่สาธารณะต่าง ๆ ให้มีการนำสุนัขดังกล่าวมาคัดแยกและบำรุงสุขภาพ

              กองทุนรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา    ด้วยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  พร้อมด้วยคณะ  ซึ่งประกอบด้วย คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์  และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  และได้รับ    พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานเงินจากการจำหน่ายเสื้อยืดครอบครัวคุณทองแดง  จำนวน 2,000,000.- บาท ( สองล้านบาทถ้วน )  ให้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เพื่อจัดตั้ง  กองทุนรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถาขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เงินกองทุนฯ ในการรักษาสัตว์ป่วยอนาถาที่เจ้าของหรือผู้นำมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แต่ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลตามจริงหรือบางส่วนได้

              คณะสัตวแพทยศาสตร์  ได้นำเงินตามจำนวนดังกล่าวไปดำเนินการ  โดยเริ่มช่วยเหลือสัตว์ป่วยตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2548 – พ.ศ.2553  รวมสัตว์ป่วยที่ได้รับการรักษาจากกองทุนรักษาพยาบาลทั้งหมด  1,152  ตัวเป็นแมว  254 ตัว  สุนัข  898 ตัว  ค่ารักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถาทั้งหมดรวมเป็นเงิน   4,170,415  บาท  (สี่ล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสี่ร้อยสิบห้าบาทถ้วน)  โดยการนำดอกเบี้ยมาเป็นค่ารักษาพยาบาลฯ  และยังจะช่วยเหลือสัตว์ป่วยอนาถา  ตามพระราชดำริต่อไป


พระมหากรุณาธิคุณต่อ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

              โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แรกเริ่มให้บริการเพียงหน่วยงานเล็กๆ ที่สนับสนุนการเรียนการสอนด้านคลินิกปฏิบัติ การบริการทางวิชาการลักษณะเป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับสถานพยาบาลทั่วไป  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระเมตตาต่อสรรพสัตว์ทำให้โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้และวิจัยทำให้โรงพยาบาลสัตว์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างมาก เครื่องมือแพทย์พระราชทานหลายชนิดรวมถึงสระสุวรรณชาดนำมาใช้ในการเรียนรู้วิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสัตวแพทย์และนำมาใช้ในการบริการ และเพื่อคุณภาพที่ดีของสัตว์และคน

               ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นพลังจิตวิญญาณแก่บุคลากรทุกหน่วยในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ร่วมกันผนวกเข้ากับความต้องการและความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของผู้มารับบริการส่งผลให้มีการปรับตัวของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยการพัฒนาการบริการรักษาโรคเฉพาะทางที่ครอบคลุม เช่นเดียวกับสาขาแพทย์ เช่นโรคหัวใจ โรคไต โรคผิวหนัง โรคระบบประสาท โรคตา ตลอดจนโรคสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ  การเปิดงานบริการใหม่โดยการจัดตั้งธนาคารเลือดสำหรับสัตว์เลี้ยงแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มทางรอดชีวิตสัตว์ป่วย วิธีการทำงานใหม่โดยการเปิดให้บริการรักษาสัตว์ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินครบวงจรและตลอด 24 ชั่วโมงแห่งแรกของประเทศ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้งานบริการ  เช่น การจัดตั้งหน่วย CT scan หน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  การบูรณาการความรู้หลากหลายศาสตร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งนวตกรรมสำหรับการรักษาสัตว์ ได้สำเร็จ ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการส่งต่อสัตว์ป่วยหนัก จากคลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ต่างๆ   ทั้งในและต่างประเทศตลอดจนการเป็นแหล่งฝึกอบรมและศึกษาต่อเนื่องของวิชาชีพสัตวแพทย์  จึงนับว่าเป็นการสร้างสรรค์งานบริการรักษาสัตว์ที่ตอบสนองความต้องการของสังคมเพื่อสังคมที่เป็นสุขและสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานให้ได้มาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ การได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการดูแลรักษาสุนัขหลวงและสุนัขทรงเลี้ยงและสัตว์อื่นๆ  การมีวิสัยทัศน์  การก้าวนำโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ไปสู่การเป็นโรงพยาบาลสัตว์ชั้นนำ อันดับ 1 ของเอเชีย  โดยทำงานเป็นทีม บริการสังคม ร่วมสอนและวิจัยให้ดีที่สุด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระมหากรุณาธิคุณต่อ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  หัวหิน
ที่มา...ด้วยความภักดี

                เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาในปี พ.ศ.2550 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนจากกองทัพบก และหน่วยงานต่างๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการจัดตั้ง และก่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้มีหน่วยงานที่สามารถถวายงานด้านการดูแล สัตว์เลี้ยง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางสัตวแพทย์ ดูแล และฟื้นฟูสุขภาพสัตว์อย่างครบวงจร ได้มาตรฐานสากลสำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน การดำเนินงานดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนแล้วเสร็จสามารถให้บริการทางสัตวแพทย์แก่ประชาชนได้ในปลายปี พ.ศ. 2553
ด้วยพระบารมี...จึงยังประโยชน์แก่ทวยราษฎร์

                นอกเหนือจากภารกิจสำคัญในการถวายงานการดูแลสัตว์เลี้ยง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ อีกทั้งงานด้านการศึกษาวิจัยทางสัตวแพทย์แล้วนั้น โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หิวหิน ได้ให้บริการตรวจรักษาสัตว์เลี้ยง แก่ประชนชนทั่วไป และออกให้บริการยังฟาร์มปศุสัตว์ของเกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตภาคใต้ตอนบน เพื่อตรวจรักษา และให้คำปรึกษาในด้านการจัดการสุขภาพสัตว์ระดับฝูง

                การให้บริการตรวจรักษาแก่สัตว์เลี้ยง ครอบคลุมทั้งด้านอายุรกรรม และศัลยกรรม ทั้งสัตว์ป่วยทั่วไป และสัตว์ป่วยหนัก ทั้งสัตว์ป่วยนอก และสัตว์ป่วยใน นอกจากนั้นยังเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีสัตว์ป่วยฉุกเฉิน  เพื่อให้การรักษาสัตว์เป็นไปอย่างทันถ่วงที 

เกษตรศาสตร์...ศาสตร์ของแผ่นดิน

                ด้วยความก้าวหน้าทางวิชาการสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศ และในระดับนานาชาติ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาลสัตว์ฯ อยู่ในเมืองหัวหิน ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีเป้าหมายที่จะผลักดันโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน แห่งนี้ ให้เป็น โรงพยาบาลสัตว์เพื่อการเรียนการสอนระดับนานาชาติ (International Veterinary Teaching Hospital) และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการสัตวแพทย์ของภูมิภาคเอเซีย (Veterinary Educational Hub of Asia)
คณะผู้วิจัย
ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ และคณะ
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-0058-9 ต่อ 4201