กระบวนการบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ใหม่โดยถังปฏิกรณ์
เมมเบรนแบบใช้แสงเพื่อเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก
Water Reuse Process for Treated Domestic Wastewater by
Microalgae Membrane Photobioreactor

                การปล่อยธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัส ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในปริมาณมาก จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายและพืชน้ำอย่างรวดเร็ว เรียกว่าสภาวะยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ซึ่งส่งผลให้คุณภาพน้ำเกิดการเสื่อมโทรม เมื่อสาหร่ายหรือพืชน้ำเหล่านั้นตายลง รวมทั้งส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำ เช่น ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี น้ำที่มีความขุ่นสูงส่งผลให้แสงแดดส่องผ่านลงสู่น้ำได้น้อยลง ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต การป้องกันหรือควบคุมการปล่อยธาตุอาหารสงสู่แหล่งน้ำจึงช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งโดยอาศัยกระบวนการบำบัดน้ำเสียที่สามารถกำจัดธาตุอาหารออกจากน้ำเสีย หรือนำธาตุอาหารในน้ำเสียไปใช้ประโยชน์ เช่น น้ำไปเลี้ยงสาหร่ายในระบบควบคุม เพื่อนำกลับเซลล์สาหร่ายมาใช้เป็นวัสดุดิบของกระบวนการผลิตหรือใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการนำน้ำเสียชุมชนที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายโดยใช้ถังปฏิกรณ์เมมเบรนแบบใช้แสง โดยอาศัยธาตุอาหารและก๊าซที่ปล่อยออกจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนสำหรับการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของสาหร่ายดังกล่าว

              สาหร่ายที่เลือกใช้ในการศึกษานี้มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ Spirulina platensis, Chlorella vulgaris และ Botryococcus braunii ซึ่งสาหร่ายสายพันธุ์ดังกล่าวนี้สามารถหาได้ง่ายในธรรมชาติ และมีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น รวมทั้งสาหร่ายบางสายพันธุ์ที่มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ เช่น Botryococcus braunii เป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำมันที่นำไปใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ได้อีกด้วย ถังปฏิกรณ์เมมเบรนแบบใช้แสงที่ใช้เพาะเลี้ยงสาหร่ายมีปริมาตร 9 ลิตร โดยใช้หลอด Light Emitting Diode (LED) เป็นแหล่งแสง  เนื่องจากเป็นหลอดประหยัดพลังงาน และกำหนดความยาวคลื่นที่ต้องการได้ คือ 627 นาโนเมตร (แสงสีแดง) และ 455 นาโนเมตร (แสงสีน้ำเงิน) ระยะเวลากักน้ำในถังปฏิกรณ์กำหนดให้เท่ากับ 1-2 วัน

             จากผลการทดลองพบว่า สาหร่ายสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ผ่านการบำบัด รวมทั้งช่วยในการบำบัดคุณภาพของน้ำให้ดีขึ้น เซลล์สาหร่ายที่เพาะเลี้ยงได้สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ เป็นปุ๋ยหมัก นำไปปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่การเกษตร ใช้ในอุตสาหกรรมยา นำมาสกัดหรือแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หรือใช้เป็นพลังงานทดแทนได้

คณะผู้วิจัย
นายจรุงวิทย์ บุญโนรัตน์ รศ.ดร. ชาติ เจียมไชยศรี รศ.ดร.วิไล เจียมไชยศรี Dr. Ryo Honda และ Prof. Kazuo Yamamoto
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ
Environmental Science Center, University of Tokyo
โทร.02-942-8555 ต่อ 1003