การใช้ทรัพยากรอย่างขาดความรู้ ความเข้าใจ และความระมัดระวัง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางน้ำ อากาศ และดิน รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชากร ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ในระดับบัณฑิตศึกษาจึงได้เริ่มก่อตั้งขึ้น ในคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมแก้ไขปัญหาทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมีโครงสร้างหลักสูตร 3 แบบ คือ ก1 ก2 และ ข ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้น หรือ http://envi.flas.kps.ku.ac.th/
ตัวอย่างงานวิจัยของนิสิต และแผนงานวิจัยของอาจารย์ในหลักสูตร ได้แก่
งานวิจัยด้าน: การใช้ประโยชน์จากของเสีย
- ผลการใช้น้ำสกัดมูลไก่ไข่และน้ำสกัดมูลนกกระทาไข่ เป็นแหล่งธาตุอาหารเสริมทางใบต่อปริมาณธาตุอาหารในลำต้น ใบ เมล็ด และผลผลิตของข้าวหอมพันธุ์ปิ่นเกษตร 1 โดยนางสาวศาล์ธนี ศรีศาสนวงศ์ ภายใต้การให้คำปรึกษาของ รศ. ดร. จงรักษ์ แก้วประสิทธิ์ ทำให้สามารถหาความสัมพันธ์ของแร่ธาตุในอาหารไก่ไข่และมูลไก่ไข่ รวมทั้งน้ำสกัดของมูลนกกระทา เป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ของเสียทางการเกษตรเพื่อมาทดแทนปุ๋ยเคมี
- การสังเคราะห์ซีโอไลต์จากขี้เถ้าแกลบ ขี้เถ้าจากชานอ้อย นำโดย ดร. ประภา โซ๊ะสลาม เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขี้เถ้าแกลบและขี้เถ้าชานอ้อยที่มีปริมาณมากจากการเผาใน boiler เพื่อสร้างพลังงานให้กับโรงสี และโรงงานกระดาษจากชานอ้อย จากขี้เถ้าด้อยค่า กลายเป็นซีโอไลต์ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ในกระบวนการดูดซับโลหะ สี อุตสาหกรรมผงซักฟอก ราคาขายตามท้องตลาดของซีโอไลต์ ประมาณ 3,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่การสังเคราะห์ซีโอไลต์จากขี้เถ้าแกลบและขี้เถ้าชานอ้อย มีต้นทุนเพียง 817 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น (วิจัยร่วม มก.กพส. กับ วว. ทุนวิจัย วช.)
- การประเมินคาร์บอนเครดิตจากการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร นำโดย ดร. ประภา โซ๊ะสลาม ถึงแม้จะมีงานวิจัย ศึกษากันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรทำถังหมักก๊าซชีวภาพด้วยตนเอง นอกเหนือจากพลังงานที่ได้จากก๊าซชีวภาพแล้ว หากมีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตก๊าซชีวภาพในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศแล้ว สามารถนำผลประโยชน์จากพลังงานทดแทนนี้ มาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตในปริมาณมากพอที่จะเสนอขายให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และจำเป็นต้องลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ (ทุน ศวท. มก.กพส.)
