สมุนไพรไทยและสรุปงานวิจัยเด่นของภาควิชาเคมี
Thai Medicinal Plants and Research Highlights in Chemistry Department

สมุนไพรไทย

           สุขภาพและความสวยงามเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์  ในปัจจุบันนี้ผู้บริโภคมีความเป็นห่วงสุขภาพมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงจากสารพิษทั้งหลาย โดยหันมานิยมรับประทานสมุนไพรเสริมสุขภาพมากขึ้น เพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ แม้กระทั่งในเรื่องความงามก็นิยมนำสมุนไพรมาใช้โดยตรง หรือเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

            หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และ   รศ.ดร.บุญส่ง คงคาทิพย์ และคณะฯ ได้ทำวิจัยสมุนไพรไทยหลายชนิดที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมในการรักษาโรค อาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย โดยสมุนไพรที่ได้ทำการวิจัยสามารถจำแนกตามการใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้

  1. พืชสมุนไพรเสริมที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ
    1. พืชสมุนไพรที่ใช้ยับยั้งมะเร็ง เช่น ทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus), ขมิ้นชัน (Curcuma longa), บอระเพ็ด (Tinospora crispa)
    2. พืชสมุนไพรที่ใช้ลดเบาหวาน เช่น บอระเพ็ด (Tinospara crispa) ต้นเบาหวาน (Aerva lanata)
    3. พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคหัวใจ เช่น บอระเพ็ด (Tinospora crispa)
    4. พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคเอดส์ เช่น ต้นสันโศก (Clausena excavata), บอระเพ็ด (Tinospara crispa), ขมิ้นชัน (Curcuma longa), ย่านพาโหม  (Paederia  tomentosa)
    5. พืชสมุนไพรที่ใช้เป็น Aromatherapy ในการนวดและสปา (massage and spa) เช่น พืชกลุ่มที่ให้น้ำมันหอมระเหย เช่น ขมิ้นชัน พลู (Piper betle Linn) แพทชูลี (Pogostemon cablin) เสม็ดขาว (Melaleuca leucadendron L.) เป็นต้น
  2. พืชสมุนไพรที่ใช้ทางเครื่องสำอาง เช่น ขมิ้นชัน น้ำหอมกฤษณา พลู  แพทชูลี เทียนกิ่ง เป็นต้น
  3. พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารเสริมทางสุขภาพ
    1. อาหารเสริมสำหรับมนุษย์ เช่น ขมิ้นชัน บอระเพ็ด
    2. อาหารเสริมสำหรับสัตว์ เช่น ขมิ้นชัน บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร พืชที่ให้น้ำมันหอมระเหย
  4. พืชสมุนไพรที่ใช้ในการควบคุมแมลง เช่น สะเดาไทย (Azadirachta indica var siamensis) เสม็ดขาว บอระเพ็ด ขมิ้นชัน

บอระเพ็ด (Tinospora crispa)


                 บอระเพ็ด เป็นไม้เถาที่ใช้ส่วนของลำต้นมาทำการวิจัยและพบว่า สามารถออกฤทธิ์ได้หลายอย่าง

  1. เพิ่มแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ จึงเหมาะสำหรับเป็นสมุนไพรเสริมบำรุงหัวใจ
  2. ลดเบาหวาน (ลดน้ำตาลในเลือด)  3.ยับยั้งเซลล์มะเร็ง  4.ยับยั้งเชื้อเอดส์
    คณะวิจัยได้ทำการศึกษาถึงวิธีการปลูกบอระเพ็ดแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผลิตสารออกฤทธิ์ในปริมาณสูง (วิเคราะห์สารออกฤทธิ์โดย HPLC) โดยคณะวิจัยได้ปลูกในดินที่ไม่เคยใช้ยาฆ่าแมลงมาก่อน ส่วนของบอระเพ็ดที่ใช้รับประทานคือลำต้น ดังนั้นถ้าปลูกในดินที่เคยใช้ยาฆ่าแมลงก็จะทำให้ลำต้นดูดซึมยาฆ่าแมลงได้ ทำให้เป็นพิษต่อผู้บริโภค คณะวิจัยได้ทำผลิตภัณฑ์บอระเพ็ดแคปซูล ที่ควบคุมคุณภาพสารออกฤทธิ์ ปลอดจากสารพิษ และมีจำหน่ายในงานเกษตรแฟร์

ขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn)

