การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการผลิตอุตสาหกรรมยางพาราไทย
Research for development of rubber industrial production in Thailand

การผลิตกล้ายางพาราคุณภาพดีมีมาตรฐาน
โดย สุดประสงค์ สุวรรณเลิศ และคณะ

          ในพ.ศ. 2554-2555 รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการผลิตยางพาราในพื้นที่ใหม่ในประเทศประมาณ 1,600,000 ไร่ ซึ่งต้องใช้ยางชำถุงจำนวน 64 ล้านต้น แต่ปัญหาที่พบในการการปลูกยางคือ การขาดกล้าพันธุ์ยาง และ เกษตรกรมักจะได้รับ ต้นกล้ายางที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน พันธุ์ยางไม่ถูกต้องตามสายพันธุ์  , กิ่งตาพันธุ์ไม่ได้มาตรฐาน  (ไม่ได้นำกิ่งตาพันธุ์ จากแปลงรับรองพันธุ์มาติดตา แต่นำกิ่งตาสอยหรือกิ่งตาลานจากต้นที่ให้ผลผลิตน้ำยางแล้วมาติดตา ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้น ยางพร้อมกรีดจะให้เปอร์เซ็นต์น้ำยางต่ำกว่ามาตรฐาน 30-40 เปอร์เซ็นต์) จึงส่งผลให้ต้นกล้ายางพารามีอัตราการตายสูงเมื่อ ปลูกลงในแปลงและมีอัตราการเจริญเติบโตช้า ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในระยะยาวในเรื่องผลผลิตน้ำยางที่น้ำยาง เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าต้นกล้าที่มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการผลิตยางพาราทั่วประเทศ  สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากรจึงได้ จัดทำโครงการการผลิตกล้ายางพาราคุณภาพดีเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรตั้งแต่ปี 2548 - ปัจจุบัน  โดยจัดเป็นทำโครงการพัฒนาวิชาการ การผลิตต้นพันธุ์ยางพาราคุณภาพดีให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่าปีละ  150,000 ต้น ซึ่งทุกขั้นตอนของการทำงานจะควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน  ทั้งนี้ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร จะ ดำเนินการผลิตกล้ายางพาราที่ได้มาตรฐานเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง  โดยมีเป้าหมายการผลิตกล้ายางชำถุง และยางตาเขียวไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 ต้น ทั้งนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรผู้สนใจในการผลิตกล้ายางคุณภาพดี อีกด้วย

       การศึกษากระบวนการสร้าง สลาย และสมดุลสารประกอบคาร์บอนของยางพารา
โดย รศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ และคณะ

ยางธรรมชาติเป็นสารประกอบในกลุ่มพอลิเมอร์ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหน่วยย่อยชนิดเดียวที่ซ้ำ ๆ กัน เป็นจำนวนมาก ทุกส่วนของต้นยางสามารถผลิตน้ำยางได้ แต่มีเพียงน้ำยางจากส่วนเปลือกของต้นเท่านั้นที่สามารถ นำมาใช้ ประโยชน์ได้  โดยท่อน้ำ ยางจะเป็นบริเวณที่ทำหน้าที่สังเคราะห์ยาง กระบวนการสร้างน้ำยางนั้นเริ่มจาก น้ำตาลที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงจะถูกนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างอนุภาคยาง มีปัจจัยหลายประการ ที่ควบคุมเมตาบอลิซึมของกระบวนการสร้างน้ำยาง เช่น ระดับ ปริมาณน้ำตาลซูโครส เมตาบอลิซึมในกระบวนการ เปลี่ยนน้ำตาลเป็นอนุภาคยาง และพลังงานที่นำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์น้ำยางประสิทธิภาพในการสร้างน้ำ ยาง จึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาล พลังงาน น้ำ และแร่ธาตุในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งนี้ องค์ประกอบส่วนใหญ่ของน้ำยางประกอบด้วย ไอโซพรีน (Isoprene) น้ำ โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต (Eng and Tanaka, 1993) ที่มีสัดส่วนขององค์ประกอบแต่ละชนิดแปรปรวนไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุ์ยาง อายุยาง ฤดูกาลกรีดยาง ฯลฯ ซึ่งองค์ประกอบทาง ชีวเคมีของน้ำยางที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะส่งผลต่อต้นทุนการสร้างน้ำยางและปริมาณผลผลิตที่ได้ งานทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะประเมินต้นทุนของกลูโคสที่ใช้ในการสร้างน้ำยางด้วยการวิธีวิเคราะห์ธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ของชีวมวล (Elemental  analysis) ตลอดฤดูกาลกรีด
เมื่อทำการวิเคราะห์ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของชีวมวล (Elemental  analysis) ในน้ำยาง 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ PB235, RRIM600 และ GT1 พบว่าปริมาณธาตุที่มีความเข้มข้นสูงสุดไปหาน้อยสุดโดยทั้ง 3 พันธุ์มีลักษณะที่เหมือนกัน คือ ธาตุคาร์บอนมีสัดส่วนมากที่สุด   รองลงมา ได้แก่ ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และ ซัลเฟอร์ ตามลำดับ ซึ่งผลของการวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุของเนื้อยางยังไม่ได้วิเคราะห์ หาปริมาณออกซิเจน แต่จากการวิเคราะห์ธาตุทั้ง 4 ตัวในขั้นต้นแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเนื้อยางประกอบด้วย คาร์บอนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และธาตุทั้ง 4 ตัวเมื่อรวมกันคิดเป็นองค์ประกอบมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อยาง

การศึกษาคุณสมบัติทางชีวเคมีและกายภาพของยางธรรมชาติ
โดย ดร.ศิริลักษณ์ เลี้ยงประยูร, รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต และ คณะ

               ยางพารา (Hevea brasiliensis) นับเป็นพืชที่เป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติเพื่อการค้าขนาดใหญ่แม้ว่าในธรรมชาติจะมีพืชมากกว่า 2000 สายพันธุ์ที่ผลิตน้ำยางได้ ปัจจุบันประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับที่ 1 ของโลก โดยในปี 2552 ประเทศไทยผลิตยางธรรมชาติเป็นปริมาณ 3.1 ล้านตัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก เนื่องจากยางธรรมชาติที่ผลิตจากน้ำยางพารา Hevea brasiliensis มีสมบัติทางกลที่ดีกว่ายางสังเคราะห์ เช่น ความแข็งแรง (high green strength) การเกิดความร้อนสะสมต่ำ (low internal heat build-up) และสมบัติในการคืนตัวสูง (high resilience) ทำให้ยางธรรมชาติมีความสำคัญในอุตสาหกรรมหลายชนิดซึ่งไม่สามารถใช้ยางสังเคราะห์ทดแทนได้โดยเฉพาะการผลิตล้อยางรถยนต์ขนาดใหญ่และเครื่องบิน อย่างไรก็ตามแม้ว่ายางธรรมชาติจะมีสมบัติทางกายภาพบางประการเด่นกว่ายางสังเคราะห์ แต่ขณะเดียวกันก็ขาดความคงตัวด้านคุณภาพเนื่องจากลักษณะทางธรรมชาติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในระหว่างกระบวนการผลิต
สถานภาพการผลิตยางธรรมชาติของประเทศไทยในปี 2552 ประเทศไทยผลิตยางธรรมชาติปริมาณ 3.1 ล้านตัน โดยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ได้ หรือประมาณ 2.7 ล้านตัน ส่งออกในรูปของยางประเภทต่าง ๆ ได้แก่ น้ำยางข้น (concentrated latex), ยางแท่ง (block rubber) และ ยางแผ่น (rubber sheet) ซึ่งจัดเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในกระบวนการอุตสาหกรรม ยางพารามีลักษณะทางโครงสร้างทางเคมี และองค์ประกอบทางชีวเคมีที่แตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ สภาวะทางการเกษตร และกระบวนการแปรรูปเบื้องต้น ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างทางเคมีและองค์ประกอบทางชีวเคมี ของยางพาราสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ RRIM600, PB235, BPM24 และ GT1 พบว่ามีโครงสร้างระดับ macrostrucuture และ microstructure ที่แตกต่างกัน โดยสายพันธุ์ PB235 พบว่ามีโครงสร้างของสายพอลิเมอร์แบบ unimodal distribution ในขณะที่สายพันธุ์อื่นมีโครงสร้างแบบ bimodal distribution โดยโครงสร้างแบบ unimodal ซึ่งประกอบด้วยสายพอลิเมอร์ที่มีความยาวมากกว่า bimodal ส่งผลให้พันธุ์ PB235 มีสมบัติทางกายภาพที่ดีกว่าสายพันธุ์อื่น และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบไขมันพบว่าพันธุ์ PB235 มีปริมาณของกรดไขมัน furan fatty acids (FuFA) ซึ่งมีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติอยู่มากกว่าพันธุ์อื่นที่ศึกษาเปรียบเทียบเช่นกัน ซึ่งจากงานวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรมีการศึกษาควบคู่ไปกับการปรับปรุงพันธุ์นอกเหนือไปจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบขั้นต้นประเภทต่าง ๆ จากยางพารา นอกจากนี้การศึกษาองค์ประกอบทางชีวเคมียังสามารถใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการศึกษาถึงการนำสารชีวโมเลกุลอื่นจากยางพารามาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นต่อไป ซึ่งแนวทางในการศึกษาต่อไปคือการวิเคราะห์คุณสมบัติทางชีวเคมีและกายภาพของยางธรรมชาติพันธุ์ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกในประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตยางธรรมชาติของประเทศไทยต่อไป

