การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำสกัดชีวภาพสูตรจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดนครปฐมและใกล้เคียง

The Efficiency Study of Bio Extract’s Traditional Knowledge Recipe of Nakhon Pathom and Nearby Area

            ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีแนวโน้มทำการเกษตรผสมผสานและปลอดสารเคมี  ดังนั้นน้ำสกัดชีวภาพจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตและปรับโครงสร้างของดิน นอกจากจะลดต้นทุนของการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว  ยังนำไปสู่การเกษตรที่ไร้สาร  ซึ่งปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค  คณะผู้วิจัยจึงศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำสกัดชีวภาพ จำนวน 13 สูตร ที่มีผลต่อการเจริญของพืชซึ่งได้แก่เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดและการเพิ่มผลผลิตในแปลงทดลอง โดยศึกษาจากพืช  5  ชนิด  ได้แก่  ข้าว ต้นหอม ผักชี ผักกาดหอม และพริก  ใช้อัตราส่วนของน้ำสกัดชีวภาพต่อน้ำ 1:500 เพื่อหาน้ำสกัดชีวภาพที่เหมาะสมต่อพืชแต่ละชนิด  โดยทดสอบน้ำสกัดชีวภาพ 13 สูตร ที่ผลิตจากเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง 

            วัตถุประสงค์
                  1. เพื่อเลือกน้ำสกัดชีวภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด                                                          
                  2. เพื่อศึกษาผลของน้ำสกัดชีวภาพในเพิ่มผลผลิตของพืช 5 ชนิด คือ ข้าว ต้นหอม ผักชี ผักกาดหอมและพริก

            วิธีวิจัย
                1. การทดสอบการงอกของเมล็ด

              แผนการทดลอง
             ใช้น้ำสกัดชีวภาพ 13 สูตรแช่เมล็ดพืช 5 ชนิด คือ ข้าว (พันธุ์ราชินี), ต้นหอม (พันธุ์หอมแบ่งอุตรดิตถ์), ผักชี (สายพิรุณ) ผักกาดหอม (พันธุ์ 3 A) และพริก (พันธุ์ไทยฮอท อิมพรูบ) ที่ระดับความเข้มข้น น้ำสกัดชีวภาพต่อปริมาตรน้ำเท่ากับ 1:500 และมีกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม คือเมล็ดพืชที่แช่น้ำฆ่าเชื้อ บันทึกวันที่เมล็ดพืชงอก จำนวนเมล็ดที่งอก และทำการวัดความยาวราก   แล้วคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การงอกชุดทดลอง โดยทำการทดลอง 3 ซ้ำ ๆ ละ 5 เมล็ด รวม 210 เมล็ด ต่อพืช 1 ชนิด
การเตรียมการทดลอง
               ก)  นำกระดาษเพาะเมล็ด มาตัดให้มีขนาดเท่ากับจานเพาะเชื้อ บรรจุน้ำกลั่นใส่ขวด แล้วนำน้ำกลั่นและกระดาษเพาะเมล็ด ไปนึ่งฆ่าเชื้อ
               ข)  แช่เมล็ดในน้ำยาล้างจาน 5 นาที  จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้ง แล้วตามด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อ แช่เมล็ดในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อเป็นเวลา  1 ชั่วโมง (ข้าวและพริกแช่ 4 ชั่วโมง) แล้วแช่เมล็ดพืชในน้ำสกัดชีวภาพสูตรต่างๆ ที่อัตราส่วน 1:500 เป็นเวลา 15 นาที
               นำกระดาษ เพาะเมล็ดใส่ลงในจานเพาะเชื้อ หลังจากนั้น ปิเปตต์น้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อปริมาตร 2 มิลลิลิตร ใส่ในจานเพาะเชื้อ นำเมล็ดพืชที่แช่ในน้ำสกัดชีวภาพมาวางลงในจานเพาะเชื้อตามแผนการทดลอง บันทึกจำนวนเมล็ดพืชงอก และทำการวัดความยาวราก แล้วคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การงอกของพืชแต่ละชนิด
               สูตรที่ใช้ในการคำนวณ
เปอร์เซ็นต์การงอก = (จำนวนเมล็ดที่งอก / จำนวนเมล็ดทั้งหมด ) x 100
               วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์ความแปรปรวน โดยใช้ Analysis of Variance (ANOVA) และเปรียบเทียบโดย Duncan’s new multiple range test


               2. การทดสอบการเจริญและการเพิ่มผลผลิต

                   2.1  การทดสอบการเจริญและการเพิ่มผลผลิตของข้าว
                  การเตรียมการทดลอง
ใช้น้ำสกัดชีวภาพ 13  สูตร และชุดควบคุม 1 ชุด  โดยขุดหลุมขนาด กว้าง 50 เซนติเมตร  ยาว 50 เซนติเมตร  และลึก 50 เซนติเมตร  รองก้นหลุมด้วยกระสอบ และถุงพลาสติกดำ  จากนั้นใส่ดินสูงจากก้นหลุม  30 เซนติเมตร  ขังน้ำในหลุม 10 เซนติเมตร  แล้วดำต้นกล้าข้าวอายุ 25-30 วัน ลงในหลุมจำนวน 2 ต้น  เมื่อครบ 15 วัน จึงถอนต้นข้าวออกให้เหลือเพียงต้นเดียวและเริ่มใส่น้ำสกัดชีวภาพทุกๆ 10 วัน โดยใช้ระดับความเข้มข้นของ น้ำสกัดชีวภาพ ต่อ น้ำ เท่ากับ 1:1000  เมื่ออายุครบทำการเก็บเกี่ยวบันทึกน้ำหนักสด และน้ำหนักแห้ง น้ำหนักเมล็ด น้ำหนักรวง จำนวนเมล็ดดีและจำนวนเมล็ดลีบ  โดยทำการทดลอง 3 ซ้ำ ๆ ละ 1  ต้น รวม 42 ต้น