- การผลิตปุ๋ยหมักจากกากปาล์ม นำโดย ดร. ประภา โซ๊ะสลาม ซึ่งปาล์มนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและมีความสำคัญในด้านการเป็นพืชอาหารและพืชพลังงาน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น แต่การผลิตน้ำมันปาล์มมีของเสียในรูปของ ทะลายปาล์มและกากปาล์มเป็นปริมาณมาก ซึ่งย่อยสลายได้ยาก จึงมีการศึกษาเพื่อคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายทะลายปาล์มและกากปาล์มให้กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างรวดเร็ว (งานวิจัยร่วม มก.กพส. กับ มจธ. ทุนวิจัย สกอ. ร่วมกับเอกชน)
งานวิจัยด้าน: การบำบัดน้ำเสีย การพัฒนาเทคโนโลยีแบบ CANON ในการบำบัดน้ำเสียสังเคราะห์ที่มีไนโตรเจน โดยนางสาวธัญญรัตน์ เบญจกุล ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. ฐิติยา แซ่ปัง ในการวิจัยใช้แบบจำลองของระบบเอสบีอาร์ (Sequencing Batch Reactor) เป็นกระบวนการ partial nitrification ต่อกับระบบเอเอสบีอาร์ (Anaerobic Sequencing Batch Reactor) ของกระบวนการ Anammox พบว่าสามารถบำบัดแอมโมเนียไนโตรเจนได้มากกว่าร้อยละ 50 และบำบัดไนไตรท์ได้มากกว่าร้อยละ 99 ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่มีไนโตรเจนสูง
งานวิจัยด้าน: ภาวะโลกร้อน
การเก็บกักและการปลดปล่อยคาร์บอนในดินของพื้นที่ป่าไม้ โดยนางสาวอมรรัตน์ แสงทอง ภายใต้การดูแลของ ดร.เครือมาศ สมัครการ ศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนจากดินในป่าไม้พื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินทร จ. เพชรบุรี และแปลงปลูกยูคาลิปตัส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 8 เดือน เท่ากับ 40.65 และ 29.33 g CO2/m2 ตามลำดับของสถานที่เก็บตัวอย่าง ไม่พบการปล่อยก๊าซมีเทน การเก็บกักคาร์บอนเท่ากับ 53.05 และ 28.90 g/m2 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีอิทธิพลคือ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในดิน และ อินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้สามารถประเมินการเก็บกักและการปลดปล่อยคาร์บอนในดินของพื้นที่ป่าไม้
งานวิจัยด้าน: แมลงน้ำและคุณภาพน้ำ
ความหลากหลายของแมลงน้ำและคุณภาพน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง โดยนางสาวอรอุมา ศุภศรี ภายใต้การดูแลของ ดร. แตงอ่อน พรหมมิ ได้รวบรวมชนิดของสิ่งมีชีวิตเพื่อใช้เป็นดัชนีในการชีวัดคุณภาพของแหล่งน้ำ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
งานวิจัยด้าน: การสะสมตะกั่วในส่วนต่าง ๆ ของพืชเศรษฐกิจและพืชที่ใช้บริโภค และตรวจสอบการสะสมของตะกั่วด้วยกล้อง TEM (Transmission Electron Microscope) รวมทั้งการใช้พืชหลายชนิดบำบัดสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของตะกั่วทั้งในดินและน้ำ
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง ที่ก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะโลหะหนัก เป็นสารมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาในสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมาก เช่น ตะกั่ว จัดเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษต่อมนุษย์ และสัตว์ก่อให้เกิดโรคของระบบประสาทส่วนกลาง และขัดขวางการสร้างฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ในพวกพืชตะกั่วจะไปยับยั้งการสร้างคลอโรพลาสต์ ซึ่งส่งผลในการสังเคราะห์แสงของพืช
พื้นที่บริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และพืชที่มนุษย์นิยมใช้บริโภคที่สำคัญของประเทศ แปลงเพาะปลูกของเกษตรกรส่วนใหญ่จะติดกับโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น โรงงานอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ โรงงานแบตเตอรี่ โรงพิมพ์ โรงงานทำสีทาบ้าน ซึ่งล้วนแต่มีการปล่อยตะกั่วออกสู่สิ่งแวดล้อมในความเข้มข้นที่ต่างกัน พืชเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนตะกั่ว ผลผลิตที่ออกมาจึงยังไม่ชัดเจนว่ามีตะกั่วตกค้างและปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ถ้ามีตะกั่วตกค้างจะอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้ที่บริโภคหรือไม่ เหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งน่าสนใจในเชิงการจัดการสิ่งแวดล้อมคือ สามารถตรวจสอบว่าพืชเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ช่วยในการดูดซับหรือบำบัดตะกั่วที่ตกค้างอยู่ในดินหรือในน้ำได้ดีมากน้อยเพียงใด และตะกั่วจะไปสะสมอยู่ที่ส่วนใดของพืชเหล่านี้ได้มากที่สุด ถ้าพืชเหล่านี้มีศักยภาพที่ดูดซับตะกั่วได้ดีก็จะเป็นพืชอีกตัวที่ช่วยบำบัดโลหะหนักและสารเคมีชนิดอื่นๆ ได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเน้นให้มีการใช้พืชช่วยบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากมลพิษ โดยใช้กระบวนการที่ไม่สลับซับซ้อน ทำได้ง่ายและราคาถูก การตรวจด้วยกล้อง TEM (Transmission Electron Microscope) ก็จะเป็นอีกเครื่องมือที่ใช้เพื่อตรวจสอบลักษณะการสะสมของตะกั่วในออร์แกเนลล์ของพืชเหล่านี้ ผศ. ดร. ธนวรรณ พาณิชพัฒน์ จึงได้นำคณะนิสิตกำลังศึกษาวิจัยในหัวข้อดังกล่าว ได้แก่
1. การศึกษาการสะสมโลหะหนักในส่วนต่าง ๆของพืช โดยเน้นพืชเศรษฐกิจและพืชที่ใช้สำหรับบริโภค
2. การใช้พืชบำบัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำและดิน
3. การตรวจสอบการสะสมโลหะหนักที่ปนเปื้อนในส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยใช้ TEM (Transmission Electron Microscope)
งานวิจัยด้าน: การศึกษาโพลีแซคคาร์ไรด์ผลิตโดยจุลินทรีย์ในดินเสื่อมสภาพของประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพ (adverse soil) ทำให้พื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง ดินเสื่อมสภาพพบทั่วไปในประเทศไทยมีหลายลักษณะ เช่น ดินกรด ดินเกลือ ดินเปรี้ยว รวมถึงดินปนเปื้อนโลหะหนัก การศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินบริเวณรากพืชที่สามารถเจริญอยู่ในดินเสื่อมสภาพนั้นทำให้พบว่าจุลินทรีย์มีบทบาทช่วยปรับสมดุลย์สภาวะในดินนั้นๆ ดร. จินตนาถ วงศ์ชวลิต จึงเล็งเห็นประโยชน์ของ Extracellular polysaccharide (EPS) ผลิตโดยจุลินทรีย์ในดินบริเวณรากพืช (Rhizosphere bacteria) ถือเป็นผลผลิตธรรมชาติที่ได้จากทรัพยากรชีวภาพ (Bio-resource) ซึ่ง EPS มีความสำคัญต่อการเจริญของพืชโดยมีคุณสมบัติเป็นตัวจับน้ำ ตรึงไนโตเจน ลดการเปลี่ยนธาตุไนโตรเจนเป็นก๊าซไนโตรเจน และดูดซับโลหะหนัก คุณสมบัตินี้เองส่งผลให้พืชสามารถเจริญได้แม้อยู่ในดินเสื่อมสภาพ จึงเป็นจุดที่ก่อให้เกิดงานวิจัยและความสนใจจะคัดเลือกและจำแนกจุลินทรีย์สายพันธุ์สร้างโพลีแซคคาร์ไรด์นำไปสู่การประยุกต์ใช้ EPS ในด้านต่างๆ (new functionality of EPS)
งานวิจัยด้าน: การตรวจสอบความเป็นพิษของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม และ การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ของศัตรูธรรมชาติ และสารสกัดจากพืช ในการรักษาสมดุลของศัตรูพืช และผลผลิตในระบบนิเวศเกษตรแบบยั่งยืน และลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีหลายชนิดทั้งสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตัวทำละลายในอุตสาหกรรม รวมทั้งสารอินทรีย์ชนิดต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดร. ฐิติยา แซ่ปัง จึงทำการศึกษาปริมาณสารตกค้าง และผลกระทบของสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สารกำจัดแมลง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดการใช้สารกำจัดแมลงในระบบนิเวศเกษตรที่กินพื้นที่จำนวนมากในประเทศไทย ทางเลือกการควบคุมศัตรูของพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังมีอยู่ โดยการประยุกต์ให้ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ ได้แก่การใช้ผู้ล่า ควบคุมศัตรูพืช การใช้สารที่พืชผลิตเพื่อต้านทานศัตรูในพืชหนึ่งมาควบคุมศัตรูในอีกพืชหนึ่ง โดยการใช้สารสกัดจากพืชมาใช้ควบคุมศัตรูพืช ซึ่ง ดร. พัชนี วิชิตพันธุ์ มีความสนใจในหัวข้อดังกล่าว และได้สำรวจ และ คัดเลือก ผู้ล่าในกลุ่มแมงมุม และไรตัวห้ำ มาใช้ในการควบคุมศัตรูพืช และ ร่วมกับ ผศ. ดร. ฐิติยา แซ่ปัง ในการคัดเลือกสารสกัดจากพืชมาใช้ควบคุมศัตรูพืช |