การจัดทำแบบจำลองการกระจายของสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมที่สำคัญของประเทศไทย
                                   (Habitat Distribution Modeling for Important Mammals at the Countrywide Level)
             

          การวางแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่มีอย่างพอเพียง และทันสมัยต่อสถานการณ์  ขั้นตอนการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดทำแผนที่การกระจายของชนิดพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายของการอนุรักษ์เป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่สำคัญต่อกรอบแนวคิดสำหรับการวางแผนการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ (Margules and Pressey, 2000) ที่จำเป็นต้องกระทำก่อนการกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการแพร่กระจายสำหรับสิ่งมีชีวิตในกลุ่มสัตว์ป่าที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่สูง ดังนั้นเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการข้อมูลพื้นฐานของการแพร่กระจายของสัตว์ป่าของประเทศไทย เพื่อการวางแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองในด้านต่าง ๆ  เช่น การจัดการการลาดตระเวน  การปรับปรุงถิ่นที่อาศัยสัตว์ป่า  การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ ตลอดจนการวางแผนจัดทำแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่าสำหรับสัตว์ป่า การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการหาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการกระจายของสัตว์ป่าสำคัญ 6 ชนิด ในระดับทั้งประเทศไทย ได้แก่ ช้างป่า  กระทิง  วัวแดง  กวางป่า  เก้ง และเสือโคร่ง จากข้อมูลการปรากฏของสัตว์ป่าที่ได้จากการสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่คุ้มครองทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550 (บุษบง และคณะ, 2553) และทำการจัดทำแผนที่การแพร่กระจายของสัตว์ป่าดังกล่าวในรูปแบบของแผนที่เชิงตัวเลขที่มีระดับการแยกต่างเชิงพื้นที่ (spatial resolution) หรือขนาดกริด ที่ระดับ 30 เมตร และทำการจำแนกหาขนาดหย่อมถิ่นที่อาศัยประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมของสัตว์ป่าสำคัญทั้ง 6 ชนิด โดยวัตถุประสงค์รองได้แก่การประเมินความเหมาะสมของการประยุกต์เทคนิค maximum entropy (Phillips et al., 2006) มาใช้เพื่อการทำนายการกระจายของถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่าในระดับทั้งประเทศ

ผลและการวิจารณ์

          จากข้อมูลภาคสนามที่ได้จากการสำรวจในพื้นที่คุ้มครองทั่วประเทศไทยพบว่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ทั้ง 6 ชนิด มีการปรากฏกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยตามความแตกต่างของปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมการดำรงชีวิตและปัจจัยคุกคามที่ผันแปรไปตามพื้นที่ต่าง ๆ จากข้อมูลการปรากฏของสัตว์ป่าแต่ละชนิดสามารถสรุปภาพรวมให้เห็นถึงการตอบสนองของสัตว์ป่าต่อปัจจัยแวดล้อม ต่าง ๆ ดังภาพที่ 1
          พื้นผิวความน่าจะเป็นของการปรากฏของสัตว์ป่าแต่ละชนิดถูกสร้างจากการหาค่าเฉลี่ยของพื้นผิวความน่าจะเป็นของการปรากฏของสัตว์ป่าที่แตกต่างกัน จำนวน 30 ชุด (สร้างจากแบบจำลองที่ได้จากข้อมูลทั้งหมด 30 ชุด)  โดยค่าความน่าจะเป็นดังกล่าวเป็นค่าความน่าจะเป็นโดยเฉลี่ยของ pixel นั้น ๆ ที่ตอบสนองจากกลุ่มของปัจจัยแวดล้อมประเภทต่าง ๆ ที่ปรากฏร่วมกันอยู่  พื้นผิวความน่าจะเป็นของการปรากฏของสัตว์ป่าทั้ง 6 ชนิดได้แสดงไว้ดังภาพที่ 2 ถึง 7  แผนที่การกระจายของถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่าชนิดสำคัญทั้ง 6 ชนิด ตามรายกลุ่มป่าทางบกทั้ง 17 แห่ง ได้แสดงดังภาพที่ 8 ถึง 13 จากแผนที่ดังกล่าว พบว่าสัตว์ป่าที่มีขนาดพื้นที่รวมของถิ่นที่อาศัยในพื้นที่กลุ่มป่าทางบกทั้ง 17 แห่ง จากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ เก้ง (5,039,681 เฮกแตร์)  ช้างป่า (3,734,261 เฮกแตร์)  วัวแดง (3,062,435 เฮกแตร์)  กระทิง (2,829,195 เฮกแตร์)  กวางป่า (2,516,974.56 เฮกแตร์) และเสือโคร่ง (2,308,042 เฮกแตร์) ตามลำดับ
          ตามการจำแนกของ Beier et al. (2005) ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพื้นที่คุ้มครองต่าง ๆ พบว่ากลุ่มป่าแต่ละแห่งมีการปรากฏของจำนวนและขนาดของประเภทหย่อมที่อาศัยแตกต่างกันไป พบว่ากลุ่มพื้นที่คุ้มครองที่ยังคงปรากฏหย่อมถิ่นที่อาศัยเพื่อการดำรงประชากรสำหรับสัตว์ป่าทั้ง 6 ชนิด มีเพียง 5 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก  กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว  กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  กลุ่มป่าตะวันออก  และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน   หากพิจารณาเฉพาะหย่อมถิ่นที่อาศัยเพื่อการดำรงประชากรของสัตว์ป่า พบว่าค่าเฉลี่ยของขนาดพื้นที่ต่อหย่อมถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่าทั้ง 6 ชนิดพันธุ์ แตกต่างกันในแต่ละรายกลุ่มพื้นที่คุ้มครอง ค่าเปรียบเทียบขนาดเฉลี่ยของหย่อมถิ่นที่อาศัยเพื่อการดำรงประชากรของสัตว์ป่าทั้ง 6 ชนิด แยกตามรายพื้นที่กลุ่มป่าได้แสดงไว้ดังตารางที่ 1  กลุ่มป่าตะวันตกถือได้ว่าเป็นกลุ่มพื้นที่คุ้มครองที่มีความสำคัญที่สุดต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ทั้ง 6 ชนิด เนื่องจากมีจำนวนพื้นที่ทั้งหมดที่เหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากที่สุด  อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากขนาดหย่อมถิ่นที่อาศัยเพื่อการดำรงประชากรโดยเฉลี่ย พบว่ากลุ่มพื้นที่คุ้มครองที่มีถิ่นที่อาศัยเหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์ช้างป่ามากที่สุดคือกลุ่มป่าตะวันตก  สำหรับกระทิงคือกลุ่มป่าภูเขียวน้ำหนาว  สำหรับวัวแดงคือกลุ่มป่าตะวันออก  สำหรับกวางป่าคือกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก  สำหรับเก้งคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และสำหรับเสือโคร่งคือกลุ่ม ป่าตะวันตก เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มป่ากลุ่มป่าภูพานเป็นเพียงกลุ่มป่าเดียวที่เป็นพื้นที่คุ้มครองที่ไม่พบหย่อมถิ่นที่อาศัยของประชากรสำหรับสัตว์ป่าขนาดใหญ่อื่น ๆ ยกเว้นเก้งเพียงชนิดเดียว


คณะผู้วิจัย
น.ส.บุษบง กาญจนสาขา1, ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์2, น.ส.ศิริพร ทองอารีย์ 1, นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ1, ดร.ไสว วังหงษา1, นายประทีป โรจนดิลก1, น.ส.สมหญิง ทัฬหิกรณ์1, นายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด1,นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์1, น.ส.อัมพรพิมล ประยูร1, นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ1, นายไชยพร ชารีแสน1, นายกมล แฝงบุบผา1
และ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์3
1กลุ่มวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย