ปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์ใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ดี
Manure Mixed Benefit Bacterial Antagonist Replaces Ammonium Nitrate Fertilizer In Paddy

             จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายรูปแบบ ทั้งเชื้อสด ผงหัวเชื้อ และผงสำเร็จ หรือสูตรที่มีส่วนผสมเฉพาะ โดยใช้ในลักษณะคลุกเมล็ด ผสมดินหรือวัสดุปลูก พ่นใบ จุ่มรากหรือท่อนพันธุ์ รวมถึงการใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพในระบบการผลิตพืช โดยจุลินทรีย์หลายชนิดมีคุณสมบัติเด่นในการควบคุมโรค บางชนิดมีกลไกส่งเสริมการเจริญเติบโตพืช สามารถกระตุ้นการผลิตสารที่เกี่ยวข้องหรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบธาตุอาหารให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ของพืช รวมทั้งเสริมประสิทธิภาพการใช้ธาตุอาหารทางธรรมชาติของพืชให้เต็มศักยภาพ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ รวมทั้งรักษาสภาพนิเวศน์เกษตรในระบบการผลิตพืชได้อย่างยั่งยืน จุลินทรีย์เหล่านี้ ได้แก่ แบคทีเรีย รา แอคติโนมัยซีส ไวรัส นีมาโทด และจุลินทรีย์กลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น จุลินทรีย์กลุ่มแบคทีเรียที่สร้าง กรดแลคติค ย่อยสลายอินทรีย์สาร ทำให้พืชได้รับประโยชน์โดยตรงจากธาตุอาหารที่ถูกสลายออกมา

             ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทีมงานวิจัยที่ รศ.ดร.สุดฤดี ประเทืองวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากธรรมชาติหลายสายพันธุ์ที่ให้ชื่อว่า จุลินทรีย์สุขภาพพืช ที่มีคุณสมบัติและกลไกในการควบคุมโรคพืช ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และชักนำภูมิต้านทานโรคของพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น Pseudomonas fluorescens SP007s และ Bacillus amyloliquefacien KPS46 ที่แยกได้จากดินบริเวณรากกะหล่ำดอก และถั่วเหลือง ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สุขภาพพืช ที่มีชื่อว่า ไอเอสอาร์-พี และไอเอสอาร์-บี ตามลำดับ และได้มีการนำไปทดสอบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำไปใช้จริงในระดับไร่นากับพืชเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ข้าวโพด ข้าว งา พืชผักตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น

             ประเด็นสำคัญของการแสดงนิทรรศการครั้งนี้คือ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปสูตรปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ (ปุ๋ยคอกเคยู-ทูวี)ที่ง่ายต่อการใช้และมีประสิทธิภาพสูง ในการส่งเสริมการเจริญเติบโต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียในนาข้าวได้ 50% โดยปุ๋ยอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่พัฒนานี้เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการ 2V-Research Program และได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่จากเทศบาล ต. ทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งดำเนินงาน ระหว่าง 2552-2553 ด้านแนวทางการใช้ปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์ในนาข้าว เป็นวัตถุประสงค์หลัก เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี และส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดสารเคมีควบคุมศัตรูพืช โดยการนำจุลินทรีย์ไอเอสอาร์-พีผสมปุ๋ยคอก สามารถควบคุมโรคทางราก กระตุ้นภูมิต้านทานข้าวต่อต้านโรคและแมลงทั้งระบบ และเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารในปุ๋ยคอกให้อยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ จุลินทรีย์ที่ผสมในปุ๋ยคอกจะช่วยย่อยเศษฟางข้าวและตอซัง ให้เป็นอินทรียวัตถุปรับปรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อีกหนึ่งกลไก

             วิธีการใช้ปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์
             สามารถนำปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์ไปปรับใช้ในระบบการผลิตพืชในทุกระยะพืชและใช้เช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี โดยใช้ตามอัตราแนะนำ ซึ่งการนำจุลินทรีย์ปรับใช้ในระบบการผลิตพืชเพื่อการควบคุมโรคพืชสามารถทำได้ทุกขั้นตอนการผลิต (ภาพที่ 2) ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรค ประกอบด้วย
             1. ชนิด และระดับความรุนแรงของโรค และแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค
             2. ชนิด คุณสมบัติ และกลไกการควบคุมโรคของจุลินทรีย์
             3. ชนิดพืช อายุพืช และส่วนของพืชเป็นโรค
             4. สภาพพื้นที่ปลูก ประวัติการปลูกพืช และการระบาดของโรค
             นอกจากนี้การที่จะนำจุลินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพมาปรับใช้ในระบบการผลิตพืชจะต้องพิจารณาถึงระบบการปลูกตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกและการเตรียมพื้นที่ ระบบการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การเขตกรรม และวิธีการร่วมอื่น ๆ ซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกับระบบการผลิตพืชโดยรวม (การให้น้ำ การให้ปุ๋ย การปฏิบัติดูแลรักษา) ในลักษณะเดียวกับการจัดการโรคและศัตรูพืชแบบผสมผสาน

             ประโยชน์และข้อจำกัดของการใช้ปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์
             ในภาพรวมนั้นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ผสมแบคทีเรียไอเอสอาร์มีประโยชน์ในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ ตลอดจนช่วยส่งเสริมสุขภาพพืชให้เจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ เช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือสารสังเคราะห์เร่งการเจริญเติบโตพืช ซึ่งสามารถแยกพิจารณารายละเอียด ได้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

             ประโยชน์ด้านสุขภาพอนามัย
             1.  ลดความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรจากการใช้สารเคมีผิด และเกินความจำเป็น
             2.  ลดความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคจากการตกค้างของสารเคมีในผลิตภัณฑ์เกษตร
             3.  ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องในการเลือกบริโภคอาหารปลอดภัย มีคุณค่า และส่งเสริมความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายโดยไม่มีการสะสมสารพิษ
                  เพิ่มเติม

             ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม
             4. ลดการปนเปื้อนและการตกค้างของสารพิษที่สลายตัวช้า
             5. ลดปัญหาการเสื่อมสภาพของระบบนิเวศน์เกษตร ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตต่าง และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
             6. สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ง่ายขึ้น

             ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม
             7. ขจัดปัญหาความยากจนของเกษตรกรสามารถขายผลิตผล (food safety) ได้ราคา ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
             8. ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ให้แข่งขันกับต่างชาติได้ โดยลดปัญหาการกีดกันทางด้านการค้า และการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
             9. ลดปริมาณการใช้สารเคมี และต้นทุนการผลิต และลดการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากต่างประเทศ ช่วยแก้ไขการเสียดุลทางการค้า
             10. เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ต่อระบบการผลิตพืชปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่อผู้บริโภค
             11. รองรับการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มขึ้นของพลวัตรประชากรให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

             เอกสารอ่านเพิ่มเติม
             1. สุดฤดี ประเทืองวงศ์. 2553. หนังสือคู่มือการเกษตร แบคทีเรียควบคุมโรคและส่งเสริมสุขภาพพืช. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 61 หน้า.
             2. สุดฤดี ประเทืองวงศ์. 2553. หนังสือคู่มือการเกษตร จุลินทรีย์และสารสกัดพืชเพื่อควบคุมโรคและแมลง. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
                 46 หน้า.
             3. สุดฤดี ประเทืองวงศ์. 2553. หนังสือคู่มือการเกษตร การใช้ปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์ในนาข้าวและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
                  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 56 หน้า.
             4. สุดฤดี ประเทืองวงศ์. 2553. หนังสือคู่มือการเกษตร การใช้ปุ๋ยคอกผสมจุลินทรีย์เพื่อการผลิตข้าวอย่างปลอดภัย. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
                 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 60 หน้า.

ภาพที่ 1 ส่วนผสมและขั้นตอนการผสมปุ๋ยคอกเคยู-ทูวีผสมแบคทีเรียไอเอสอาร์ (ก) การอัดเม็ดปุ๋ย (ข) ผึ่งปุ๋ยคอกผสมแบคทีเรียไอเอสอาร์ในที่ร่มแห้งอากาศถ่ายเทสะดวก (ค) และบรรจุในกระสอบ (ง)

 

ภาพที่ 2 การใช้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ผสมแบคทีเรียไอเอสอาร์หว่านลงแปลงนาก่อนปลูก และหว่านให้กับต้นพืชหลังพืชเจริญเติบโต 3 ครั้ง เมื่อพืชอายุ 21, 35 และ 70 วัน (ก-ง)
 
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-942-8349 โทรสาร 02-579-9550
 

คณะผู้วิจัย
รศ. ดร. สุดฤดี ประเทืองวงศ์ และคณะ
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  02-942-8349