การฟื้นฟูประชากรแมลงทับบ้านขาแดงอย่างยั่งยืนบริเวณป่าเต็งรังสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
Sustainable Re-Population of Sternocera ruficornis (O. Coleoptera; F. Buprestidae)
at Sakaerat Dry Dipterocarp Forest, Nakonratchasima Province
             

          แมลงทับบ้านจัดเป็นแมลงสวยงามกลุ่มหนึ่ง เพราะเป็นแมลงที่มีลำตัวสีเขียวมรกตมันวาว ในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ แมลงทับบ้านขาแดง (Sternocera ruficornis) กับแมลงทับบ้านขาเขียว (Sternocera aequisignata) แมลงกลุ่มนี้แพร่กระจายแคบๆ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา พม่า เป็นต้น แมลงทับบ้านขาแดงส่วนใหญ่อาศัยในป่าเต็งรัง ส่วนแมลงทับบ้านขาเขียวส่วนมากอาศัยเขตเมืองหรือในป่าเช่น ริมถนนหรือป่าละเมาะที่มีพืชอาหาร โดยทั่วไปชาวบ้านจะนำปีกมาประดับตกแต่งเครื่องจักรสานหรือทำต่างหู พวงกุญแจ เป็นต้น จากความสวยงามของแมลงชนิดนี้ทำให้เป็นที่สนพระหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่ทรงมีพระราชดำริให้นำปีกและส่วนต่างๆของแมลงทับบ้านมาตกแต่งเป็นเครื่องประดับมากมายหลายชนิด ขณะเดียวกันทรงเกรงว่า แมลงทับบ้านอาจสูญพันธุ์จึงให้ทำการศึกษาควบคู่เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์แมลงทับบ้านด้วย

          ปัจจุบันประชากรแมลงทับบ้านลดลงอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากต่อการหมดไปในอนาคต จึงต้องรีบเร่งในการหาแนวทางเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านในสภาพธรรมชาติให้เร็วที่สุด ตัวอย่างเช่น บริเวณป่าเต็งรังที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในอดีตจะพบประชากรแมลงทับบ้านขาแดงเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่ามีประชากรแมลงทับบ้านขาแดงน้อยมากจนอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งที่พื้นที่แห่งนี้ไม่มีการถูกรบกวนใดๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการศึกษาในครั้งนี้เพื่อหาสาเหตุการลดลงและหาแนวทางการเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านขาแดงในพื้นที่นี้ต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถนำผลการศึกษาไปปรับใช้ในการเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านในพื้นที่อื่นๆได้อีกด้วย จึงทำให้ต้องมีการศึกษาในครั้งนี้ขึ้น

การศึกษาตัวหนอนแมลงทับบ้าน
แมลงทับบ้านขาแดง

วัตถุประสงค์

ต้องการศึกษาความหนาแน่นของตัวหนอนและตัวเต็มวัย ตลอดจนศึกษาปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการดำรงชีวิตแมลงทับบ้านขาแดง เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านขาแดงในป่าเต็งรังสะแกราช ตลอดจนสามารถสร้างเป็นสะแกราชโมเดลในการเพิ่มประชากรแมลงชนิดนี้

ผลการศึกษา

1. ข้อมูลพื้นฐานของแมลงทับบ้านขาแดง

1.1 ชีววิทยา
            
แมลงทับชนิดนี้มีชีพจักรค่อนข้างยาว 1 – 2 ปี ดังนี้ ไข่กลมรี สีเหลือง ฝังในดินลึก 1 – 2 ซม ระยะไข่ประมาณ 2 – 3 เดือน พบช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม
            ตัวหนอนสีเหลือง มีขนอ่อนยาวปกคลุม ไม่มีทั้งขาจริงและขาเทียม อาศัยใต้ดิน กัดกินรากพืชเป็นอาหาร กินอาหารช่วงแรกระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม หลังจากนั้นจะหยุดกินอาหารและสร้างปลอกดินหุ้มระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน ช่วงนี้อยู่ลึก 10 – 15 ซม ระยะตัวหนอนใช้เวลา 8 – 20  เดือน
           ดักแด้สีขาวนวล อยู่ในปลอกดินระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ระยะดักแด้ 2 – 3 เดือน การเกิดสีเขียวมรกตจะเกิดช่วงที่ยังอยู่ในปลอกดิน
           ตัวเต็มวัย จะออกช่วงที่ดินมีความสูง เพราะง่ายแก่การขุดขึ้นมาจากดิน มีอายุ 2 – 3 สัปดาห์ พบช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ตุลาคม จะออกกินอาหารและผสมพันธุ์ตามเรือนยอดไม้ช่วงมีแสงแดดและว่องไว ถ้าไม่มีแสงแดดจะหลบซ่อนตัว เมื่อมีการสั่นสะ เทือน จะทิ้งตัวลงพื้น แต่ถ้ามีแสงแดดจะบินทันที ตัวเมียวางไข่ตามพื้นใกล้พืชอาหารช่วงบ่าย วางไข่ได้ประมาณ 12 ฟองต่อตัว ซึ่งถือว่าน้อย

