การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของไม้สัก ณ สวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
An Assessment of Carbon Storage in Biomass of Teak (Tectona grandis Linn.f)
at Thong Phaphum Plantation, Kanchanaburi Province

              การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มีสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่บรรยากาศจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายป่าไม้เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบอื่นๆ การปลูกสร้างสวนป่าจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้นมาเพื่อช่วยลดหรือบรรเทาผลกระทบ (mitigation) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากต้นไม้สามารถดูดซับ CO2 จากบรรยากาศ โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) และนำมาสะสมไว้ในรูปของมวลชีวภาพ (biomass) ทั้งนี้ ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของสวนป่า หรือป่าปลูก ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุกรรมของพรรณไม้ที่ปลูก สภาพพื้นที่ และการจัดการ ในประเทศไทยข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่สวนป่าในปัจจุบันยังมีค่อนข้างน้อย การประเมินการกักเก็บคาร์บอนของสวนป่าโดยใช้สมการประเมินมวลชีวภาพเป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้โดยทั่วไป แต่ยังขาดสมการมวลชีวภาพที่เป็นตัวแทนของพรรณไม้แต่ละชนิดที่สามารถใช้ได้ทั่วไป กอปรกับความไม่สะดวกในการเก็บข้อมูลภาคสนามสำหรับนำมาใช้กับสมการมวลชีวภาพ ดังนั้น การพัฒนาสมการประเมินมวลชีวภาพของสวนสักเพื่อให้สามารถใช้ได้ทั่วไปควบคู่กับการใช้ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตและเทคนิคในการสำรวจระยะไกล (remote sensing) จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้สามารถประเมินสถานภาพการกักเก็บคาร์บอนของสวนป่าเป็นพื้นที่กว้าง (large scale) ได้อย่างถูกต้อง สะดวก และใช้เวลาสั้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาสมการประเมินมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักที่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ทั่วไป
  2. เพื่อประเมินมวลชีวภาพเหนือพื้นดินและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพไม้สัก ณ สวนป่าทองผาภูมิ
  3. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกักเก็บคาร์บอนกับตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตและผลผลิตของสวนป่า และดัชนีพืชพรรณจากการสำรวจระยะไกล

อุปกรณ์ และวิธีการ

พื้นที่ศึกษา

             สวนป่าทองผาภูมิ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 400 เมตร ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่าจำนวน 18,238.37 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้สักทั้งสิ้น 13,836.6 ไร่

การวางแปลงตัวอย่าง

             วางแปลงตัวอย่างขนาด 60 x 60 เมตร ในสวนป่าสักซึ่งมีระยะปลูกเริ่มต้น 4  x 4 เมตร (ยกเว้นชั้นอายุ 8 ปี มีระยะปลูก  3 x 3 เมตร) จำนวน 13 ชั้นอายุ ชั้นอายุละ 2 แปลง ในแต่ละแปลงแบ่งเป็นแปลงย่อยขนาด 30 x 30 เมตร เพื่อเก็บข้อมูลพิกัดของแปลงตัวอย่างทุกแปลงย่อยด้วยเครื่องกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (global positioning system, GPS)

การเก็บข้อมูลภาคสนามและการวิเคราะห์ข้อมูล

            วัดความสูง และเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกของไม้สักทุกต้นที่มีอยู่ในแปลง ตลอดจนถ่ายภาพเรือนยอดในแต่ละแปลงย่อยเพื่อศึกษาดัชนีพื้นที่ใบ (leaf area index) ด้วยเทคนิค hemispherical photography โดยใช้โปรแกรม Gap Light Analyzer (GLA) version 2.0 (Frazer et. al., 1999) วิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย (mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviations; SD) ของความสูง เส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก และพื้นที่เรือนยอด (crown cover) และคำนวณพื้นที่หน้าตัด (basal area) จากเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก ทำการวิเคราะห์ค่าความแตกต่างทางสถิติของสักแต่ละชั้นอายุ โดยใช้ Analysis of Variance (ANOVA)

           พัฒนาสมการมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักโดยการรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับสมการมวลชีวภาพของไม้สักในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และวิเคราะห์เปรียบเทียบสมการทางสถิติเพื่อสร้างสมการขึ้นใหม่ตามวิธีการของ Zar (2007) โดยจำแนกเป็นสมการมวลชีวภาพของไม้สักเฉพาะพื้นที่สวนป่าทองผาภูมิ และพื้นที่ทั่วไป ประเมินมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักชั้นอายุต่างๆ โดยใช้ปริมาณคาร์บอนในเนื้อเยื่อของไม้สักจำแนกตามช่วงอายุ (ทศพร และคณะ, 2548) ตลอดจนวิเคราะห์การถดถอย (regression analysis) ระหว่างมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และพื้นที่หน้าตัด ดัชนีพื้นที่ใบ และดัชนีพืชพรรณ (vegetation index) จากการสำรวจระยะไกล

ผลการศึกษา

สมการการประเมินมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน

             สมการสำหรับประเมินมวลชีวภาพส่วนต่างๆ และมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักสำหรับสวนป่าทองผาภูมิ และสมการของไม้สักสำหรับสวนป่าทั่วไปมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 1) และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างทางสถิติของมวลชีวภาพของลำต้น มวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และปริมาตร ระหว่างการใช้สมการสำหรับสวนป่าทองผาภูมิและสวนสักทั่วไปพบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p>0.05) ในทุกชั้นอายุที่ศึกษา

ตารางที่ 1 สมการแอลโลเมตรีของมวลชีวภาพส่วนต่างๆ และปริมาตรของสัก

 

ตัวแปรตาม (y)

สมการสวนป่าทองผาภูมิ

สมการทั่วไป

สมการ

R2

สมการ

R2

มวลชีวภาพของลำต้น (กิโลกรัม)

y = 0.0201x0.9781

0.9946

y = 0.0267x0.9456

0.9921

มวลชีวภาพของกิ่ง (กิโลกรัม)

y = 0.0047x0.8876

0.6911

y = 0.0035x0.9834

0.7945

มวลชีวภาพของใบ (กิโลกรัม)

y = 0.004x0.8916

0.8271

y = 0.0124x0.7568

0.7986

มวลชีวภาพเหนือพื้นดิน (กิโลกรัม)

y = 0.0251x0.9801

0.9937

y = 0.0366x0.9427

0.9859

ปริมาตร (ลูกบาศก์เมตร)

y = 0.00008x0.9122

0.9988

y = 0.00008x0.8981

0.9906

หมายเหตุ       
y คือ มวลชีวภาพส่วนต่างๆ หรือปริมาตร
x คือ ตัวแปรอิสระในรูป DBH2H เมื่อ DBH คือเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก (เซนติเมตร) และ H คือความสูงทั้งหมด (เมตร)

การเติบโต มวลชีวภาพเหนือพื้นดินและการกักเก็บคาร์บอน

             ในการศึกษาตัวแปรของการเติบโตของไม้สัก พบว่า ความสูง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก และพื้นที่เรือนยอดของไม้สักมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติระหว่างชั้นอายุ (p<0.01) โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุไม้สัก ยกเว้นแปลงไม้สักอายุ 9, 21 และ 28 ปี เช่นเดียวกับมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติระหว่างชั้นอายุ (p<0.01) โดยมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักมีค่าสูงสุดในชั้นอายุ 25 ปี และมีค่าต่ำสุดในชั้นอายุ 4 ปี แต่มีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนเนื่องจากการจัดการสวนป่าสักซึ่งมีรอบตัดฟันประมาณ 30 ปี จำเป็นต้องมีการตัดขยายระยะ (thinning) 2-3 ครั้งก่อนถึงรอบตัดฟัน เพื่อเพิ่มการเติบโตของต้นสักที่เหลืออยู่ ทำให้มวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาแน่นของต้นไม้ที่มีอยู่ในแต่ละแปลง ทั้งนี้ ไม้สักที่ศึกษามีอัตราความเพิ่มพูนของมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน เท่ากับ 2.74 และ 1.28 ตันต่อเฮกแตร์ต่อปี (0.44 และ 0.20 ตันต่อไร่ต่อปี) ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2    ความสูง (height, H) เส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก (diameter at breast height, DBH) มวลชีวภาพเหนือพื้นดิน (above-ground biomass) การกักเก็บคาร์บอน (carbon storage, C) และความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีของมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักที่อายุต่างๆ ในสวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

อายุ
(ปี)

จำนวนต้น
ต่อเฮกแตร์

H
(ม.)

DBH
(ซม.)

มวลชีวภาพ

การกักเก็บคาร์บอน

ตันต่อ
เฮกแตร์

ตันต่อ
เฮกแตร์
ต่อปี

ตันต่อ
เฮกแตร์

ตันต่อ
เฮกแตร์
ต่อปี

4

457

5

4.55

1.71

0.43

0.69

0.17

6

364

8.02

8.75

7.56

1.26

2.99

0.50

8

1008

9.69

11.15

32.21

4.02

12.83

1.60

9

526

7.24

8.59

10.58

1.17

4.19

0.47

12

500

10.43

12.72

25.18

2.09

11.42

0.95

15

614

17.9

17.27

81.32

5.42

38.03

2.54

16

385

16.05

16.06

42.03

2.63

19.54

1.22

18

436

15.59

17.7

72.68

4.04

34.59

1.92

21

418

11.23

14.38

33.74

1.61

15.93

0.76

23

324

18.96

22.02

99.42

4.32

49.45

2.15

25

310

19.88

24.96

116.05

4.64

58.09

2.32

28

274

16.03

18.58

70.44

2.52

35.63

1.27

31

183

18.28

24.7

46.82

1.51

22.91

0.74

การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมวลชีวภาพเหนือพื้นดินและตัวแปรอื่นๆ

             จากการวิเคราะห์การถดถอยพบว่า มวลชีวภาพเหนือพื้นดินมีความสัมพันธ์กับพื้นที่หน้าตัด หรือ ดัชนีพื้นที่ใบ ในรูปสมการยกกำลังอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.01) ดังแสดงในภาพที่ 1 แต่มีความสัมพันธ์กับดัชนีพืชพรรณ (normalized difference vegetation index, NDVI) อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) (ข้อมูลไม่ได้นำเสนอในที่นี้)

สรุปและข้อเสนอแนะ
    1. สมการมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักสำหรับสวนป่าทั่วไปที่พัฒนาได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้ประเมินมวลชีวภาพเหนือพื้นดินในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้
    2. การเติบโต มวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักมีการแปรผันระหว่างชั้นอายุ โดยมวลชีวภาพเหนือพื้นดินและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของไม้สักส่วนใหญ่มีการแปรผันตามขนาดและจำนวนต้นสักในแต่ละแปลง เนื่องจากกำหนดการตัดขยายระยะในแต่ละชั้นอายุ และ/หรือ เกิดจากความแตกต่างของสภาพพื้นที่ปลูก
    3. การวิเคราะห์การถดถอยระหว่างมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และพื้นที่หน้าตัด ดัชนีพื้นที่ใบ หรือดัชนีพืชพรรณ แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมในการนำค่าพื้นที่หน้าตัด หรือดัชนีพื้นที่ใบซึ่งเป็นตัวแปรที่สะดวกในทางปฏิบัติไปใช้ในการประมาณค่ามวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และการกักเก็บคาร์บอนของไม้สักต่อไป แต่การประยุกต์ใช้เทคนิคการสำรวจระยะไกลจำเป็นต้องมีการพัฒนาดัชนีพืชพรรณ และ/หรือ แบบจำลองอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมต่อไป

      

    ภาพที่ 1    ความสัมพันธ์ระหว่างมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน (above-ground biomass) และพื้นที่หน้าตัด (basal area) และดัชนีพื้นที่ใบ (leaf area index) ของไม้สักชั้นอายุต่างๆ ในสวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

     

คณะผู้วิจัย
ดร.สาพิศ  ดิลกสัมพันธ์1 ดร.จงรัก  วัชรินทร์รัตน์1 และอ.ธีระพงศ์   ชุมแสงศรี2  
1 ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์  2 ภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02 942 8112 ต่อ 222