ผึ้ง (เพิ่ง) รู้ต้องพึ่งกัน
Bees and Flowers Relation
             

         “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าฉันใด ผึ้งและสบู่ดำก็ต้องพึ่งกันฉันนั้น”  คำกล่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ เรามาพิสูจน์ร่วมกันว่าผึ้งและสบู่ดำจะพึ่งพาซึ่งกันและกันได้อย่างไร

          จากการทำงานวิจัย ตลอดระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2551-2553) ทั้งการสำรวจแมลงผสมเกสรดอกสบู่ดำในพื้นที่ตัวอย่างจำนวน 20 จังหวัดทั่วประเทศ และการทดลองเกี่ยวกับการใช้แมลงกลุ่มผึ้งช่วยผสมเกสรดอกสบู่ดำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น พบว่าทั้งแมลงและสบู่ดำต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน...อย่างไรนั้น……….?

          ก่อนอื่นเราลองมองในมุมของแมลงมีความต้องการสบู่ดำอย่างไร? จากผลการสำรวจความหลาก-  หลายของแมลงผสมเกสรสบู่ดำในประเทศไทยพบแมลงผสมเกสรจำนวนมากถึง 310 ชนิด ช่วงฤดูฝนในพื้นที่สำรวจไม่มีพืชชนิดอื่นเลยที่ให้ดอกเพื่อเป็นอาหารแก่แมลง มีเพียงสบู่ดำเท่านั้นที่ออกดอกเป็นจำนวนมาก แมลงชนิดต่างๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแมลงผสมเกสรจึงมีชีวิตอยู่ได้ด้วยน้ำหวานและเกสรจากดอกสบู่ดำ แมลงผสมเกสรเหล่านี้จัดอยู่ใน 8 อันดับ (orders) 70 วงศ์ (families) 138 สกุล (genera) ซึ่งแมลงในอันดับ ผึ้ง ต่อ แตน (Hymenoptera) พบมากที่สุด และกลุ่มผึ้ง (Bees) ใน Superfamily Apoidea มีความสำคัญในการผสมเกสรสบู่ดำเป็นอย่างยิ่ง

Jatropha Curcas Flower

          ผึ้งใน Superfamily Apoidea ที่ช่วยผสมเกสรสบู่ดำพบจำนวน 60 ชนิด ลักษณะสำคัญคือ มีอวัยวะที่ช่วยในการเก็บละอองเรณู (pollen) และน้ำหวาน (nectar) แล้วอวัยวะของผึ้งที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?....... ในการเก็บละอองเรณู ผึ้งมีขนที่เป็นแบบขนนก (plumose) เพื่อช่วยให้ละอองเรณูติดตามลำตัวเป็นจำนวนมาก จากนั้นผึ้งก็จะปัดละอองเรณูตามลำตัว ด้วยขาคู่หน้าและคู่กลาง ไปรวมกันที่ขาคู่หลัง ซึ่งมีลักษณะของขนยาวเป็นพิเศษและรวมกันคล้ายกับตะกร้าเพื่อใส่ละอองเรณู เรียกขาคู่หลังของผึ้งที่มีลักษณะนี้ว่า “pollen baskets” ผึ้งบางชนิดไม่มี pollen baskets แต่มีขนลักษณะเป็นแถวเรียงกันหนาอยู่บริเวณใต้ท้องเรียกว่า “scopa hairs” สามารถใช้เก็บละอองเรณูได้เช่นเดียวกัน ส่วนการเก็บน้ำหวานผึ้งจะใช้อวัยวะที่มีลักษณะคล้ายหลอดดูดน้ำเรียกกันว่า “proboscis” หรือจะเรียกว่างวงก็ไม่เชิงนักเพราะมันคือปากของผึ้งที่ดัดแปลงให้มีลักษณะคล้ายหลอดดูดน้ำหวานได้โดยการประกบรวมกันของชิ้นส่วนต่างๆ ของปาก และมีส่วนที่เรียกว่า เขี้ยว (mandibles) เอาไว้สำหรับกัดหรือทำหน้าที่อื่นๆ เมื่อดูดน้ำหวานได้จากดอกแต่ละดอกแล้วจะนำไปรวมกันไว้ในกระเพาะเรียกว่า “honey sac” เมื่อได้ปริมาณน้ำหวานที่มากพอ ผึ้งจึงบินนำน้ำหวานไปเก็บสะสมที่รวงรังหรือบางชนิดก็นำไปผสมละอองเรณูปั้นเป็นก้อนไว้ในรังสำหรับเลี้ยงลูก ผึ้งเป็นมังสวิรัติ (vegetarian) ดำรงชีวิตด้วยละอองเรณู น้ำหวาน และน้ำเท่านั้นไม่กินเนื้อสัตว์อื่น ผึ้งจึงเป็นแมลงผสมเกสรที่ทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ นั่นหมายความว่าพืชอาหารของมันจะได้รับการผสมเกสรเป็นอย่างดี ถ้วนถี่ ไม่ขาดตกบกพร่อง และดอกทุกดอกได้รับการแวะเวียนจากผึ้งอย่างแน่นอน หากดอกเหล่านั้นไม่ซุกอยู่ในพุ่มที่แน่นหนาสุดความสามารถที่ผึ้งจะเข้าถึงได้