1.2 พืชอาหาร
            แมลงทับบ้านขาแดงมีการกินอาหารแตกต่างกันระหว่างระยะตัวหนอนกับตัวเต็มวัย ดังนี้ระยะตัวหนอนกัดกินเหง้าไผ่เพ็กหรือหญ้าเพ็กและไผ่โจดที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนตัวเต็มวัยจะกัดกินใบอ่อนถึงกลางแก่กลางอ่อนของพืชได้หลายชนิดที่สำคัญมากได้แก่ มะค่าแต้ พันซาดหรือซาด กางขี้มอด แดง พะยอม เต็ง รัง เป็นต้น

1.3 การแพร่กระจาย
          
แมลงทับบ้านขาแดงจะพบได้ในป่าเต็งรังที่มีหญ้าเพ็กและไผ่โจดเท่านั้น พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ป่าภูพาน จ. สกลนคร ป่าผาแต้ม จ. อุบลราชธานี และป่าสะแกราช จ. นครราชสีมา เป็นต้น

สภาพป่าเต็งรัง
ซากพืชที่สะสมจำนวนมาก

2. ข้อมูลเบื้องต้นของป่าเต็งรังสะแกราชในอดีต
          
เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้เด่นได้แก่ เต็ง รัง พะยอม แดง มะค่าแต้ ประดู่ เป็นต้น มีการป้องกันไฟป่าทุกปี ทำให้ปริมาณซากพืชสะสมเป็นจำนวนมากตามพื้นดิน ตามพื้นล่างมีหญ้าเพ็กขึ้นปกคลุมหนาแน่น เป็นป่าไม่ถูกรบกวน

3. ข้อมูลแมลงทับบ้านขาแดงในป่าสะแกราชในอดีต
          
จากการสังเกตแมลงทับบ้านขาแดงในช่วงตัวเต็มวัยพบว่า ตามเรือนยอดพืชอาหารจะพบเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 1 – 20 ตัวขึ้นไป โดยเฉพาะต้นมะค่าแต้ พันซาด และกางขี้มอด ขณะที่ตัวหนอนในดินจะขุดพบได้ง่ายและอยู่เป็นกลุ่มตามกอหญ้าเพ็ก ตลอดจนสามารถสังเกตได้จากการตายของต้นไผ่เพ็กที่มีอายุ 1 ปี ไม่มีการรบกวนจากชาวบ้านในการเก็บแมลงทับบ้านขาแดง

4. ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการปรากฏและการรอดตายของแมลงทับบ้านขาแดง
          
ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมด 4 ปัจจัยได้แก่ 1) แสงแดดเกี่ยวข้องในเรื่องการทำกิจกรรมต่างๆ 2) ปริมาณน้ำฝนเกี่ยวข้องในเรื่องการออกเป็นตัวเต็มวัยและการโผล่ขึ้นมาจากดินเร็วหรือช้า 3) ศัตรูธรรมชาติทั้งช่วงระยะไข่และตัวเต็มวัยเกี่ยวข้องในเรื่องการลดประชากรแมลงทับชนิดนี้ 4) ตัวขัดขวางการวางไข่ได้แก่ ปริมาณซากพืชเกี่ยวข้องทำให้แมลงทับชนิดนี้ไม่สามารถวางไข่ในดินได้

5. ข้อมูลแมลงทับบ้านขาแดงในป่าสะแกราชในปัจจุบัน
    5.1. ความหนาแน่นของตัวหนอนแมลงทับบ้านขาแดง

