ความรู้ที่ได้รับจากการคืนละมั่งสู่ธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
The knowledge gained from Eld’s deer reintroduction program in Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary

                                                                 

                ประเทศไทย เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของละมั่ง 2 ชนิดย่อย คือ ละมั่งไทย (Siamese Eld’s deer: Cervus eldii siamensis) พบกระจายในภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสาน และละมั่งพม่า (Burmese Eld’s deer: Cervus eldii thamin) พบทางด้านตะวันตกของประเทศ แต่ละมั่งทั้ง 2 ชนิดย่อยได้ถูกคุกคามจากการสูญเสียถิ่นที่อาศัย และการล่า จนกระทั่งหมดไปจากแหล่งธรรมชาติของประเทศ

                  การนำละมั่งพม่า กลับคืนสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี สืบเนื่องจากแนวคิดในการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง  Eld’s deer Conservation and Restoration ครั้งที่ 1 ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัด ชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้มีการประชุมพิจารณาเลือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่เป้าหมาย

                  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.  2547 – พ.ศ. 2549 มีการสำรวจพื้นที่เหมาะสม การหาประชากรเริ่มต้น และการเตรียมการในการจัดการพื้นที่รองรับ  ตามผลการประชุม Eld’s deer Interesting Meeting Group ครั้งที่ 3 ที่โรงแรม Sunways ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2549 มีการแนะนำให้ใช้โครงการนำร่องด้วยการปล่อยแบบ Hard release จำนวน 20 ตัว ติดวิทยุ และติดตามความก้าวหน้าก่อนดำเนินงานจริง  หลังจากมีการเตรียมการ และทดลองปล่อยละมั่งครั้งแรกจำนวน 6 ตัว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เราได้เห็นการทำงานเริ่มต้นเมื่อมีละมั่ง กลับสู่ระบบนิเวศป่าเต็งรังในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง   และหลังจากนั้นได้ทยอยปล่อยอีก 5 ครั้ง อีก 38 ตัว โดยครั้งสุดท้ายได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช ได้เดินทางมาทำพิธีปล่อย รวมละมั่งที่ปล่อยทั้งสิ้น 44 ตัว ติดสัญญาณวิทยุ จำนวน 33 ตัว

                   ผลการดำเนินงานในปีแรก ในปี พ.ศ. 2551 แม้ว่าการอยู่รอดเป็นไปได้น้อย มากอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ละมั่งที่ปล่อยมีขนาดร่างกายเล็กกว่าปกติ พฤติกรรมการเรียนรู้ ความรกทึบของพื้นที่อาศัย นำไปสู่การถูกล่าโดยสัตว์ผู้ล่า แต่ได้รับประสบการณ์ ข้อมูลที่น่าสนใจในหลายด้าน เช่น การคัดเลือก การตรวจสุขภาพ พันธุกรรม การเคลื่อนย้ายละมั่ง การใช้พื้นที่ป่า การกระจาย ชนิดป่าที่ละมั่งใช้ประโยชน์ ขนาดพื้นที่อาศัยจากการติดตามสัญญาณวิทยุ   การใช้พืชอาหาร ข้อมูลด้านสุขภาพภายหลังการปล่อย ศัตรูธรรมชาติ และพฤติกรรมที่แสดงออก

                   ผลการศึกษา ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อลดอัตราการตาย ให้น้อยกว่า 40 % จากบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า มายังบริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2552

                   นอกเหนือจากการฟื้นฟูประชากรละมั่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวนศาสตร์ ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้นำความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ขยายไปสู่ การคืนละมั่ง สู่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี สร้างความร่วมมือกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จังหวัดพะเยา ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อศึกษาติดตามละมั่งที่ปล่อย การวางแผนเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมเข้าไปในประชากรละมั่งเดิม ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542  

                   ความรู้ที่เกิดจากการดำเนินโครงการปล่อยละมั่งสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นอกเหนือจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท จำนวน 4 ฉบับที่เกิดขึ้น ยังมีการถ่ายทอดไปยังนิสิต นักศึกษา เยาวชน ประชาชน ผู้สนใจ โดยเฉพาะรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างนิสิตผู้นำด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า ระหว่างวันที่ 4 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553   โดยในการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม ประมาณ 100 คน ได้รวบรวมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง นับจากเริ่มโครงการเพื่อเผยแพร่ เป็นประโยชน์ต่อไป

 

ภาพที่ 1 ละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

 

ภาพที่ 2  ลูกละมั่ง ที่เกิด ในธรรมชาติ

 

ภาพที่ 3 การเตรียมพื้นที่ก่อนการปล่อย

 

ภาพที่ 4 การเตรียมพื้นที่ก่อนการปล่อย

 

ภาพที่ 5 การติดสัญญาณวิทยุที่ละมั่ง

 

ภาพที่ 6 การติดตามสัญญาณวิทยุ

 

ภาพที่ 7  พิธีปล่อยละมั่งสู่ธรรมชาติ

 

ภาพที่ 8 ละมั่ง ที่ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

 

ภาพที่ 9 การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จังหวัดพะเยา

 

ภาพที่ 10 การถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับสู่นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนผู้สนใจ

 

 

 

 

ภาพที่ 11 ศึกษาสภาพพื้นที่ สำหรับการฟื้นฟูประชากรละมั่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
สลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

 

ภาพที่ 12 แหล่งโป่ง ที่พบในระหว่างการสำรวจเพื่อเตรียมการฟื้นฟูประชากรละมั่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
สลักพระ 





คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ รศ.ดร.วรวิทย์ วัชชวัลคุ น.สพ.นิธิดล บูรณพิมพ์  ผศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง น.สพ.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นายตรศักดิ์ นิภานันท์
น.สพ.มาโนช ยินดี นายไพศิลป์ เล็กเจริญ  และ นายสุนทร ฉายวัฒนะ
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
โทร. 02-579-0176