เตาอบไม้ยางพาราสำหรับ SMEs
โดย รศ. ทรงกลด  จารุสมบัติ

               ในปัจจุบันประเทศไทย มีการใช้ไม้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมก่อสร้าง และใช้เป็นวัสดุสำหรับตกแต่งมากมาย  ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากไม้ก็คือ “ความชื้น”  อุตสาหกรรมไม้ในระดับรายย่อยหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) พบว่า ไม่มีการใช้เตาอบไม้ในการปรับปรุงคุณภาพไม้ก่อนการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งไม้ที่ไม่ผ่านการอบจะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้ มีปัญหาการบิด งอ ห่อ โก่ง สีล่อน ไม่ติดกาว และอื่นๆ อีกมากมาย
การที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขาดแคลนการใช้งานเตาอบไม้เนื่องจากปัญหาขาดความเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้งาน  ขาดเงินทุนที่จะลงทุนก่อสร้างเตาอบไม้ เหตุนี้จึงทำให้คณะผู้วิจัย ทำให้คณะผู้วิจัยมีแนวความคิดในการประดิษฐ์ทำเตาอบไม้ที่มีประสิทธิภาพสูง และราคาประหยัด โดยหลักการทำงานของเตาอบจะเลือกใช้ระบบการลดความชื้นของไม้ โดยใช้อุณหภูมิในการอบที่ไม่สูงมากนัก แต่ใช้เทคนิคการลดค่าความชื้นสัมพัทธ์ในเตาอบ เพื่อทำให้ไม้แห้งได้โดยเกิดตำหนิจากการอบน้อยที่สุด  ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เปรียบเทียบกับการอบไม้ในปัจจุบัน พบว่าไม้ที่ได้มีคุณภาพ  สามารถลดการใช้พลังงาน   ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อสามารถลดต้นทุนในการลงทุนก่อสร้างเตาอบไม้  ทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการใช้ประโยชน์จากไม้ยางพารา รวมทั้งยังเป็นถึงการลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

การพัฒนาการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ขึ้นรูปผลิตพื้นรองเท้ายาง
โดย ผศ. ดร.ศุภสิทธิ์  รอดขวัญ และคณะ

                ในปัจจุบันรูปทรงรองเท้ามีหลากหลายแบบ  ความต้องการใช้งานของรองเท้าก็มีความแตกต่างกันไปเพื่อให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่ รองเท้าที่สวมใส่ต้องกระชับกับเท้าของผู้สวมใส่ ทำหน้ายึดเกาะกับพื้นผิวทั่วไปไม่เกิดการลื่นไถล ป้องกันอันตรายของมีคมที่เท้าจะไปสัมผัส การออกแบบรูปทรงรองเท้าและลวดลายของพื้นรองเท้าแสดงดังภาพที่ 1 และ 2 จึงมีความสำคัญมาก หากแต่องค์ความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด อาศัยเพียงประสบการณ์และการลองผิดลองถูก (Trial and Error) ทำให้แม่พิมพ์ที่ผลิตได้ยังขาดประสิทธิภาพเกิดการสูญเสียต้นทุนมากทั้งในด้านเวลาการทดสอบแม่พิมพ์ก่อนผลิตที่มีการทดลองหลายครั้ง รวมทั้งการเสียต้นทุนด้านวัสดุ   ดังนั้นหากมีการปรับปรุงรูปทรงรองเท้าและลวดลายของพื้นรองเท้าให้มีความทันสมัย สามารถผลิตแม่พิมพ์รองเท้าและลวดลายยางพื้นรองเท้าได้เร็วขึ้นก็จะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางในอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าได้มีเพิ่มมากขึ้น เพราะยังมีความต้องการจากภายในประเทศและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก
จากเหตุผลดังกล่าวทางคณะผู้วิจัยจึงเห็นว่าการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ/ผลิต/วิศวกรรม (CAD/CAM/CAE) ในการออกแบบที่เหมาะสมสำหรับการอัดขึ้นรูป เข้ามาช่วยในการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้ลดกระบวนการทดสอบแม่พิมพ์ก่อนผลิตจริง โดยสามารถลดต้นทุนที่เกิดจากยางที่สูญเสียได้ รวมถึงเป็นการสร้างองค์ความรู้ในด้านการออกแบบ และผลิตแม่พิมพ์อัดขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางในประเทศสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาประเทศต่อไป