                  ขมิ้นชัน เป็นพืชประเภทเหง้า ส่วนที่นำมาทำการวิจัยคือเหง้า ซึ่งคณะวิจัยได้ทำการวิจัยขมิ้นชันแบบครบวงจรโดยได้ทำการสกัดส่วนของน้ำมันหอมระเหยและสารออกฤทธิ์กลุ่มเคอร์คูมินอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี จึงทำให้สารสกัดนี้ เป็นส่วนผสมที่ดีในเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ครีมล้างหน้า โฟมล้างหน้า โดยคณะวิจัยได้ทำผลิตภัณฑ์สบู่กลีเซอร์รีนขมิ้นชัน ที่ใช้ล้างหน้าและฟอกตัวได้ดี มีคุณสมบัติทำให้ผิวผ่อง ป้องกันหรือลดกระ ฝ้า ลดรอยเหี่ยวย่น ทำให้อ่อนวัย มีความชุ่มชื้น สารออกฤทธิ์เคอร์คูมินอยด์ สามารถเปลี่ยนเป็น เตตระไฮโดรเคอร์คูมินอยด์ (THC) ซึ่งเป็นสารที่มีสีขาว และสามารถนำมาใช้ผสมในครีม เรียกว่า ครีมหน้าเด้ง เนื่องจากสามารถช่วยลดริ้วรอย ทำให้อ่อนวัย ลดกระ ฝ้า ทำให้ผิวผ่องได้ดี ให้ความชุ่มชื้น ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ และกันแดดได้ (ครีมหน้าเด้งและสบู่กลีเซอรีนขมิ้นชันมีจำหน่ายราคาถูกในงานฯ)

                  สารสกัดขมิ้นชันยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารไก่ เพื่อทดแทนสารปฏิชีวนะ  เพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดต้นทุน คณะวิจัย ได้ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์อาหารไก่ผสมสมุนไพรขมิ้นชัน ที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสในไก่ รวมทั้งเชื้อไข้หวัดนก โดยได้รับรางวัล “ผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2553” และได้พบสารยับยั้งเชื้อไข้หวัดนกหนึ่งชนิดในสารสกัดขมิ้นชัน คณะวิจัยได้ผลิตสารสกัดขมิ้นชันในรูปแบบที่พร้อมใช้ที่นำไปผสมในอาหารไก่ได้ โดยต้องใช้อัตราส่วนที่พอเหมาะ สำหรับกากขมิ้นชันสามารถใช้ผสมในอาหารไก่และสุกรเพื่อลดต้นทุนอาหารได้

                  นอกจากนั้น ขมิ้นชันยังออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งและเอดส์ ช่วยป้องกันไข้หวัด บำรุงสายตา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และโรคกระเพาะอาหาร ดังนั้นคณะวิจัยได้ทำผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันแคปซูล ที่ได้ควบคุมคุณภาพสารออกฤทธิ์ และมีจำหน่ายในงานฯ

พลู (Piper betle Linn)

                  พลู เป็นไม้เถาที่มีสารออกฤทธิ์ยูจีนอล และไฮดรอกซีชาวีคอล ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ดีมาก รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษาสารออกฤทธิ์จากพลูแหล่งต่างๆ พบว่าแต่ละแหล่งมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน จึงได้นำสารสกัดพลูที่มีสารออกฤทธิ์สูง มาผสมในสบู่ที่มาสารถช่วยป้องกันและยับยั้งสิว และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ (มีสบู่กลีเซอรีนพลู จำหน่ายราคาถูกในงานฯ)

สันโศก  (Clausena evcavata)


                  สันโศก เป็นไม้พุ่ม พบได้ทั่วไป มีลำต้นสูงคล้ายกับไม้ยืนต้น พบว่าในรากและเหง้าสันโศก มีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1(เอดส์) ถึง 5 ชนิด คณะวิจัยได้พบวิธีควบคุมคุณภาพของสันโศกโดยการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ยับยั้งเอดส์เพื่อนำไปใช้เป็นสมุนไพรเสริมยับยั้งเชื้อเอดส์ การสกัดด้วย 35% เอทานอล-น้ำ โดยให้ความร้อน หรือ ที่อุณภูมิห้อง จะออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอดส์ได้ดี ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้แช่ด้วยเหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 7 วัน และก่อนนำไปรับประทานควรนำไปอุ่นเพื่อให้เอทานอลระเหยออกไป สมุนไพรนี้จึงเป็นความหวังที่จะใช้เป็นสมุนไพรเสริมหรือเป็นยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งนอกจากรักษาโรคเอดส์แล้ว สันโศกยังเพิ่มภูมิคุ้มกันและยับยั้งเชื้อราและเชื้อวัณโรคได้ด้วย