          จากการสำรวจโดยการขุดรวมพื้นที่ทั้งหมด 100 ตารางเมตร โดยสุ่มขุดรอบๆพืชอาหารจำนวน 100 แปลง (ขนาด 1X1 เมตร) ผลปรากฏว่า ไม่พบตัวหนอนซึ่งเกิดจากการวางไข่ของปีก่อนหน้านี้ นั่นคือ ตัวหนอนมีความหนาแน่น 0 ตัวต่อตารางเมตรหรือ 0 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร แต่จะพบเพียงปลอกดินเก่าที่ตัวหนอนแมลงทับออกไปแล้ว 3 - 5 ปี การแพร่กระจายของตัวหนอนขึ้นอยู่กับต้นพืชอาหารของตัวเต็มวัยมากกว่าพืชอาหารของตัวหนอนคือ หญ้าเพ็ก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตัวเมียของแมลงทับบ้านจะลงมาวางไข่รอบๆต้นพืชอาหารของตัวเต็มวัยหรือไม่ไกลจากพืชอาหารของตัวเต็มวัย

     5.2 การตรวจนับตัวเต็มวัยของแมลงทับบ้านขาแดง
           การสำรวจตัวเต็มวัยในพื้นที่ศึกษาพบในปริมาณที่ต่ำมากๆ จากการสำรวจพบเพียง 9 ตัว อาศัยตามเรือนยอดพืชอาหารและพบเพียงต้นละตัวเท่านั้น โดยเดินสำรวจเป็นระยะทาง 500 เมตร จากต้นไม้ 423 ต้น ซึ่งในอดีตบริเวณพื้นที่ศึกษานี้จากการสังเกตจะพบแมลงทับบ้านชนิดนี้อาศัยแต่ละต้นอยู่ระหว่าง 1 – 15 ตัว พบบนต้นพืชอาหารจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ต้นพืชอาหาร 10 ต้น จะพบแมลงทับบ้านอาศัย 7 - 8 ต้น แต่ช่วงที่สำรวจนี้ พบว่า ต้นพืชอาหาร 10 ต้น ไม่พบแมลงทับบ้านชนิดนี้อาศัย พืชอาหารที่พบได้แก่ มะค่าแต้ มากที่สุด รองลงไปเป็น กางขี้มอด พะยอม และประดู่ ตามลำดับ ตรงนี้เป็นการยืนยันให้เห็นว่า ประชากรแมลงทับชนิดนี้ในปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต มีโอกาสที่จะหมดไปจากพื้นที่แห่งนี้ในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

6. แนวทางการเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านขาแดงในป่าเต็งรังสะแกราช

          การลดลงของแมลงทับชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากพืชอาหารไม่เพียงพอ จากการสำรวจพบว่า พืชอาหารทั้งของตัวเต็มวัยและตัวหนอนมีปริมาณมากเพียงพอต่อการดำรงชีวิต หรือไม่ได้เกิดจากชาวบ้านเพราะไม่มีการเก็บกินหรือขาย ตลอดจนพื้นที่แห่งนี้มีการป้องกันไฟป่าทุกปีอีกด้วย ดังนั้น การลดลงจึงเกิดจากปัจจัยอื่น จากการศึกษาพบว่า ปริมาณซากพืชที่สะสมตามพื้นป่ามีจำนวนมากถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นการขัดขวางการวางไข่ในดินซึ่งหลังจากลดปริมาณซากพืชพบว่า จำนวนประชากรแมลงชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเพิ่มประชากรแมล
          6.1 การจัดการปริมาณซากพืชที่สะสมในป่าเต็งรัง เนื่องจากป่าสะแกราชมีการป้องกันไฟป่าทุกปี ทำให้พื้นป่ามีการสะสมซากพืชจำนวนมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางต่อการวางไข่เพราะแมลงทับชนิดนี้จะวางไข่ในดิน ทำให้ไม่สามารถวางไข่ในดินได้ เมื่อฟักเป็นตัวหนอนจึงมีโอกาสถูกศัตรูธรรมชาติทำลายได้สูง อีกทั้งตัวเมีย 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 12 ฟองซึ่งถือว่าน้อย จึงมีความจำเป็นต้องลดปริมาณซากพืชให้น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสให้แมลงทับชนิดนี้สามารถวางไข่ในดินได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่มีตัวเต็มวัยอาศัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การจัดการซากพืชควรเน้นบริเวณที่ตัวเต็มวัยอาศัยเท่านั้นโดยอาจเผาแบบควบคุมหรือเอาซากพืชออกไปจากบริเวณเป้าหมายก็เพียงพอ ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม  สำหรับไผ่เพ็กแม้ขึ้นหนาแน่นแต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการวางไข่ แต่ยังเป็นที่หลบภัยได้ด้วยงชนิดนี้มีแนวทางดังนี้
          6.2 การจัดการศัตรูธรรมชาติ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรอดชีวิตของหนอนแมลงทับชนิดนี้ เพราะจะถูกศัตรูธรรมชาติกัดกิน ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญและมีมากตามพื้นดินคือ มด ถ้าตามพื้นป่ามีความเหมาะสมต่อการทำรังและมีอาหารมากจะพบมดตามไปด้วย ถ้ามีการเอาซากพืชออกไปเท่ากับเป็นการลดพื้นอาศัยและแหล่งอาหารของมด ถึงแม้จะมีศัตรูธรรมชาติมากก็ตาม แต่ถ้าแมลงทับได้วางไข่ในดินแล้วก็ไม่มีปัญหา ดังนั้น การจัดการในด้านนี้ทำได้โดยการลดแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารให้มีน้อยลงหรือไม่เหมาะสม โดยอาศัยการจัดการในข้อที่ 6.1 จะช่วยในข้อนี้ตามไปด้วย
          6.3 การจัดการไฟป่า โดยทั่วป่าเต็งรังจะมีไฟป่าไหม้เป็นประจำ เท่ากับเป็นการช่วยลดซากพืชตามพื้นดิน ขณะเดียวกันยังช่วยลดศัตรูธรรมชาติอีกด้วย จากการสังเกต ป่าผลัดใบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูพาน จ. สกลนคร หรือ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ. อุบลราชธานี ทั้งสองพื้นที่ถือว่ามีแมลงทับบ้านขาแดงอาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและยังมีปริมาณมากถึงปัจจุบันทั้งที่มีไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี ตลอดจนยังมีการเก็บแมลงทับบ้านชนิดนี้อีกด้วย นั่นแสดงว่า ไฟป่าอาจมีส่วนช่วยทำให้ประชากรแมลงทับบ้านคงอยู่เพราะว่าไฟป่าจะช่วยกำจัดซากพืชและศัตรูธรรมชาติตามพื้นป่า ทำให้แมลงทับบ้านชนิดนี้สามารถวางไข่ในดินได้ง่าย ดังนั้น การจัดการไฟป่าจะต้องให้เหมาะสมและไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากนัก โดยต้องมีการวางแผนเผาแบบควบคุมและจำกัดพื้นที่ เน้นเฉพาะบริเวณที่มีแมลงทับอาศัยเท่านั้น ดำเนินการในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน
          6.4 การปล่อยแมลงทับบ้านขาแดง โดยการเก็บแมลงทับบ้านขาแดงตัวเต็มวัยจากป่าที่อื่นมาปล่อย โดยเน้นต้องเป็นแมลงทับบ้านขาแดงเท่านั้น เพราะแมลงชนิดนี้จะอาศัยในป่าเต็งรังที่มีหญ้าเพ็กเท่านั้น การเก็บต้องเก็บช่วงเดือนกันยายน เพราะเป็นช่วงที่แมลงชนิดนี้มีมากและเริ่มวางไข่ ถือเป็นการช่วยเพิ่มประชากรแมลงชนิดนี้ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอาจต้องใช้เวลาหลายปี

แมลงทับกำลังวางไข่
ตัวหนอน

สรุป

                          ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการลดประชากรแมลงทับชนิดนี้คือ การสะสมซากพืชจำนวนมากตามพื้นป่า แนวทางการเพิ่มประชากรแมลงทับบ้านขาแดงกระทำได้โดยเพิ่มพื้นที่วางไข่ให้มากขึ้น โดยตามพื้นป่าบริเวณที่มีประชากรแมลงทับอาศัยควรมีซากพืชในปริมาณที่น้อยเพื่อง่ายแก่การวาง ไข่ในดิน ไฟป่ามีส่วนช่วยทำให้ประชากรแมลงทับชนิดนี้คงอยู่ในป่าเต็งรังถ้ามีการจักการที่ถูกวิธีและเหมาะสม
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.087 - 8768427