          เมื่อกลับมามองในมุมของสบู่ดำบ้างว่าขาดผึ้งหรือแมลงผสมเกสรได้หรือไม่.. สบู่ดำขาดผึ้งและแมลงไม่ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากสบู่ดำเป็นพืชที่มีดอกแยกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละดอก ขนาดของละอองเรณูมีขนาดใหญ่ และที่สำคัญละอองเรณูมียางเหนียวยึดติดอยู่ ลมพัดแรงอย่างไรก็ไม่สามารถปลิวไปได้ ดังนั้นหากไม่มีแมลงเป็นพาหะนำพาไป สบู่ดำไม่มีวันได้รับการผสมแล้วเกิดผลขึ้นได้ ถ้าหากสบู่ดำไม่มีผลแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?......

กระบวนการผลิตน้ำมันจากสบู่ดำ

          ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าสบู่ดำเป็นพืชพลังงานทดแทน เมล็ดของสบู่ดำสามารถนำมาหีบเป็นน้ำมันได้อย่างง่ายดาย แล้วสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆ นอกจากการรอให้น้ำมันที่ได้ตกตะกอนเสียก่อนเท่านั้นเอง หากสบู่ดำไม่ติดผลเพราะไม่มีแมลงช่วยผสมเกสร ความหวังที่จะใช้น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำทดแทนน้ำมันดีเซลในอนาคตที่ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำมันแพงหรือขาดแคลนน้ำมันจากฟอสซิลก็ต้องเป็นอันล้มเหลวไป ถึงแม้สบู่ดำจะสามารถทดแทนได้ในส่วนน้อยเทียบไม่ได้กับปาล์มน้ำมัน แต่ก็เป็นพลังงานทดแทนอีกทางเลือกหนึ่ง “การมีทางเลือกย่อมดีกว่าไม่มีทางเลือกเสมอ

ความหลากหลายของแมลงผสมเกสร

 

          ในที่สุดเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งผึ้งและสบู่ดำต้องอยู่คู่กัน แม้จะไม่ใช่ในรูปแบบที่ขาดกันเสียไม่ได้ แต่การพึ่งพากันนั้นส่งผลดีต่อมนุษย์ในทางอ้อม จากการสำรวจบ่งบอกว่าที่ใดมีแมลง ดอกสบู่ดำที่นั่นก็ได้รับการผสมเกสร พื้นที่ปลูกสบู่ดำในจังหวัดลพบุรีเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าแมลงผสมเกสรมีความสำคัญต่อการผสมของดอกสบู่ดำ เพราะจากการสำรวจเบื้องต้น (พ.ศ. 2550)ไม่พบแมลงผสมเกสรเลย ดอกสบู่ดำไม่ได้รับการผสมแม้ในสภาพพื้นที่จะมีลมพัดแรงมากก็ตาม จากการศึกษาการกระจายตัวของผึ้ง รวมทั้งการพิจารณาพฤติกรรมและการอยู่อาศัย พบว่าผึ้งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผสมเกสรสบู่ดำได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องเป็นผึ้งที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเป็นชนิดที่กระจายตัวในหลายพื้นที่ ได้แก่ ผึ้งมิ้ม (Apis florea), ผึ้งโพรง (A. cerana indica), ผึ้งพันธุ์ (A. mellifera ligustica) และชันโรง (Trigona pagdeni) ผึ้งทั้ง 4 ชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ชันโรงคือ ผึ้งที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาเป็นแมลงช่วยผสมเกสรในแปลงสบู่ดำ เพราะมีประสิทธิภาพในการผสมเกสรสูง สามารถเลี้ยงได้ง่าย และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ยังไม่เป็นอันตรายต่อผู้แพ้พิษผึ้ง เพราะชันโรงเป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ไม่มีพิษ ป้องกันตัวเองด้วยการกัด ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ถูกกัดมีอาการคันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะชันโรงชนิดนี้ไม่มีต่อมพิษที่ปาก การเลี้ยงผึ้งเพื่อช่วยผสมเกสรดอกสบู่ดำมีผลทำให้ได้ผลผลิตสบู่ดำที่ดีขึ้นประมาณ 10-15% สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่นได้ และการเพิ่มขยายปริมาณผึ้งในธรรมชาติยิ่งเป็นการอนุรักษ์แมลงผสมเกสรให้ดำรงอยู่ได้และเป็นประโยชน์แก่พืชชนิดอื่นๆ ในระบบนิเวศต่อไปด้วย

แมลงผสมเกสรหลักที่มีประสิทธิภาพ ผึ้ง 4 ชนิด
ลักษณะของผึ้งSuperfamily Apoidea
ลักษณะรังของผึ้ง 4 ชนิด

 

ภาพ โดย นายบัณฑูร พานแก้ว

คณะผู้วิจัย
น.ส.ชามา อินซอน และ รศ.ดร.สาวิตรี มาไลยพันธุ์
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 085-990-8996