การวิเคราะห์อนุกรมเวลาราคายางพาราของประเทศไทย
โดย ผศ.ดร.ปิติ กันตังกุล และ ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย    

                 ยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งออก ประเภทของยางพาราที่มีการส่งออกแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลักคือ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น ปัญหา ที่สำคัญของสินค้ายางพาราคือความผันผวนของราคา จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาถึงการเคลื่อนไหวของราคายาเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการผลิตและการตลาดของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดยางพาราในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย คือ (1) เพื่อประมวลสถานการณ์ราคายางพารา ณ ระดับฟาร์ม ตลาดส่งออก และตลาดซื้อขายล่วงหน้า และ (2) เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการเคลื่อนไหวราคา
การวิเคราะห์อนุกรมเวลาของราคายางพาราเป็นการศึกษาถึงลักษณะความเคลื่อนไหวของข้อมูลราคาในช่วงปี 2541-52 เป็นข้อมูลอนุกรมราคารายเดือน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวของอนุกรมเวลาของราคา จะถูกกระทบด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงราคาตามแนวโน้ม วัฏจักร ฤดูกาล และการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ผิดปกติ ในการศึกษานี้ใช้วิธีการแยกส่วนประกอบ (Decomposition Method) วิเคราะห์ในในตลาด 4 ระดับ คือ ราคาตลาดท้องถิ่น ราคาตลาดกลาง ราคาตลาดส่งออก (F.O.B.) ราคาตลาดต่างประเทศ (ตลาดล่วงหน้า) ผลการศึกษาราคายางแผ่นดิบ ในตลาดกลางที่เป็นตลาดเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรกับการส่งออก สรุปได้ดังนี้
การศึกษาความเคลื่อนไหวตามฤดูกาลของราคายางแผ่นดิบตลาดกลางยางพารา ปรากฎว่า ราคายางแผ่นดิบตลาดกลางยางพารา มีดัชนีราคาตามฤดูกาลต่ำในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมี ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดมาก ราคายางพาราจึงค่อนข้างต่ำกว่าช่วงอื่นๆ โดยมีดัชนีราคาตามฤดูกาลต่ำที่สุดในเดือน ธันวาคม เท่ากับ 90.16 จากนั้นดัชนีราคาจะเคลื่อนไหวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงช่วงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ดัชนีราคาตามฤดูกาลยางพารามีค่าสูง โดยมีดัชนีราคาตามฤดูกาลสูงที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคมเนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย
การศึกษาความเคลื่อนไหวของราคาที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฎจักรโดยวิธีการปรับค่าเพื่อขจัดความเคลื่อนไหวตามฤดูกาลและค่าแนวโน้ม จากนั้นใช้วิธีเฉลี่ยเคลื่อนที่เพื่อที่จะขจัดความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติออกไป  พบว่าความเคลื่อนไหวตามวัฏจักรของราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางเกิดในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2549 คือมีดัชนีวัฎจักรลดลง 4 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2544 เพิ่มขึ้น 5 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2545 – 2549 คิดเป็นวัฎจักรละ 9 ปี โดยมีดัชนีวัฎจักรสูงสุด ในปี 2541 ส่วนค่าดัชนีต่ำสุด ในปี 2544
การวิเคราะห์แนวโน้มของราคายางแผ่นดิบ 3 ณ ตลาดกลาง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของเวลา โดยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด ปรากฏผลการวิเคราะห์ดังสมการที่ (1) แสดงความสัมพันธ์ราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลาง () และเวลาอยู่ในรูปสมการกำลังสองน้อยที่สุด (OLS) โดยมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป 1 เดือน ราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพารา หาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 0.4603 บาทต่อเดือน
รูปแบบความเคลื่อนไหวของราคายางพาราที่ได้จากการวิเคราะห์นี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการผลิตและการตลาดของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดยางพาราในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคายางพาราในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปี นี้ จึงควรจะต้องศึกษาความเคลื่อนไหวของราคายางพาราโดยใช้ข้อมูลใหม่ทุกปี

 

 


ภาพที่ 1  การผลิตกล้ายางคุณภาพ


 
ภาพที่ 2  เครื่องวิเคราะห์ธาตุอาหาร
  97474-11912-6


ภาพที่ 3  เตาอบไม้ยางพารา

 

ภาพที่ 4  ลวดลายของพื้นยางรองเท้า

 




คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.พูนพิภพ  เกษมทรัพย์  รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต  รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ  ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ  ผศ.ดร.ปิติ กันตังกุล  รศ.ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ 
นายสุดประสงค์ สุวรรณเลิศ  และดร.ศิริลักษณ์  เลี้ยงประยูร      
ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านยางพารา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9427623