ทะเลเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 71 ของพื้นที่ผิวของโลก ทะเลเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษย์ โดยเฉพาะแนวปะการังอันเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แนวปะการังของประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นแนวปะการังที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงมาก แนวปะการังมีประโยชน์มากมาย ประการแรกเป็นกำแพงธรรมชาติช่วยลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมและกระแสน้ำ ทั้งยังเป็นแหล่งของอาหารและยาสำคัญให้แก่มนุษย์ รวมถึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหากินและแพร่พันธุ์ของสัตว์ทะเล ประการสุดท้ายคือเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าและวิจัยทางธรรมชาติ และประการสุดท้ายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น
แนวปะการังประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด หากจะพิจารณาว่าสิ่งมีชีวิตชนิดไหนมีความหลากหลายมากกว่ากันอาจจะทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากมองมุมมองของนักท่องเที่ยว หรือบุคคลทั่วไป หลายคนคงบอกว่าเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายมากที่สุด เนื่องจากปลามีสีสัน รูปร่างหน้าตาที่หลากหลายแตกต่างกันไป และเป็นสิ่งมีชีวิตที่พบได้ทุกที่ จึงทำให้ดูเหมือนว่าปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหลายหลายสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่น จริงๆแล้วจะบอกอย่างนี้ก็ไม่ผิดซะทีเดียว เพราะปลาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก จากจำนวนชนิดของปลาทะเลไม่ต่ำกว่า 13,000 ชนิด พบว่าประมาณ 4,000 ชนิดอาศัยอยู่ตามแนวปะการังหรือแหล่งที่อยู่บริเวณชายฝั่ง สำหรับประเทศไทยนั้น พบปลาในแนวปะการังไม่ต่ำกว่า 870 ชนิด
โดยทั่วไปปลามีบทบาทหลักในแนวปะการัง คือ เป็นผู้ควบคุมประชากรสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในแนวปะการัง ทั้งพืช สัตว์ รวมถึงปลาด้วยกัน ให้อยู่ในภาวะที่สมดุล ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของแนวปะการัง โดยปลากินพืช (Herbivorous fishes) เช่น ปลานกแก้ว (Parrotfish) ปลาขี้ตังเบ็ด (Surgeonfish) ปลาสลิดหิน (Damselfish) จะมีหน้าที่ในการควบคุมประชากรสาหร่ายในแนวปะการังไม่ให้มีมากเกินไป ทำให้ตัวอ่อนปะการังมีพื้นที่ว่างที่จะลงเกาะ และเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งจะทำให้ปะการังมีมากขึ้น และมีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร (Carnivorous fishes) ก็จะควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็กไม่ให้มีมากจนเกินความสามารถในการรองรับของแนวปะการัง และสุดท้ายปลาที่กินปลาด้วยกันเองเป็นอาหาร (Piscivorous fishes) ก็จะเป็นผู้ควบคุมประชากรปลาด้วยกันโดยจะเลือกกินเหยื่อที่มีลักษณะอ่อนแอ ทำให้ประชากรที่เหลืออยู่เป็นประชากรที่แข็งแรงและสามารถสืบทอดเผ่า พันธุ์ต่อไปได้
การที่ปลามีความหลากหลายของพฤติกรรมการดำรงชีวิตทำให้ปลาเป็นผู้ ถ่ายทอดพลังงานระหว่างระบบนิเวศแนวปะการังกับระบบนิเวศอื่นๆ ที่ปลาอพยพไปอาศัยอยู่อีกด้วย สำหรับมนุษย์แล้วปลาในแนวปะการังเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า โดยเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการประมง และในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันแนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่กำลังเป็นที่สนใจ ในฐานะทรัพยากรการท่องเที่ยวและห้องเรียนธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ ปลาหลายชนิดยังสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของแนวปะการังหรือคุณภาพน้ำบริเวณนั้นได้ เช่น ปลาในกลุ่มปลาผีเสื้อ ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง และปลานกแก้ว ซึ่งปลาเหล่านี้หลายชนิดกินโพลิปปะการังเป็นอาหาร จึงทำให้ปลากลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีปะการังสมบูรณ์ ดังนั้นการแพร่กระจายและความชุกชุมของปลากลุ่มนี้จึงสัมพันธ์กับการแพร่กระจาย และความสมบูรณ์ของแนวปะการัง ซึ่งรวมไปถึงคุณภาพน้ำ เพราะมีรายงานว่าปลากลุ่มนี้ บางชนิดจะอาศัยอยู่ได้เฉพาะบริเวณที่มีน้ำใส และสะอาดเท่านั้น หากแนวปะการังนั้นได้รับผลกระทบจากมลภาวะ หรือมีสภาพเสื่อมโทรมลง ปลาในกลุ่มนี้ก็จะเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ โดยอาจจะส่งผลต่อการเติบโต การเพิ่มอัตราการตาย หรืออพยพย้ายถิ่นไปยังบริเวณอื่น ดังนั้น บริเวณที่มี ความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของแนวปะการัง จึงเป็นบริเวณที่พบปลากลุ่มนี้ได้หลากหลายชนิด ในทางตรงกันข้ามบริเวณที่มีสภาพแนวปะการังเสื่อมโทรม และมีความหลากหลายของแนวปะการังน้อย ก็จะพบปลาเหล่านี้เพียงไม่กี่ชนิด และพบจำนวนน้อย
จากการศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพและความหลากหลายของปลาในแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสิมิลันจังหวัดพังงา โดยวิธี Belt transects พบปลาทั้งหมด 41 ครอบครัว รวมทั้งสิ้น 255 ชนิด โดยเป็นปลาที่พบเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน (Endemic species) จำนวน 5 ชนิดได้แก่ ปลาขี้ตังเบ็ด (Acanthurus tennenti) ปลากะรัง (Cephalopholis urodeta) ปลานกขุนทอง (Pseudojuloides kaleidos, Paracheilinus mccoskeri และ Hologymnosus doliatus) และพบปลาที่เป็นรายงานการพบครั้งแรก (New record) 1 ชนิด ได้แก่ ปลานกขุนทอง (Halichoeres bicolor) ซึ่งปลาที่พบส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นกลุ่มที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous) และ กลุ่มที่กินสัตว์ (Carnivorous) เป็นหลัก
ภาพที่ 1 ปลาที่พบเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน
ภาพที่ 2 ปลาที่เป็นรายงานการพบครั้งแรก (Halichoeres bicolor)
เมื่อทำการเปรียบเทียบความหลากหลายและสถานภาพของปลาที่พบกับสถานภาพของปะการังในแต่ละบริเวณ พบว่า ความหลากหลายและสถานภาพของปลาในแนวปะการังมีความสัมพันธ์กับสถานภาพแนวปะการังในแต่ละจุดศึกษา โดยบริเวณที่พบแนวปะการังอุดมสมบูรณ์ก็จะพบปลาได้หลากหลายชนิด และพบได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปลาที่พบได้บ่อย และพบเป็นจำนวนมากบริเวณหมู่เกาะสิมิลันจะเป็นปลากลุ่มปลานกขุนทอง ปลาสลิดหิน ปลาผีเสื้อ ปลาขี้ตังเบ็ด และ ปลากะรัง ตามลำดับ
ภาพที่ 3 จำนวนชนิดปลาที่พบในแต่ละบริเวณ
ภาพที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างร้อยละการปกคลุมของปะการังและจำนวนชนิดของปลา
|