นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในการจัดการศัตรูพืช
Innovation and Invention for Plant Pest Management
  
              ปัจจุบันในการทำการเกษตรมักประสบกับปัญหาการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตสูญเสียเป็นจำนวนมากในแต่ละปี  คณะนักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อใช้ในปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
    1. การอบดินฆ่าเชื้อด้วยวิธีชีวภาพจากพืชตระกูลกะหล่ำ  พืชตระกูลกะหล่ำที่เราบริโภคนั้น  สามารถนำใช้ในการฆ่าเชื้อในดินได้โดยนำไปบดและผสมให้เข้ากับดินที่เราจะใช้ในการปลูกพืช  จากนั้นนำดินใส่ภาชนะที่ปิดสนิทพืชตระกูลกะหล่ำจะสลายตัวและปลดปล่อยก๊าซที่สามารถฆ่าเชื้อโรคในดินได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และเศษพืชตระกูลกะหล่ำจะสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุให้กับดินที่เราอบฆ่าเชื้ออีกด้วย  ทำให้ดินที่อบปราศจากเชื้อโรคและมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น
    2. เครื่องเก็บเชื้อโรคพืชในอากาศ  เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเชื้อสาเหตุโรคพืชที่แพร่ในอากาศ  โดยเฉพาะที่แพร่ไปกับลม และฝน  เพื่อนำไปตรวจสอบหาชนิดและปริมาณของเชื้อโรคที่กำลังจะมีการแพร่ระบาดได้  ทำให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจในการวางแผนควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    3. การรมควันกำจัดศัตรูพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร  การทำการเกษตรจะมีวัสดุเหลือจากขั้นตอนต่างๆและหลายชนิดมีคุณสมบัติกำจัดศัตรูพืช เช่น เศษใบยาสูบที่เหลือจากกระบวนการทำยาเส้น หรือบุหรี่นั้นมีประโยชน์ในการนำมาใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช  นอกเหนือจากที่เกษตรกรทั่วไปนิยมนำมาใช้ในการทำสารสกัดไล่แมลงศัตรูพืช  แล้วคณะวิจัยได้พัฒนาทำเป็นวัสดุรมควันฆ่าแมลงศัตรูพืชโดยเฉพาะแมลงปากดูด  เช่น  เพลี้ยไฟ  เพลี้ยแป้ง  เพลี้ยอ่อน  ฯลฯ ให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ เช่น ช่อดอกกล้วยไม้ส่งออก, ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เป็นต้น
    4. โปรแกรมวิเคราะห์ความรุนแรงของโรคพืช  เป็นโปรแกรมที่จะช่วยในการวิเคราะห์ความรุนแรงของโรคพืชต่างๆ  ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่จะนำมาใช้ควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง  แม่นยำ และยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์พืชต้านทานโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    5. กับดับแมลงด้วยแสงไฟไร้สาย กับดักแมลงนี้ใช้แสงไฟชนิดไร้สายเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพยากรณ์การระบาดของแมลงศัตรูต่างๆ ในแปลงปลูกพืช ซึ่งคณะวิจัยได้พัฒนาให้กับดักแสงไฟสามารถพกพาและนำไปใช้ได้ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า  โดยเครื่องจะมีแบตเตอรี่ในการให้พลังงานและสามารถนำกลับมาบรรจุไฟฟ้าและนำไปใช้ใหม่ได้ สะดวกต่อเกษตรกรในการนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล

     


    ภาพที่ 1 การอบดินฆ่าเชื้อโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพจากพืชตระกูลกะหล่ำ
    (Biofumigation using Brassica species for Controlling Plant Diseases)

     






คณะผู้วิจัย
1ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช 2อ.พิเชษฐ์ สืบสายพรหม 1รศ.ดร.นิพนธ์ ทวีชัย
1สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทรศัพท์ 02-579-0113 ต่อ 1296  โทรสาร 02-579-9550
2สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทรศัพท์ 034-352853 โทรสาร 034-351842