สิ่งสำคัญในการอนุรักษ์ชนิดและจำนวนสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ได้แก่ การรักษาถิ่นอาศัยที่มีอยู่เดิม แต่เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ได้เปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติโดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่ม ให้เปลี่ยนแปลงไปจนเกือบหมดสิ้น สวนจิตรลดา และวังสระปทุม คงเป็นสถานที่สำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายสิ่งมีชีวิตเดิมในพื้นที่ราบลุ่ม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่น้อย ทั้งได้รับการดูแล ปราศจากการรบกวน ทำให้เป็นแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตหายากหลายชนิด จากการศึกษาความหลากหลายสิ่งมีชีวิตในสวนจิตรลดา และวังสระปทุม พบว่า ในสวนจิตรลดา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 395 ไร่ เป็นที่อาศัยของนกตามธรรมชาติ 63 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 8 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 18 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 6 ชนิด รวม 95 ชนิด
ขณะที่วังสระปทุม ซึ่งมีพื้นที่เพียงประมาณ 50 ไร่ พบนก 39 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 8 ชนิด รวมจำนวน 67 ชนิด
เมื่อพิจารณาโดยรวม พบว่า สวนจิตรลดาและวังสระปทุม เป็นแหล่งอนุรักษ์ที่มีความสำคัญ โดยพบว่ามีนกอาศัยอยู่อย่างน้อย 68 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างน้อย 10 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน อย่างน้อย 18 ชนิด รวม และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอย่างน้อย 8 ชนิด รวมทั้งสิ้นกว่า 104 ชนิด
พิจารณาสถานภาพทางการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN 2010) ของสัตว์เหล่านี้ หรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดง (red list data) พบว่าเป็นที่อาศัยของสัตว์ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับสากลอย่างน้อย 21 ชนิด
โดยเป็นสัตว์ ที่เป็นสัตว์มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) จำนวน 1 ชนิด คือ ค้างคาวเพดานเล็ก
เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) 1 ชนิด ได้แก่ นกกระทุง
กลุ่มสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) 2 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง นกกระจาบธรรมดา และนกแสก
กลุ่มสัตว์ที่มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ที่พบมี 5 ชนิด ได้แก่ ตะพาบน้ำ เต่าหับ เต่านา เต่าบัว ส่วน นกที่มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกัน ได้แก่ นกกาบบัว
ส่วนสัตว์ ที่มีสถานภาพมีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (Least Concern) พบ 12 ชนิด ได้แก่ งูแสงอาทิตย์ งูสายม่านพระอินทร์ งูเขียวปากแหนบ งูเหลือม งูเขียวหางไหม้ งูเขียวพระอินทร์ จิ้งจกหางหนาม จิ้งจกหางแบน กิ้งก่าหัวสีน้ำเงิน กิ้งก่าสวน ตุ๊กแกบ้าน และจิ้งเหลนบ้าน
แหล่งน้ำสะอาด ต้นไม้ที่ให้ผลสำหรับเป็นอาหาร ร่มเงาที่สร้างรัง ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ประจำ ทำให้สัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่อย่างชุกชุม เป็นแหล่งสำคัญยิ่งในการรวบรวมชนิดสัตว์ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบได้แก่ การเพิ่มจำนวนของสัตว์ต่างถิ่น เช่น เต่าญี่ปุ่น หอยทากแอฟริกา และสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ตัวเงินตัวทอง งูเหลือม ทำให้เจ้าหน้าที่ และคณะสัตวแพทย์ ต้องเข้ามาจัดการเป็นประจำ นอกจากนี้ กระรอกหลากสี ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้กัดกินเปลือกต้นไม้ผล ไม้ประดับบางต้นให้ได้รับอันตราย แนวทางการป้องกันนอกเหนือจากการห่อหุ้มลำต้นไม้ด้วยแผ่นใยพลาสติก แล้วการจับออกเป็นระยะๆควรดำเนินการด้วยเช่นเดียวกับงูเหลือม และตัวเงินตัวทอง นอกจากนี้ แมวบ้านที่มีอยู่จำนวนมากก็ได้รับการจัดการด้วยการตรวจสุขภาพ ทำหมัน และนำออกเพื่อลดจำนวน อย่างไรก็ตามปัจจุบันแมวบ้าน ทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของสัตว์บางชนิดโดยเฉพาะหนูท่อมิให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์ชนิดสัตว์มีกระดูกสันหลังในสวนจิตรลดา และวังสระปทุม ปัจจุบันดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเน้นในเรื่องการติดตามชนิด จำนวน โรค สุขภาพ เพื่อการอนุรักษ์ และการจัดการ เพื่อสนองพระราชปรารภ ต่อไป
|
|
ภาพที่ 1 นกสีชมพูสวน |
ภาพที่ 2 นกจับแมลงเหลืองหัวเทา |
|
|
ภาพที่ 3 นกแซวสวรรค์ |
ภาพที่ 4 นกกวัก |
|
|
ภาพที่ 5 นกกางเขนดง |
ภาพที่ 6 นกอีแพรดแถบอกดำ |
|
|
ภาพที่ 7 นกแซงแซวสีเทา |
ภาพที่ 8 นกกระจอกบ้าน |
|
|
ภาพที่ 9 นกยางกรอกพันธุ์จีน |
ภาพที่ 10 นกกาเหว่า |
|
|
ภาพที่ 11 นกกระทุง |
ภาพที่ 12 นกปรอดสวน |
|
|
ภาพที่ 13 นกเขาใหญ่ |
ภาพที่ 14 กระรอกหลากสี |
|
|
ภาพที่ 15 งูเขียวปากแหนบ |
ภาพที่ 16 งูเขียวหางไหม้ |
|
|
ภาพที่ 17 จิ้งเหลนบ้าน |
ภาพที่ 18 เต่าบัว |
|