การผลิตบีทีสายพันธุ์ไทยด้วยถังผลิตขยายอย่างง่าย
Production of Thai Strain of BT Using Simplified Tank

                  บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) หรือบีทีเป็นแบคทีเรียที่นำมาผลิตขยายเป็นชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูกลุ่มต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตอื่นและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บีทีมีคุณสมบัติที่สำคัญคือสามารถสร้างผลึกโปรตีนซึ่งมักมีฤทธิ์ในการฆ่าตัวอ่อนของแมลง บีทีต่างสายพันธุ์กันจะมีฤทธิ์ทำลายแมลงได้แตกต่างกัน เช่น Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki และ aizawai มีฤทธิ์ในการฆ่าหนอนผีเสื้อชนิดต่างๆ เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนใยผัก เป็นต้น ส่วน Bacillus thuringiensis subsp. tenebrionis มีฤทธิ์ในการฆ่าหนอนด้วง เช่นด้วงหมัดผัก ส่วน Bacillus thuringiensis subsp. israelensis  มีฤทธิ์ในการฆ่าตัวลูกน้ำยุง เป็นต้น

                สายพันธุ์ที่ผู้วิจัยเลือกได้คือสายพันธุ์ JC590 มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าหนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเป็นกลุ่มหนอนผีเสื้อที่ดื้อต่อสารเคมีแล้วทั้งสิ้น คณะผู้วิจัยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของบีทีสายพันธุ์ไทย JC590 นี้ทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการ เรือนปลูกทดลอง และในสภาพแปลงปลูกทดลองของเกษตรกร พร้อมทั้งศึกษาคุณสมบัติทางชีวภาพพบว่ายีนที่ควบคุมการสร้างผลึกโปรตีนที่มีฤทธิ์ฆ่าหนอนผีเสื้อชนิดดังกล่าวอยู่บนพลาสมิดและโครโมโซม เป็นการยืนยันว่าบีทีสายพันธุ์ไทย JC590 เป็นสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าหนอนผีเสื้อ ผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปน้ำเข้มข้น ในขณะเดียวกันเกษตรกรที่มีปัญหาแมลงศัตรูในกลุ่มหนอนผีเสื้อ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษให้ความสนใจและต้องการที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากบีทีสายพันธุ์ไทย JC590 ผู้วิจัยได้ทำการผลิตเชื้อสดออกมาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรปลูกผักและเกษตรกรในเมืองซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพมาก           

                ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องการนำจุลินทรีย์มาใช้ควบคุมศัตรูพืชทั้งโรคพืชและแมลงศัตรู รวมทั้งการผลิตปุ๋ยหมักต่างๆ โดยมีข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่าเกษตรกรสามารถที่จะนำจุลินทรีย์เหล่านี้ไปต่อเชื้อเอง แต่ในทางปฏิบัติทำได้ในบางกรณีเช่นการหมักปุ๋ย EM   การต่อเชื้อราบางชนิด โดยเกษตรกรต้องได้รับการฝึกอบรม และสามารถแยกแยะได้ในกรณีที่มีจุลินทรีย์ไม่พึงประสงค์ปนเปื้อนเข้ามา         ในกรณีของบีที เกษตรกรนิยมไปต่อเชื้อเอง แต่เนื่องจากบีทีกับ Bacillus cereus ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ มีความใกล้ชิดกันมาก จึงมีความเสี่ยงมากที่เกษตรกรจะไปต่อเชื้อบีทีใช้กันเอง โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการปนเปื้อนจากเชื้อที่ทำอาหารเป็นพิษและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการใช้ชีวภัณฑ์ต่างๆ ทั้งจากเกษตรกรและผู้บริโภค

               ด้วยเหตุนี้คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการประดิษฐ์ถังผลิตขยายบีทีอย่างง่าย เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายบีทีคุณภาพดีใช้ได้เองอย่างปลอดภัย ถังผลิตประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่หาได้ในประเทศไทย คือ ถังสแตนเลสหนา 1.5 มิลลิตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร มีความจุปริมาตรเท่ากับ 145 ลิตร ด้านบนมีฝาซีล ปิดสนิท มีช่องเปิด-ปิดสำหรับเติมอาหารเลี้ยงเชื้อ และเชื้อบีที มีช่องเก็บตัวอย่างและผลิตภัณฑ์ด้านล่างของถัง มีมอเตอร์ขนาด  1 แรงม้า 220 โวลต์ หมุนในอัตรา 200 - 800 รอบต่อนาที ติดกับใบกวนเพื่อใช้กวนสารอาหาร มีระบบทำความร้อนด้วยขดลวดที่สามารถทำความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ  มีท่อสำหรับให้อากาศที่ผ่านการกรองด้วยด้วยตัวกรองเชื้อขนาด 0.45 ไมครอน โดยปั๊มลมจะต้องสามารถปั้มอากาศเข้าสู่ถังได้ในช่วง 0.0 - 2.0 vvm มีท่อระบายอากาศ มีระบบวัดอุณหภูมิในถังโดยสามารถวัดได้ทั้งหน่วยองศาเซลเซียสและฟาเรนไฮต์ มีตู้ควบคุมไฟฟ้าสำหรับควบคุมระบบทำความร้อน ความเร็วมอเตอร์ และอุณหภูมิ แหล่งพลังงานในการทำงานของถังผลิตบีทีอย่างง่ายนี้จะใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อให้สะดวกต่อเกษตรกรในการนำไปใช้ประโยชน์ ถังผลิตขยายบีทีอย่างง่ายนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตบีทีที่มีราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการใช้เครื่องมือที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งผู้วิจัยได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ถังผลิตขยายบีทีอย่างง่าย ในนามของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หน่วยงาน กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจสามารถติดต่อกับผู้วิจัยหรือคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องต่อไป

7
3
1
2


4


3
5
6

คำอธิบายรายละเอียดของภาพ

ภาพที่ 1 ลักษณะของโคโลนีเชื้อบีทีที่เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ
ภาพที่  2 ลักษณะรูปร่างของสปอร์และ ผลึกโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนอนตาย
ภาพที่ 3 ถังผลิตขยายบีทีอย่างง่าย
ภาพที่ 4 ตู้ควบคุมระบบทำความร้อน ความเร็วมอเตอร์ และอุณหภูมิ
ภาพที่ 5 ผลิตภัณฑ์บีทีเกษตร
ภาพที่ 6 การฉีดพ่นบีทีที่ผลิตได้จากถังผลิตอย่างง่ายในแปลงปลูกคะน้าของเกษตรกรเพื่อ
ควบคุมหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนใยผัก





คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.จริยา จันทร์ไพแสง1  ผศ.ดร.สุทธิพันธุ์ แก้วสมพงษ์2
นายเอนก สุขเจริญ3 และนายประกาย เทพหาร1
1ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน