การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทั่วไป ความอยู่รอด ปัจจัยที่มีผลต่อความ อยู่รอด และแนวโน้มความอยู่รอดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการผลิต สาขาสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มในจังหวัดระยอง โดยใช้บริษัทตัวอย่างจำนวน 16 บริษัท วิธีการวิเคราะห์ใช้สถิติเชิงพรรณนาอัตราส่วนร้อยละเพื่อศึกษาลักษณะทั่วไปของธุรกิจ SMEs และใช้สถิติเชิงปริมาณโดยวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในการศึกษาความอยู่รอด วิเคราะห์สมการถดถอยเชิงซ้อนในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอด และวิเคราะห์สมการถดถอยอย่างง่ายเพื่อศึกษาแนวโน้มความอยู่รอด โดยใช้ข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากการสัมภาษณ์ และข้อมูลทุติยภูมิที่ได้จากงบการเงินระหว่างปี พ.ศ. 2540-2550
ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาค การผลิต สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในจังหวัดระยองแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำโดยมีธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 50.00 ทั้งหมดประกอบธุรกิจตัดเย็บชุดยูนิฟอร์ม และเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก วิสาหกิจขนาดย่อมมีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 75.00 อายุของวิสาหกิจอยู่ระหว่าง 1-3 ปี สูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 43.75 วิสาหกิจตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสูงที่สุด รองลงมาได้แก่อำเภอปลวกแดง ตลาดหลัก และแหล่งวัตถุดิบหลักอยู่ภายในประเทศไทย การหาแรงงานมาทดแทนแรงงานระดับปฏิบัติการมีระดับง่ายถึงปานกลาง ส่วนแรงงานระดับฝีมืออยู่ในระดับปานกลางถึงยาก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการผลิต สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในจังหวัดระยองสามารถอยู่รอดได้โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำเนื่องจากมีอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรและอัตราส่วนการบริหารหนี้สินดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดมี 3 ตัว ได้แก่ รายได้ เครือข่ายของวิสาหกิจ และ สินค้าคงเหลือ โดยปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุด คือ รายได้ รองลงมาคือเครือข่ายของวิสาหกิจ และสินค้าคงเหลือตามลำดับ แต่ขนาดของการส่งผลเรียงตามลำดับได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจ รายได้ และสินค้าคงเหลือตามลำดับ แนวโน้มความอยู่รอดของ SMEs ในจังหวัดระยองนั้นดีมาก โดยมีแนวโน้มของกำไรสุทธิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจที่มีเครือข่ายวิสาหกิจสามารถทำกำไรมากกว่าธุรกิจที่ไม่มีเครือข่ายถึงร้อยละ 4,067.90
|