แพทชูลี (Pogostemon  cablin )

                  แพทชูลี เป็นพืชที่ให้น้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพง ปกติน้ำมันหอมระเหยจากแพทชูลีจะนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้ประโยชน์เป็นสุวคนธบำบัดและนำมาใช้ในสปา แพทชูลีสามารถปลูกได้ง่าย คณะวิจัยได้ทำการศึกษาวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัด เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยสูงสุด พบว่าน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากใบแพทชูลีสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมทั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการพัฒนาน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดมาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ และธูปหอม ส่วนกากแพทชูลีนำมาทำเป็นธูปไล่ยุง

เทียนกิ่ง (Lawsonia inermis Linn)

                  เทียนกิ่ง เป็นไม้พุ่ม พบสารออกฤทธิ์ลอว์โซนที่ทำให้ติดสีผม และสารประเภทฟลาโวนอยด์ที่กระตุ้นเซลล์ผม  ทำให้ผมไม่ร่วง  ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของแชมพูสระผม  ยาย้อมผม  เป็นต้น

ต้นเบาหวาน (Aerva lanata Juss ex Shult)

                    ต้นเบาหวานเป็นไม้พุ่ม มีดอกสีขาว พบสารออกฤทธิ์ที่ลดน้ำตาลในเลือดได้  ส่วนที่ออกฤทธิ์คือ ต้นและใบ โดยนำไปสกัดด้วยน้ำ

ย่านพาโหม  (Paederia  tomentosa)

                       ย่านพาโหม พบว่ามีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสโรคเริม เชื้อโรคเอดส์ และเชื้อไข้หวัดนก ฟ้าทะลายโจร  (Androqraphis paniculata)

                     คณะวิจัยได้ทำการแยกสารออกฤทธิ์แอนโดรกราโฟไลด์ และนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ จากฟ้าทะลายโจร และทำการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์จากฟ้าทะลายโจรแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาโดยนำสารสกัดฟ้าทะลายโจรไปผสมในอาหารไก่ เพื่อศึกษาว่าสามารถใช้ทดแทนสารปฏิชีวนะและเพิ่มภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ พบอัตราส่วนสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่เหมาะสมผสมกับสมุนไพรอื่น เช่น ขมิ้นชัน ทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันในไก่ได้ แต่พบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์ไม่สามารถยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค CRD (Chronic Respiratory Disease) ได้

ไม้กฤษณา

                     คณะวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พบวิธีใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดสารหอมในไม้กฤษณาโดยเชื้อราและสารอินทรีย์ที่ปลอดภัยทุกแหล่งปลูกที่มีภูมิอากาศต่างกัน โดยพบว่าไม้กฤษณาที่มีอายุ 5 ปี ขึ้นไป สามารถกระตุ้นให้เกิดสารหอมได้ โดยพบว่าสารหอมจะเกิดขึ้นหลังจากการกระตุ้นเพียง 1-2 สัปดาห์  และสามารถนำไปกลั่นได้ในช่วง 6-10 เดือน น้ำหอมที่กลั่นได้อยู่ในระดับเกรด A ถึง A+ โดยถ้าเจาะ 1 ต้น 60 รู ได้น้ำหอมประมาณ 4-5 โตร่า (1โตร่า ราคาประมาณ 8,000 บาท) ดังนั้น 1 ต้น จะได้ประมาณ 40,000 บาท ตัวอย่างชนิดของไม้กฤษณาที่ทดลอง Aquilaria crassna และ Aquilaria rugosa  

สรุปงานวิจัยเด่นของภาควิชาเคมี

                      งานวิจัยในภาควิชาเคมี สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 5 สาขา ซึ่งแต่ละสาขาก็มีการวิจัยเพื่อผลิตองค์ความรู้และนวตกรรมใหม่ๆมากมาย ซึ่งจะกล่าวโดยสังเขปดังนี้

                      นอกจากงานวิจัยในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ได้กล่าวถึงข้างต้น (ในส่วนของสมุนไพรไทย) แล้วนั้น สาขาเคมีอินทรีย์ ยังมีงานวิจัยที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการใช้ศาสตร์ข้ามสาขา ซึ่งเป็นเป้าหมายการวิจัยหลักในปัจจุบัน โดยงานวิจัยของเรา ประกอบไปด้วย

    1. การศึกษาพัฒนากระบวนการและปฏิกิริยาการสังเคราะห์ใหม่ๆ
    2. การพัฒนาการสังเคราะห์ยา ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น Oseltamivia หรือ Tamiflu)
    3. การศึกษาเคมีอินทรีย์ของสารที่ป้องกันรังสียูวีได้ รวมถึงปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระ
    4. การศึกษาการทำงาน และการยับยั้งเอนไซม์ที่มาจากสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์
    5. การศึกษาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เป็นต้น

    งานวิจัยในสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์

                       สาขาเคมีเชิงฟิสิกส์เป็นหนึ่งในห้าสาขาวิชาของภาควิชาเคมี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการนำความรู้ทางฟิสิกส์มาอธิบายอธิบายกลไกของปฏิกิริยา และปรากฏการณ์ทางเคมี รวมถึงการศึกษาในระดับโมเลกุลของสสาร ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของสสารจึงนำไปต่อยอดในการศึกษาวิจัยประยุกต์ได้ เคมีเชิงฟิสิกส์ยังเป็นพื้นฐานของศาสตร์ในสาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมเคมี วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ เคมีอินทรีย์ และเคมีเภสัช  โดยงานวิจัยในสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์แบ่งออกเป็น  5 สาขาวิจัยหลัก ดังต่อไปนี้การพัฒนาทฤษฎีและระเบียบวิธีการคำนวณทางเคมีคอมพิวเตอร์และการนำไปประยุกต์ใช้

    1. ตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธภัณฑ์และตัวค้ำจุน
    2. โครงสร้างระดับนาโนเมตรของคาร์บอนอัญยรูปต่างๆ
    3. การออกแบบโครงสร้างระดับโมเลกุลของสารประกอบที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
    4. การออกแบบและการสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาเอกพันธ์ เป็นต้น

    งานวิจัยในสาขาเคมีวิเคราะห์

                   เคมีวิเคราะห์ เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หาชนิดขององค์ประกอบในตัวอย่างและหาปริมาณของแต่ละองค์ประกอบในตัวอย่าง  ลักษณะการวิจัยในสาขา เช่นการพัฒนาวิธีวิเคราะห์และการออกแบบ การสร้างเครื่องมือและกระบวนการวัด ซึ่งขอบเขตงานวิจัยของอาจารย์ในสาขาจะเกี่ยวข้องกับ

    1. ความปลอดภัยด้านอาหาร  โดยจะพัฒนาวิธีวิเคราะห์ที่จะใช้สำหรับสกรีนสารตกค้างในอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่นสารเติมแต่ง สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
    2. การวิเคราะห์และการตรวจติดตามสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยจะพัฒนาวิธีการสำหรับการแยกสารที่สนใจ การหาปริมาณและตรวจติดตามสารเหล่านั้นในตัวอย่างสิ่งแวดล้อม เช่นการวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชในน้ำ
    3. เทคโนโลยีสะอาด  จะพัฒนาวิธีและเครื่องมือที่ใช้สำหรับ เทคโนโลยีสะอาด  เช่น เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์

    นอกจากนี้ ในสาขามีหน่วยเชี่ยวชาญเฉพาะในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารปริมาณน้อยซึ่งมี รศ.ดร. ภควดี สุทธิไวยกิจ เป็นผู้รับผิดชอบ

    งานวิจัยในสาขาเคมีอนินทรีย์

                    สาขาเคมีอนินทรีย์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาการสังเคราะห์ และวิเคราะห์คุณสมบัติของสารอนินทรีย์ และสารประกอบออร์แกโนเมทาลิก อีกทั้งอาศัยความเชื่อมโยงเข้ากับหลากหลายศาสตร์ เช่น สาขาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ เคมีอินทรีย์และตัวเร่งปฏิกิริยา รวมทั้งชีวเคมีและการประยุกต์ด้านการแพทย์ ด้านงานวิจัยมีขอบเขตครอบคลุม ทั้งความรู้พื้นฐาน และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เช่น

    1. เคมีโคออร์ดิเนชัน (Coordination Chemistry): ศึกษาพันธะ สมบัติ และการสังเคราะห์สารเชิงซ้อนระหว่าง โลหะ Ru, Au, Pt หรือ Pd และ thiazolyazo หรือ สารชีวโมเลกุล เช่น ดีเอ็นเอ
    2. ตัวตรวจวัด (Sensor): ตัวตรวจวัดทางเคมี เช่น การตรวจวัดปริมาณเอทานอลโดยสารประกอบเพอรอฟสไกต์ หรือ การตรวจวัดไอออนโลหะ โดยตัวตรวจวัดเชิงแสง
    3. ตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง (Photocatalysis): ศึกษาการปฏิกิริยาการย่อยสลายเชิงแสงของมลภาวะ สารพิษ หรือ สารประกอบอินทรีย์ เช่น PAHs บนตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงเช่น doped-TiO2, doped-ZnO
    4. การประยุกต์ใช้แร่ธาตุในอุตสาหกรรม(The use of industrial minerals): การใช้ประโยชน์ของช่องว่างระหว่างชั้นของเบนทอไนต์ เช่นการเตรียมสารประกอบ อินเทอร์คาเลชันที่มีทั้งสารอินทรีย์ และ อนินทรีย์
    5. พลังงานทดแทน(Renewable energy): ศึกษาการเตรียม และการวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์แสงอาทิตย์ ประเภท dye-sensitized solar cell หรือ การสังเคราะห์ฟิชเชอร์โทรปช์ ซึ่งเป็นการสังเคราะห์เชื้อเพลิงสะอาด จากปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชันของคาร์บอนมอนอกไซด์ บนตัวเร่งปฏิกิริยาโคบอลต์
    6. ัสดุนาโน (Nanomaterials): ศึกษาการสังเคราะห์นาโนซิลิกอนโดยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้า และเทคนิคโซลเจล หรือ การสังเคราะห์ และวิเคราะห์คุณลักษณะของอนุภาคนาโน doped-Zinc sulfide เพื่อประยุกต์ใช้เป็นวัสดุ photoluminescence

    งานวิจัยในสาขาเคมีอุตสาหกรรม

                      เคมีอุตสาหกรรมเป็นสาขาวิชาที่มีสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ  เป็นการประยุกต์ความรู้พื้นฐานทางเคมีมาพัฒนากระบวนการผลิต  ปฏิกิริยาทางเคมี  รวมทั้งปรับปรุงสมบัติทั้งเชิงกลและเชิงกายภาพของผลิตภัณฑ์  โดยหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต  สาขาเคมีอุตสาหกรรมเป็นหลักสูตรที่มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ   โดยหลักสูตรปัจจุบันจะมีรายวิชาหลักอยู่ 2 รายวิชาคือ  รายวิชาทางเคมี  รายวิชาทางวิศวกรรมเคมี  และสนับสนุนให้นิสิตได้ออกปฏิบัติงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา

    งานวิจัยของอาจารย์ในสาขาเคมีอุตสาหกรรมมีความหลากหลาย  เช่น

    1. การผลิตพลังงานชีวภาพ (ไบโอดีเซล  เอทานอล)
    2. การเตรียมเซลล์เชื้อเพลิง  และเชื้อเพลิงสังเคราะห์  เพื่อใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน
    3. การสังเคราะห์สีย้อม  และการตกแต่งผ้า
    4. การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ
    5. การปรับปรุงคุณภาพอัญมณีธรรมชาติโดยใช้เตาไฟฟ้า
    6. การพัฒนาคุณสมบัติวัสดุชีวภาพที่เตรียมวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ

    ภาประกอบงานวิจัยเรื่องสมุนไพรไทยและสรุปงานวิจัยเด่นของภาควิชาเคมี

    ชุดที่ 1. ภาพสมุนไพรไทย เพื่อประกอบเอกสาร งานวิจัยเรื่อง สมุนไพรไทยและสรุปงานวิจัยเด่นของภาควิชาเคมี

     

     

     

     

    บอระเพ็ด
    (Tinospora crispa)

    ขมิ้นชัน
    (Curcuma longa Linn)

    พลู
    (Piper betle Linn)

    สันโศก
    (clausena evcavata)

    แพทชูลี
    (Pogostemon  cablin )

    ต้นเบาหวาน
    (Aerva lanata Juss ex Shult)

    เทียนกิ่ง
    (Lawsonia inermis Linn)

    ย่านพาโหม
    (Paederia  tomentosa)

     

    ชุดที่ 2. ภาพสรุปงานวิจัยเด่น เพื่อประกอบเอกสาร งานวิจัยเรื่อง สมุนไพรไทยและสรุปงานวิจัยเด่นของภาควิชาเคมี

     

    ภาพของสาขาเคมีอินทรีย์

    ภาพของสาขาเคมีวิเคราะห์

    ภาพของสาขาเคมีอนินทรีย์

    ภาพของสาขาเคมีอุตสาหกรรม

     

     

คณะผู้วิจัย
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                                                                                                   
โทร. 02-562-5555 ต่อ 2116