                   2.2  ต้นหอม ผักชี ผักกาดหอม และพริก
                   แผนการทดลอง
                   วางแผนการทดลองแบบ  Split plot 
                              - ให้ Main plot คือ สูตรปุ๋ย 14 สูตร  (F0-F13)
                              - Sub plot  คือ ชนิดพืช 4 ชนิด ได้แก่ต้นหอม  ผักชี   ผักกาดหอม และพริก
                              - ให้ R คือ จำนวนซ้ำ (ทดลอง 3 ซ้ำ)โดยการทำไถแปลงและยกร่อง ซึ่ง 1 ซ้ำ จะมีขนาดแปลงกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร 
                              - โดยต้นหอมและผักชีจะปลูก 3 แถว ต่อ 1 แปลง ระยะห่างระหว่างแถว 20 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร
                              - ผักกาดหอมปลูก 3 แถว ต่อ 1 แปลง ระยะห่างระหว่างแถว 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร
                              -พริกปลูก 2 แถว ต่อ 1 แปลง ระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร  ระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร
                   การทดลองจะใช้น้ำสกัดชีวภาพ 13  สูตร รดต้นพืชที่ระดับความเข้มข้น น้ำสกัดชีวภาพ ต่อน้ำ เท่ากับ 1: 500 โดยต้นหอม ผักชี และผักกาดหอมจะรดทุกๆ  7 วัน ส่วนพริกจะรดทุกๆ 14 วัน จนกระทั่งเก็บเกี่ยว และมีกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม คือต้นพืชที่รดด้วยน้ำเปล่า เมื่ออายุครบทำการเก็บเกี่ยวบันทึกน้ำหนักสด และน้ำหนักแห้ง    ส่วนพริกทำการเก็บเกี่ยวผลพริกและนับจำนวนผลพริกทุก ๆ 14 วัน เริ่มตั้งแต่ วันแรกที่ออกผล จนถึงวันสุดท้ายที่ทำการเก็บเกี่ยว บันทึกน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของลำต้นส่วนที่อยู่เหนือใบเลี้ยงขึ้นไป และน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของผลพริก โดยทำการทดลอง 3 ซ้ำ ๆ ละ 10  ต้น  รวม 420 ต้น ต่อ พืช 1 ชนิด

               ผลการทดลอง
               จากการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำสกัดชีวภาพต่อการงอกของเมล็ด พบว่าน้ำสกัดชีวภาพสูตรที่ 3 , 4 , 5 , 6  และ 7  ทำให้เมล็ดข้าว ต้นหอม  พริก  ผักกาดหอม และผักชี  มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงที่สุด เท่ากับ 73.33 , 66.67 , 53.33 , 53.33 และ 73.33%  ตามลำดับ  น้ำสกัดชีวภาพสูตรที่ 3 และ 4 ทำให้พริก และต้นหอม มีความยาวรากเฉลี่ยมากที่สุด เท่ากับ 1.54 และ 3.04 เซนติเมตร ตามลำดับ น้ำสกัดชีวภาพสูตรที่ 7  ทำให้ผักชี และข้าว มีความยาวรากเฉลี่ยมากที่สุด เท่ากับ 3.38 และ 4.21 เซนติเมตร ตามลำดับ น้ำสกัดชีวภาพสูตรที่ 8  ทำให้ผักกาดหอม มีความยาวรากเฉลี่ยมากที่สุด เท่ากับ 1.67 เซนติเมตร ส่วนผลของน้ำสกัดชีวภาพต่อการเพิ่มผลผลิตในแปลงทดลอง พบว่าน้ำ สกัดชีวภาพสูตรที่ 2, 5  และ 6 ทำให้ผลผลิตของข้าว  ผักกาดหอม และพริก สูงที่สุดเท่ากับ 1,091 เมล็ด , 120.52 กรัมต่อต้น และ 239.02  กรัม ตามลำดับ และน้ำสกัดชีวภาพสูตรที่ 6 ทำให้ผลผลิตของต้นหอม และผักชีสูงที่สุด เท่ากับ 88.33 และ.37.54 กรัม ตามลำดับ   





ภาพที่ แสดงเปอร์เซ็นต์การงอกของข้าว

ภาพที่ 2 แสดงเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดต้นหอม

ภาพที่ 3  แสดงเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดผักชี

ภาพที่ 4  แสดงเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดผักกาดหอม

ภาพที่ 5  แสดงเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพริก

                การนำไปใช้ประโยชน์
                จากผลการทดลองพบว่าน้ำสกัดชีวภาพหลายสูตรสามารถส่งเสริมการเจริญของพืช  โดยทำให้มีเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดและผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรในการลดการใช้ปุ๋ยเคมี  ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตอย่างแท้จริง เนื่องจากการเกษตรกรสามารถผลิตน้ำสกัดชีวภาพ ขึ้นใช้ได้เองและยังนำไปสู่การเกษตรไร้สาร  ซึ่งปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค




คณะผู้วิจัย
รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ นายขวัญชัย นิ่มอนันต์ และรศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 034-281105-6 ต่อ 7654